แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 717

ถ. ขณะที่เมตตาจิตเกิดนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ธรรมดาก็เกิดได้บ่อยทีเดียว สมมติว่าขณะที่เห็นเด็กวิ่ง เราก็กล่าวไปว่า ระวังเดี๋ยวจะหกล้ม ขณะนั้นจิตก็เกิดความเมตตา กล่าวออกไปด้วยความเป็นห่วง หรือขณะที่หยิบขนมสักชิ้นส่งให้เด็ก ขณะนั้นจิตก็ประกอบด้วยเมตตา ซึ่งผิดกันกับครั้งก่อนที่ยังไม่ได้เจริญสติ ให้ก็ให้ด้วยโมหะ ไม่รู้อะไรเลย และระหว่างที่เจริญสติแล้วอย่างนี้ ฉันทาคติ ความไม่เที่ยงธรรมก็รู้สึกว่าเบาไป ผิดกว่าเมื่อก่อนนี้ มีอะไรที่ซื้อหาไว้ให้ลูกรับประทาน ก็จะหวง ถ้าใครเอาไปกินก็โกรธ ต้องเก็บไว้ให้ลูกฉัน แต่เดี๋ยวนี้ ไปไหนกลับมา ก้าวเข้ามาในบ้าน ต้องรีบให้ของที่เราซื้อกับคนที่เราเห็นด้วย ซึ่งขณะนั้นจิตก็อ่อนโยนและเมตตา

สุ. ขออนุโมทนาในผลของการเจริญสติปัฏฐาน ที่ทำให้เจริญคุณธรรมอื่นเพิ่มขึ้นเป็นบารมี เช่น เมตตาบารมี ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นความต่างกัน สำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน และขณะนั้นก็มีการให้ แต่เป็นการให้ด้วยอกุศล ไม่ใช่ด้วยกุศล

ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเป็นผู้ที่ตรง และสามารถที่จะเจริญบารมีทั่วขึ้น คือ เพิ่มเมตตาบารมีขึ้นด้วย และทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของเมตตาและโทสะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นไปด้วยโทสะ หรือเป็นไปด้วยเมตตา ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ย่อมทราบได้ เมื่อเห็นลักษณะของโทสะว่า เป็นอกุศล ปัญญาที่เห็นโทษ เห็นความน่ารังเกียจของโทสะและอกุศลธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมเกิดเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า ตัวท่านมีเมตตาเพิ่มขึ้น แทนที่จะมีโทสะมากเช่นเคย นั่นก็เป็นในเรื่องของเมตตา นอกจากนั้น ท่านก็จะเพิ่มขันติบารมี ความอดทนได้ในสถานการณ์ทั้งปวง

อาหารไม่อร่อย ถ้าเคยเดือดร้อนวุ่นวาย แต่เวลาที่ระลึกถึงสภาพของจิตขณะนั้นว่าเป็นอกุศล ท่านก็คงจะรู้สึกพอกับอาหารที่มีเฉพาะหน้าในขณะนั้นได้ และไม่แสวงหาด้วยความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเกื้อกูลกุศลทุกประการ

ในเรื่องของทาน ก็เช่นเดียวกัน มีท่านที่พอใจติดข้องในวัตถุสิ่งของต่างๆ ทำให้ท่านแสวงหาวัตถุต่างๆ มาไว้มากมาย แต่เมื่อได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็เริ่มเห็นโทษ โดยเฉพาะเมื่อได้ทราบลักษณะของเนกขัมมะ ซึ่งไม่ใช่ขั้นสูงถึงกับการบรรพชาอุปสมบท เพียงแต่ในชีวิตของคฤหัสถ์ที่จะเริ่มรู้สึกพอ รู้จักพอในวัตถุต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านก็เห็นว่า วัตถุสิ่งต่างๆ ที่ท่านมี มากมายเหลือเฟือเกินไป ซึ่งตามปกติท่านก็คงไม่คิดที่จะสละให้กับบุคคลอื่น แต่ว่าเมื่อเห็นโทษของการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้นแล้ว ท่านก็เริ่มคิดที่จะรู้จักพอในสิ่งที่พอสมควร พอประมาณ และก็คิดที่จะสละวัตถุเหล่านั้น แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดท่านก็คิดได้ คือ ท่านจะทิ้งในกองบุญ คือ ไม่มีที่จะทิ้งวัตถุเหล่านั้น นอกจากจะทิ้งในกองบุญ โดยการสละให้ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น

ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจสติปัฏฐาน ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ กุศลขั้นอื่นก็ยากที่จะเกิดได้ และอกุศลย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดได้รวดเร็วกว่า แต่เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ของรูปธรรมว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรม ความอดทนจะเพิ่มขึ้น และกุศลอื่นๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเคยอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในขณะที่ท่านอยู่ที่นั่นว่า มีผู้หญิงอินโดนีเซียคนหนึ่งซึ่งสามีสิ้นชีวิตเพราะเด็กหนุ่มที่ขับรถด้วยความประมาท แต่เธอก็ไม่เอาความ เพราะว่าไม่อยากก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น นอกจากนั้นยังแสดงความประสงค์ที่จะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กหนุ่มคนนั้นด้วย

ยากหรือง่ายที่จะเป็นอย่างนี้ แต่เป็นแล้ว และเป็นได้ สำหรับผู้ที่สะสมอบรมความเมตตาความกรุณาไว้ ดีไหมที่จะเป็นกุศลอย่างนี้ แต่ว่ายากที่จะเกิดได้

การกระทำของผู้หญิงอินโดนีเซียคนนี้เป็นบารมี หรือไม่ใช่บารมี ลองคิดดู เป็นบารมีแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่เป็นบารมี

ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านก็เห็น แต่ละท่าน บางท่านมีความดีมาก หรือมีความดีน้อย กระทำบุญมาก หรือกระทำบุญน้อยต่างๆ กัน แต่ว่าจะเป็นบารมีหรือ ไม่เป็นบารมี ก็แล้วแต่แต่ละบุคคล

ถ้าเป็นบุคคลที่เพียงทำดี แต่ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรม ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยังไม่ได้เป็นบารมี เพราะว่ากุศลใดๆ ก็ตามที่จะเป็นบารมีนั้น ต้องเป็นกุศลที่กระทำไปเพื่อการขัดเกลาอกุศลธรรมให้ถึงการดับอกุศลธรรมนั้นเป็นสมุจเฉท

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ถ้ายังไม่เห็นคุณของบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมก็ย่อมมีกำลังมาก เมื่ออกุศลธรรมมีกำลังมาก การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้

บารมี ๑๐ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

บารมีสุดท้าย อุเบกขาบารมี ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ทีมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก ความชัง เพราะว่าย่อมกระทบกระทั่งกับอารมณ์ภายนอก และเกิดความเศร้าโศก เสียใจ ความหม่นหมองใจต่างๆ แล้วแต่อารมณ์ที่ปรากฏนั้น จะเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลสงเคราะห์บุคคลอื่นซึ่งเป็นเมตตาหรือกรุณา ในขณะนั้นก็ต้องระวังสภาพของจิตไม่ให้เศร้าหมอง เพราะว่าความเศร้าหมองของจิตเป็นอกุศล

ในวันหนึ่งๆ ถ้าสังเกตสภาพของจิตโดยละเอียด คือ สติที่ระลึกได้ จะรู้ว่าขณะนั้นจิตเศร้าหมองหรือไม่ด้วยความรัก หรือด้วยความชัง ถ้าเป็นวงศ์ญาติ มิตรสหายที่รักที่พอใจ ในขณะนั้นไม่ใช่อุเบกขา เพราะว่าเกิดความรัก ความพอใจขึ้น และถ้าเห็นบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ และไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น ก็จะไม่รู้ว่า มีสภาพของความชัง ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว

หรือว่าขณะที่มีความทุกข์ ก็ให้ทราบว่า ทุกข์นั้นต้องเนื่องมาจากความรักและความชังอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่ทุกข์ได้ คือ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก ด้วยความชังในบุคคลต่างๆ นั่นเป็นการอบรมเจริญอุเบกขาบารมี

คนฆ่างู บางท่านเข้าใจว่า ท่านมีความเมตตากรุณาสงสารงูที่ถูกฆ่า แต่ว่าจิตในขณะนั้นหวั่นไหวแล้วด้วยความชังในคนที่ฆ่างู มีคำพูดที่แสดงว่า คนนั้นใจร้าย หรือไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นเลย แต่ขอให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า จิตที่มีต่อคนฆ่างูนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเมตตาไม่ได้ ก็เป็นอุเบกขา คือ ไม่หวั่นไหว เพราะว่าทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรมของตน

ถ้ามีเมตตา ก็น่าสงสารคนที่ทำอกุศลกรรม เพราะว่าเขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น ซึ่งท่านก็จะไม่เดือดร้อนใจ ไม่ใช้วาจาที่ไม่สมควร หรือวาจาที่รุนแรงกับบุคคลนั้น เพราะว่าขณะนั้นมีเมตตา รู้ว่าบุคคลนั้นย่อมได้รับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเกิดกุศลจิตที่เป็นเมตตาต่อบุคคลนั้นก็ได้ หรือว่าอุเบกขาต่อบุคคลนั้นก็ได้

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน อย่าเห็นอกุศลเป็นกุศล อย่าเข้าใจว่า อกุศลธรรมนั้นดีที่จะต้องใช้คำที่รุนแรงกับผู้ที่ประกอบอกุศลกรรม ไม่มีความจำเป็นเลยที่จิตจะหวั่นไหวไปอย่างนั้น เพราะว่าจิตที่หวั่นไหวไปนั้นเป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะรู้ลักษณะของความคงที่ของจิตที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรักและความชัง ก็ย่อมจะเจริญกุศลที่เป็นอุเบกขาบารมีได้มากขึ้น

ถ. ดิฉันเห็นคนเตะสุนัขที่นอนขวางทาง ซึ่งเขาจะเดินหลีกไปก็ได้ สุนัขก็ร้อง เห็นทีแรกก็โกรธทีเดียว พอระลึกถึงคำพูดของอาจารย์ ขณะนั้นจิตของดิฉันก็เปลี่ยนไปทันที คือ ระลึกถึงเขาว่าทำไม่ถูกอย่างนี้น่าสงสาร ต่อจากนั้นจิตของดิฉันก็สงบ คือ ไม่โกรธต่อ

สุ. นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าไปรู้อื่น แต่ให้รู้ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ตามสิ่งแวดล้อม ตามเหตุการณ์แต่ละขณะที่เป็นจริงในขณะนั้น

ท่านผู้ฟังที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกถึงพระธรรมได้ในขณะนั้นจึงสงบ ถ้าขณะนั้นไม่ระลึกถึงอุเบกขาหรือว่าเมตตาเลย ความสงบก็ไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ในชีวิตจริงๆ ประจำวันนี้ ที่สามารถจะสงบได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น พอไหม หรือว่ายังต้องการที่จะสงบให้ยิ่งขึ้นกว่านี้ให้มากๆ โดยการไปทำสมาธิและเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นความสงบ แต่ว่าละเลยความสงบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสำคัญกว่า เพราะว่าเป็นชีวิตจริง เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ซึ่งถ้าไม่มีการระลึกถึงพระธรรมก็ย่อมเป็นอกุศล แต่เมื่อมีการระลึกได้ถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นปัจจัยให้เกิดความสงบขึ้น เป็นกุศลในขณะนั้น

และชีวิตของแต่ละท่านตามความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถจะเลือกตามความพอใจได้เลย ทุกท่านอยากจะมีชีวิตที่ราบรื่น อยากจะอยู่แวดล้อมใกล้ชิดกับผู้ที่มีกุศลจิตมากๆ ไม่อยากที่จะแวดล้อมใกล้ชิดกับผู้ที่เต็มไปด้วยอกุศลเลย แต่ว่าแต่ละท่านก็ย่อมทราบชีวิตของท่านตามความจริงดีว่าเป็นอย่างไร และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามกรรม แต่ถึงแม้ว่าท่านจะอยู่ในเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม พระธรรมย่อมสามารถที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดได้ ถ้าท่านจะนึกถึงพระธรรมเนืองๆ

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อสุรวรรคที่ ๕ อสุรสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารจำพวก ๑ บุคคลเป็นเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารจำพวก ๑ บุคคลเป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารจำพวก ๑ บุคคลเป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารจำพวก ๑

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงถึงชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริงของแต่ละท่านในแต่ละภพแต่ละชาติ ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาว่า ท่านเป็นบุคคลใดใน ๔ บุคคลนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม แม้บริษัทของเขาก็เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม บุคคลเป็นเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างนี้แล ฯ

มีไหมในโลก ตามความเป็นจริง โจรทั้งหลายที่มัวเมาในอกุศลธรรมทั้งหลาย คบหาสมาคมแวดล้อมด้วยบริวารทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม

บุคคลต่อไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม แต่บริษัทของเขาเป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเป็นเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างนี้แล ฯ

มีไหมอย่างนี้ ต้องมีแน่นอน

บุคคลต่อไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม แต่บริษัทของเขาเป็นคนทุศีล มีบาปธรรม บุคคลเป็นคนเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างนี้แล ฯ

ลองพิจารณาถึงบริวารของท่าน บางทีท่านเป็นคนที่มีจิตใจเป็นกุศลมาก แต่ช่วยไม่ได้เลยที่จะให้คนแวดล้อม ญาติมิตร ผู้รับใช้ของท่านเป็นเช่นกับอสูร คือ เป็นผู้มีบาปธรรม อาจจะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดเท็จ กระทำอกุศลกรรมต่างๆ แต่ว่าท่านก็เจริญกุศลได้ ถ้าไม่เมตตา ก็กรุณา หรืออุเบกขา ถ้าตัวท่านเป็นคนดี แต่บริวารไม่ดี ก็เป็นไปตามกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ และบริวารนี้ก็คงจะทำความเดือดร้อนใจให้ต่างๆ ถ้าเป็นผู้ที่ทุศีล มีบาปธรรม ก็มีการทะเลาะวิวาท หมกมุ่นในทางอกุศล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เกิดปรากฏย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าท่านหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และเจริญกุศลที่เป็นบารมี เพื่อที่จะให้สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

บุคคลต่อไป เป็นผู้ที่กระทำบุญไว้ดี เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีบุคคลและสิ่งแวดล้อม มิตรสหาย วงศ์ญาติที่ดี ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม แม้บริษัทของเขาก็เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเป็นคนเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างนี้แล

ดูเหมือนว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมง่ายๆ แต่ก็เป็นความจริง ซึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้เห็นเหตุปัจจัยของแต่ละคน ซึ่งไม่จำกัดบุคคลที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ได้เลือกบุคคลหรือสถานที่ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็สามารถที่จะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสงบได้ แม้ว่าท่านมีบริษัทที่เป็นคนเช่นกับอสูร ก็จะได้รู้ถึงคุณของพระธรรมที่ช่วยให้สามารถระลึกได้ และเกิดกุศลจิตแทนอกุศลจิต

เปิด  179
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565