แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 742

พวกมนุษย์ทั้งหลายย่อมรู้ได้ด้วยสัญญาณนั้นได้ว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเสด็จมาบิณฑบาตในที่นี้ พวกมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นนุ่งเรียบร้อย ห่มเรียบร้อย ถือเอาวัตถุทั้งหลายมีของหอมและดอกไม้เป็นต้นออกจากเรือน ปัดกวาดถนนหนทาง บูชาพระผู้มีพระภาคด้วยวัตถุทั้งหลาย มีดอกไม้และของหอม เป็นต้น โดยเคารพ ทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงประทานภิกษุ ๑๐ รูปแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระองค์จงประทานภิกษุ ๒๐ รูปแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระองค์จงประทานภิกษุ ๑๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เมื่อรับบาตรแม้ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ให้ปูอาสนะ แล้วน้อมบิณฑบาตเข้าไปด้วยความเคารพ

พระพุทธเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว ทรงตรวจดูสันดานของสัตว์เหล่านั้น แล้วจึง ทรงแสดงธรรมโดยประการที่มนุษย์บางพวกตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ บางพวกตั้งอยู่ในศีล บางพวกบรรลุอริยผล มีโสดาบันผล สกทาคามีผล และอนาคามิผล อย่างใดอย่างหนึ่ง บางพวกก็บวช แล้วสำเร็จพระอรหันต์อันเป็นผลเลิศ

พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ชนโดยประการนั้นๆ แล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ แล้วเสด็จไปยังพระวิหาร ประทับนั่งบนพุทธอาสน์อันบวรซึ่งปูไว้แล้ว ซึ่งมีดอกไม้เป็นมณฑลในที่นั้นๆ ทรงคอยให้ภิกษุทั้งหลายฉันภัตกิจเสร็จอยู่ ต่อจากนั้นอุปัฏฐากก็กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงการเสร็จภัตกิจของภิกษุทั้งหลาย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงกระทำปุเรภัตกิจเสร็จแล้วอย่างนี้ ทรงประทับนั่งแล้ว ณ ที่อุปัฏฐาน ณ ที่ใกล้แห่งพระคันธกุฎี ทรงล้างพระบาท ทรงประทับยืนบนตั่งสำหรับยืน ย่อมให้โอวาทพระภิกษุว่า

ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงยังตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของยากในโลก การกลับได้เป็นมนุษย์ก็เป็นของยาก ความถึงพร้อมด้วยศรัทธาก็เป็นของยาก การได้บรรพชาก็เป็นของยาก การฟัง พระธรรมก็เป็นของยาก ดังนี้

สั้นมาก คือ เพียงแต่ ท่านทั้งหลายพึงยังตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นพระพุทโธวาท แต่ว่าพระภิกษุทั้งหลายท่านได้รับฟังพระธรรมมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ท่านย่อมเข้าใจในความหมายของ พึงยังตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ว่าคือการเจริญกุศลทุกประการ ทั้งทาน ศีล ภาวนา โดยเฉพาะการไม่หลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไป

ต่อจากนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถาม พระกัมมัฏฐาน ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคจึงประทานพระกัมมัฏฐานด้วยสามารถแห่งจริยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นเรียนพระกัมมัฏฐานแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วไปยังที่อยู่ของตนๆ ภิกษุบางพวกเข้าไปสู่ป่า บางพวกไปยังโคนไม้ บางพวกไปยังสถานที่ทั้งหลาย มีภูเขา เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง บางพวกไปยังภพของเทวดาทั้งหลาย มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น บางพวกไปยังสวัตตีภพ

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ถ้าหากว่าพระองค์จะทรงหวังอยู่ ก็ทรงมีพระสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยเบื้องขวาสักครู่หนึ่ง ต่อจากนั้น พระองค์ซึ่งมีพระกายอันสงบระงับแล้วเสด็จลุกขึ้น แล้วทรงตรวจดูสัตว์โลกในภาคที่สอง

ข้อความที่ว่า ต่อจากนั้นภิกษุทั้งหลายจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามพระกัมมัฏฐาน ฟังดูเผินๆ อาจจะเข้าใจว่า ไปขอกัมมัฏฐานเฉพาะหมวดใดหมวดหนึ่งตามที่อาจจะเคยคิดเคยเข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจความหมายของกัมมัฏฐานว่าหมายความถึงสติปัฏฐาน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นกัมมัฏฐานของสติ ซึ่งสติจะระลึก จะศึกษา จะพิจารณารู้ในความจริงของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะไม่สงสัยในข้อความที่ว่า พระภิกษุทูลถาม พระกัมมัฏฐาน ซึ่งก็คือ ถามเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นอารมณ์ของสติ เป็นที่ตั้งของสติ

พระผู้มีพระภาคจึงประทานพระกัมมัฏฐานด้วยสามารถแห่งจริยาแก่ภิกษุทั้งหลาย คือ พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยของผู้ฟังว่า มีจริตอัธยาศัยที่สะสมมาต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้น พระธรรมข้อใด ประการใดเหมาะควรแก่อัธยาศัย แก่จริตของบุคคลที่ไปฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ ก็ทรงแสดงให้เหมาะกับบุคคลนั้น เพื่อให้เข้าใจ และให้มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

แต่ละท่านก็ได้ฟังเรื่องของนามธรรมรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ และเวลาที่สติเกิดก็จะระลึกรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันไปในวันหนึ่งๆ

ชีวิตเมื่อวานนี้ นามธรรมและรูปธรรมเมื่อวานนี้ กับชีวิตในวันนี้ นามธรรมและรูปธรรมในวันนี้ มีลักษณะต่างกันตามเหตุตามปัจจัย เมื่อวานนี้อาจจะมีความทุกข์ แต่วันนี้เรื่องทั้งหลายก็คลี่คลายหายไป หมดความทุกข์นั้นไป อาจจะกำลังมีความสุขในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ แต่ก็คงจะไม่นาน พรุ่งนี้หรือว่าเดือนหน้าต่อไป ก็คงจะต้องมีเหตุการณ์อื่นซึ่งล้วนแต่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ไม่ไกล และไม่ใช่ขณะอื่น นอกจากขณะที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้แต่ละขณะ แล้วแต่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้น นี่คือ กัมมัฏฐาน หรือสติปัฏฐาน

ถ. ที่พระภิกษุทั้งหลายไปขอกัมมัฏฐานจากพระผู้มีพระภาค ผมคิดว่า คงเป็นกัมมัฏฐาน ๔๐ ในสมถภาวนา ไม่ใช่สติปัฏฐาน

ถ้าเป็นสติปัฏฐาน จริตของคนทั่วไปมีแค่ทิฏฐิจริตกับตัณหาจริต จริต ๒ เท่านั้นสำหรับสติปัฏฐาน พระองค์ก็ทรงแสดงแล้ว และภิกษุทั้งหลายก็เข้าใจแล้วว่า สติเกิดขึ้นที่ไหนก็พิจารณาที่นั่น ฉะนั้น ไม่ต้องถาม

แต่ที่ภิกษุเข้าไปถามนั้น คงจะเป็นกัมมัฏฐาน ๔๐ เพราะว่าการเจริญสมถภาวนาจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเลือกกัมมัฏฐาน เช่น โลภะจริต ก็ต้องพิจารณาอสุภะ เพื่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่จริตของใครต่อใคร ตัวเองไม่ค่อยรู้จักตัวเองดีนัก จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องพึ่งอาจารย์ ซึ่งสมัยนั้นมีพระผู้มีพระภาคอยู่ก็ยิ่งสบายมาก จึงขอกัมมัฏฐานจากพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า คงจะเป็นกัมมัฏฐานในอารมณ์ของกัมมัฏฐาน ๔๐ ไม่ใช่ให้พิจารณานามรูป

สุ. ฟังดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะใช้คำว่ากัมมัฏฐาน และก็ไปทูลขอกัมมัฏฐาน แต่ถ้าพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านผู้ฟังซึ่งเข้าใจเรื่องการเจริญ สติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึก ศึกษา สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ที่ปัญญาแต่ละขั้นจะเกิด ยังไม่ต้องไปถึงขั้น ละคลาย เพียงแต่จะให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ยาก

แต่ว่าในครั้งนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ท่านก็ได้อบรมเจริญมาแล้ว บางท่านก็เจริญสติปัฏฐานอบรมเจริญปัญญาบารมีมามากในอดีต แต่ว่ายังไม่ถึงเวลาที่ท่านจะเกิดความหน่ายในการที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือว่ายังไม่ละความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ท่านก็ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาที่เหมาะ ที่จะให้เกิดความสลด สังเวช ละคลายในขณะที่กำลังฟังธรรมในขณะนั้น ซึ่งแต่ละคนสะสมอัธยาศัยมาต่างกันจริงๆ

คามิกะ กัมมัฏฐาน เขาแปลว่า อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งภาวนากรรม จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ อารมณ์เป็นที่ตั้ง ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ พระผู้มีพระภาคท่านดูจริต อย่างเช่น พระจูฬปันถก พระผู้มีพระภาคท่านดูนิสัยเมื่อชาติก่อนนี้ ท่านจูฬปันถกเคยเป็นพระราชา เสด็จเลียบพระนครแล้วเหงื่อตก เอาผ้าเช็ดเหงื่อ และพิจารณาดู เกิดปลงธรรมสังเวชกับผ้าเช็ดหน้าว่า ผ้าเช็ดหน้านี้เมื่อครู่นี้ก็ขาวบริสุทธิ์ เดี๋ยวนี้เปื้อนเหงื่อ ฉันใด พระจูฬปันถก พระผู้มีพระภาคไม่ได้ให้อื่นเลย ให้ผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่ง และให้คำบริกรรมว่า ผ้านี้เปื้อนธุลีๆ บาลีว่า รโชหรณํ รโชหรณํ หรือผ้านี้จะนำเสียซึ่งธุลีออกไป ให้เท่านี้แหละ พระจูฬปันถกก็สำเร็จพระอรหันต์ ไม่ใช่ ๔๐ ตามสมถภาวนา หรือว่าอะไรอื่น ท่านดูอุปนิสัยอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว

สุ. บางท่านอาจจะเข้าใจว่า สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาแยกกัน แต่ถ้าท่านศึกษาต่อไปจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว สมถะและวิปัสสนาไม่ได้แยกกันเลย ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมทราบว่า ขณะไหนจิตสงบเพราะอะไร เพราะขณะนั้นเป็นปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นความสงบเพราะจิตระลึกถึงอารมณ์ที่จะทำให้สงบ

อย่างที่ว่า ให้ลูบผ้า และก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์ จะจัดเข้าอยู่ในกัมมัฏฐานของสมถะหรือวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะแยกกันเลย

อย่างพุทธานุสสติ การสวดมนต์ กราบพระ ระลึกถึงพระพุทธคุณ มีท่านผู้ใดตั้งอกตั้งใจไหมว่า จะเจริญความสงบด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือว่าเวลาที่ระลึกแล้วเกิดความสงบ เพราะว่าไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ว่าจะทำอะไร ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้ามีการระลึกถึงพระพุทธคุณ สติปัฏฐานก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะเจาะจงหรือตั้งใจได้ว่า จะทำอย่างนั้น หรือว่าจะทำอย่างนี้ แต่ว่าสภาพนั้นเกิดขึ้นแล้ว ระลึกถึงพระพุทธคุณแล้ว และมีความสงบเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น

สำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบ ถ้าท่านจะคิดถึงเฉพาะกัมมัฏฐานเดียว จะเป็นไปได้ไหมในชีวิตประจำวัน ถ้ามีเรื่องที่จะต้องโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่ก่อนนี้ท่านอาจจะคิดว่า บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านโกรธขึ้น ในขณะนั้นจะเอากัมมัฏฐานไหนมาสงบ จะเลือกจริตในขณะนั้นไหมว่าท่านเป็นจริตใด และจะอาศัยกัมมัฏฐานใด หรือว่าในขณะนั้นจะเกิดความเมตตากรุณาขึ้น เพราะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องของความสงบ และมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่สงบและการที่จะสงบได้โดยนัยต่างๆ

บางท่านอาจจะระลึกถึงพระพุทธคุณ ระลึกถึงพระธรรมคุณที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอกุศลธรรม คือ ลักษณะสภาพของโทสะที่กำลังเกิดว่าเป็นอกุศลธรรม และสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม มี คือ ความเมตตา หรือความกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ถ้ามีปัจจัยที่เมตตาจะเกิดขึ้นก็เป็นความสงบ ถ้ามีปัจจัยที่กรุณาจะเกิดขึ้นก็ได้ แทนที่จะเป็นเมตตาก็เป็นกรุณา มีความสงสารในบุคคลผู้มีกิเลสซึ่งกระทำเหตุให้ท่านเกิดความรู้สึกโกรธขึ้นก็ได้ หรือว่าจะมีอุเบกขาในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

และในขณะนั้นท่านจะเลือกไหมว่า ท่านจะทำอย่างไรดี จะเอากัมมัฏฐานข้อไหนมาสงบ ในขณะที่กำลังโกรธ

ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวมา ผมเคยผ่านมาแล้ว แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่อาจารย์กล่าว ผลก็คือ ฟุ้งซ่าน ไม่สงบ สมัยก่อนผมไปนั่งสมาธิในศาลาวัดทุกคืน บางคืนก็สงบดี มีพุทโธเป็นอารมณ์ได้มาก แต่เผอิญวันนั้นถูกรองสารวัตรแกล้งจับ รถเราจอดในตรอก ไปกีดขวางทางรถของรองสารวัตร ก็ถูกปรับ เราไปเสียค่าปรับแต่ไม่ได้ใบขับขี่คืนเพราะสารวัตรเอาติดตัวไปด้วย ต้องติดตาม ๓ – ๕ วันจึงให้มา วันนั้นไปนั่งสมาธิ ความโกรธเรื่องนี้เดี๋ยวก็ผุดขึ้นมา ไม่ได้นึก แต่ผุดขี้นมาเอง จิตไม่ยอมอยู่กับพุทโธ ตอนนั้นยังไม่มีผู้สอนให้แก้แบบให้มีเมตตา เพราะฉะนั้น จิตก็ไม่อยู่กับพุทโธ ไม่สงบเลยตลอดคืน ต่อไปถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ก็ได้รู้วิธีที่พึงปฏิบัติแล้ว คือ ให้เมตตา คิดว่าคงได้ผลแน่

สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่ว่า ยิ่งศึกษาพระธรรมมากเท่าไร ไม่เลือกกัมมัฏฐาน แต่มีความเข้าใจเป็นปัจจัยที่จะให้ความสงบเกิดขึ้น ซึ่งแล้วแต่ว่า ในขณะนั้นจิตจะระลึกถึงพรหมวิหารหนึ่งพรหมวิหารใด หรือว่าจะระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หรือระลึกถึงศีล ระลึกถึงธรรมประการใดก็ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบในขณะนั้น เพราะว่าแต่ละท่านไม่ใช่มีจริตเดียว ทุกจริตพร้อมที่จะเกิดขึ้น บางครั้งก็เป็นวิตกจริต บางครั้งบางขณะก็เป็นราคะจริต บางครั้งบางขณะก็เป็นโทสจริต โมหจริต ทุกประการ เพราะฉะนั้น การที่ไม่เลือกกัมมัฏฐาน แต่ว่ามีความเข้าใจในการเจริญความสงบ จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ความสงบเกิดขึ้นได้

ถ. หมายความว่า การที่จะเจริญสติปัฏฐานไม่ต้องคำนึงถึงจริตว่า เรามีจริตอะไรหรือไม่ อย่างไร แต่ว่าขณะใดที่ธรรมใดเกิดขึ้น ก็เจริญสติระลึกรู้ตามลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริงนั้นทันที

สุ. นั่นเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด แต่ว่าสติปัฏฐานก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่ากุศลขั้นใดจะเกิดขึ้น บางครั้งสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่รู้ธรรมที่สงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับอกุศลที่กำลังไม่สงบในขณะนั้น ก่อนที่จะรู้ว่า นั่นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  262
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566