แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 608

สำหรับผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณของบุพพการี ท่านได้แสดงความหมายของมารดาซึ่งมีคุณต่อบุตรไว้มาก ใน ขุททกนิกาย ชาดก โสณนันทชาดก มีข้อความที่แสดงถึงความรักความหวังดีของมารดาที่มีต่อบุตร อันเป็นเหตุให้มารดามีชื่อต่างๆ

ซึ่งข้อความตอนท้ายของ โสณนันทชาดก มีว่า

เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้น มารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า เป็นผู้มีใจดี

ตั้งแต่แรกทีเดียวที่ทุกท่านเกิดขึ้นในโลกนี้ ซึ่งแสดงถึงคุณของมารดาว่า เมื่อสัตว์เกิดในครรภ์นั้น มารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า เป็นผู้มีใจดี

มารดาบริหารครรภ์อยู่หนึ่งปี หรือหย่อนกว่าปีแล้วจึงคลอด เหตุนั้นบัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ชนยนฺตี และชเนตตี คือ ผู้ยังบุตรให้เกิด

มารดาย่อมปลอบบุตรผู้ร้องไห้อยู่ให้รื่นเริง ด้วยการให้ดื่มน้ำนมบ้าง ด้วยการขับกล่อมบ้าง ด้วยการอุ้มแนบไว้กับอกบ้าง เหตุนั้นบัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ปลอบบุตรให้รื่นเริง ต่อแต่นั้น มารดาเห็นบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา เล่นอยู่ท่ามกลางสายลมและแสงแดดอันกล้าก็รับขวัญ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า โปเสนตี ผู้เลี้ยงดูบุตร

มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือ ทรัพย์ของมารดาและทรัพย์ของบิดาเพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่ายพึงเป็นของบุตรแห่งเรา

จริงใช่ไหม ใครขอจะให้ไหม ท่านที่มีทรัพย์สมบัติมากๆ และเห็นคนอื่นกำลังเดือดร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศก ก็อาจจะช่วยเหลืออุปการะบุคคลอื่นตามควร แต่ จริงๆ แล้วใจของท่านย่อมมุ่งที่จะเก็บทรัพย์นั้นให้บุตร ต่อให้ใครจะมีความ จำเป็นและควรจะสงเคราะห์มากสักเท่าไร จิตใจของท่านผู้ที่เป็นมารดาบิดาก็ไม่อาจที่จะสละทรัพย์นั้นเพื่อคนอื่น เพราะเหตุว่า มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือ ทรัพย์ของมารดาและทรัพย์ของบิดาเพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่าย พึงเป็นของบุตรแห่งเรา

มารดายังบุตรให้ศึกษาดังนี้ว่า อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก เมื่อบุตรกำลังรุ่นหนุ่มคะนอง มารดาย่อมคอยมองดูบุตรผู้หลงเพลิดเพลินในภรรยาผู้อื่น จนพลบค่ำก็ยังไม่กลับมา ย่อมเดือดร้อนด้วยประการฉะนี้

นี่คือความหวังดีของมารดาที่มีต่อบุตร ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงรุ่นหนุ่มคะนองและตลอดไป ไม่ว่าบุตรนั้นจะกระทำความประพฤติอย่างไร มารดาย่อมคอยมองดูบุตรอยู่เสมอ และถ้าพลบค่ำยังไม่กลับ ก็ย่อมเดือดร้อนด้วยประการฉะนี้

บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดา บุตรนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก บุตรผู้อันบิดาเลี้ยงมาด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก

เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงมารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมพินาศ หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงบิดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมพินาศ หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น

ความรื่นเริง ความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดา ความรื่นเริง ความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงบิดา

สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ คือ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก ๑ อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควรในที่นั้นๆ ๑ ย่อมมีในโลกนี้ เหมือนเพลารถย่อมมีแก่รถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น

ถ้าว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดาก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดาก็จะไม่พึงได้ความนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็นสังคหวัตถุนี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พึงสรรเสริญ

มารดาและบิดาบัณฑิตเรียกว่า เป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของบุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับของบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงนอบน้อมและสักการะมารดาบิดาทั้ง ๒ นั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้น ด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้ ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

จบ โสณนันทชาดกที่ ๒

ถ. สังคหวัตถุ ๔ มีข้อหนึ่งกล่าวว่า มีตนเสมอ หมายความว่า ถ้าเจ้านายไปตีเสมอกับลูกน้อง ให้ลูกน้องมากินข้าวด้วยกันอะไรอย่างนี้ ก็เป็นการดี แต่ทีนี้ถ้าลูกน้องมาตีเสมอกับเจ้านาย จะเป็นว่ามีตนเสมอหรือไม่

สุ. คำว่า เสมอ ในที่นี้ หมายความว่า ไม่แยกพวก แยกเหล่า ความสนิทสนมคุ้นเคย ความเป็นกันเอง ย่อมเป็นที่ชอบใจพอใจของทุกคน ดีกว่าการที่จะแยกตนแยกพวกว่า ไม่ใช่พวกเดียวกัน หรือว่าไม่สนิทสนมคุ้นเคยกัน ไม่ว่าใครทั้งนั้น ย่อมพอใจในความเป็นกันเอง ในความสนิทสนม ในความคุ้นเคย เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ไม่มีความต่างกัน ไม่มีการแยกกัน

ถ. ถ้าสนิทสนมอย่างนี้ ถ้าเห็นว่าดีก็ดี ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็มีคำว่า ตีตนเสมอ เป็นการไม่สมควร เช่น ศิษย์กับอาจารย์ หรือเจ้านายกับลูกน้อง ถ้ามาตีเสมอกันอย่างนี้ ก็ไม่สมควร

สุ. อย่าเข้าใจในทางอกุศล คือ อย่าไปคิดว่าตีเสมอ แต่ให้เข้าใจว่า เป็นความสนิทสนมคุ้นเคย ไม่แยกพวก ไม่แสดงความแตกแยกว่า ไม่ใช่พวกเดียวกัน ไม่ใช่หมู่คณะเดียวกัน

ถ้าท่านผู้ฟังมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมแต่ละอย่างก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม ไม่มีของเราหรือของใคร แม้รูปธรรมก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านจะมีตนเสมอกันกับบุคคลอื่น เพราะว่ามีความเข้าใจในความต้องการของคนอื่น มีความเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น มีความเข้าใจว่า กายวาจาอย่างไร คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ในเมื่อท่านทราบว่า กายวาจาอย่างนั้น ท่านจะรู้สึกอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น การที่มีความเข้าใจในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ก็จะทำให้ท่านมีตนเสมอกับบุคคลอื่น มีความสนิทสนม ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีการแยกตัวท่านว่าสูงกว่า หรือว่าต่ำกว่า หรือว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ถ้าท่านได้รับความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นกันเองจากใคร ท่านรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะรู้สึกว่าห่างเหิน หรือว่าเป็นคนละพวก หรือว่าไม่ใช่หมู่คณะเดียวกัน ใครก็ตามที่แสดงความสนิทสนมเป็นกันเองกับท่าน ย่อมทำให้ท่านรู้สึกสบายใจขึ้น

เพราะฉะนั้น สมานัตตตา คือ การมีตนเสมอกับบุคคลอื่น ด้วยความเข้าใจในนามธรรมและรูปธรรม ในความรู้สึก ในความคิด ในความต้องการของบุคคลอื่นว่า ท่านปรารถนาอย่างไร คนอื่นก็ปรารถนาอย่างนั้น

ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน กิเลสมากไหม ปัจจุบันชาตินี้จะดับหมดได้ไหม แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่ทราบเลยว่า ท่านมีกิเลสมากมายเพียงไร แม้แต่ในเรื่องของการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม หรือต่อสภาพธรรมที่ควรอ่อนน้อม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ซึ่งถ้าสติเกิด ท่านทราบได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นยกตนข่มบุคคลอื่นหรือไม่ หรือว่ามีความเคารพน้อยเหลือเกินในสิ่งที่ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง นี่เป็นความละเอียดของจิตใจ

ใน ตติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย มหาวรรควรรณนา มีข้อความที่กล่าวถึงพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค คือ เมื่อพระพุทธบิดาได้โปรดให้ท่านพระกาฬุทายีเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคมายัง พระนครกบิลพัสดุ์ และเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแล้ว พระองค์ก็ได้เชิญเสด็จ พระผู้มีพระภาคประทับยังนิโครธาราม ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นสภาพจิตของเจ้าศากยะทั้งหลายที่ท่านได้สะสมมาต่างๆ กัน ที่จะนอบน้อมบ้าง ไม่นอบน้อมบ้างในพระผู้มีพระภาค แม้ว่าท่านจะได้สะสมบุญกุศลในการที่ได้เกิดในศากยตระกูล แต่แม้กระนั้นแต่ละขณะ จิตใจประเภทใดจะเกิดขึ้น ย่อมไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ บางคนอาจจะตั้งใจไว้ว่า จะเป็นผู้ที่เจริญกุศล อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่พอถึงเวลาที่ได้พบกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ จิตก็ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ เพราะว่าจิตของแต่ละท่านต้องเป็นไปตามการสะสมที่พร้อมจะเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะ

ข้อความมีว่า

พวกศากยราชเป็นคนที่เจ้ามานะ ถือตัวจัดนัก พวกศากยราชเหล่านั้นทรงดำริว่า สิทธัตถกุมารยังหนุ่มเด็กกว่าพวกเรา เป็นพระกนิฎฐะ เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส เป็นพระนัดดาแห่งพวกเรา จึงรับสั่งกะราชกุมารหนุ่มๆ ว่า พวกเธอจงบังคม พวกฉันจักนั่งข้างหลังพวกเธอ

ครั้นเมื่อศากยราชเหล่านั้น ประทับนั่งอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูอัธยาศัยของพวกเธอ แล้วทรงคำนึงว่า พวกพระญาติไม่ยอมไหว้เรา เอาเถิดบัดนี้ เราจักให้พระญาติเหล่านั้นไหว้ ดังนี้แล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยพระฤทธิ์ ได้ทรงทำปาฏิหาริย์คล้ายยมกปาฏิหาริย์ที่ควงแห่งคัณฑามพฤกษ์ ราวกะว่าทรงโปรยธุลีที่พระบาทลงบนเศียรแห่งพระญาติเหล่านั้น

พระราชาทรงเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ซึ่งพระพี่เลี้ยงนำเข้าไปเพื่อไหว้พราหมณ์ในวันมงคล หม่อมฉันแม้ได้เห็นพระบาทของพระองค์ ไพล่ไปประดิษฐานบนกระหม่อมของพราหมณ์ จึงบังคมพระองค์ นี้เป็นปฐมวันทนาของหม่อมฉัน

ในวันวัปมงคล เมื่อพระองค์บรรทมบนพระที่อันมีสิริที่เงาไม้หว้า หม่อมฉันเห็นเงาไม้หว้ามิได้คล้อยตามไป จึงบังคมพระบาท นี้เป็นทุติยวันทนาของหม่อมฉัน

บัดนี้ หม่อมฉันได้เห็นปาฏิหาริย์ซึ่งยังไม่เคยเห็นนี้ ขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ นี้เป็นตติยวันทนาของหม่อมฉัน

ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระเจ้าสุทโธทนมหาราชถวายบังคมแล้ว แม้ศากยะองค์หนึ่ง ซึ่งชื่อไม่ถวายบังคม มิได้มี ได้ถวายบังคมหมดทั้งนั้น

ศากยราชที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในครั้งที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม ถ้าในบัดนี้ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านจะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครทราบ แต่ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของกิเลส เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาทเลย มีใครบ้างไหมที่คิดว่า จะไม่กราบนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนแล้ว ก็คงจะรู้สึกว่าไม่มี แต่ว่าในครั้งนั้น มีมากทีเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าสะสมมานะ ความถือตัว ความยกตน ความข่มผู้อื่นไว้มาก สักวันหนึ่งมานะ ความถือตัว การยกตน การข่มผู้อื่น ก็จะทำให้ท่านถึงกับไม่แสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมก็ได้

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เห็นกิเลสทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรจะขัดเกลา ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และแม้ว่าจะเห็นโทษสักเท่าไร ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้

ถ. ทำไมเจ้าศากยตระกูลเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่ลุกรับกราบไหว้ได้ เท่าที่ผมศึกษามา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ และจะไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งพระปัญจวัคคีย์ท่านก็ตั้งใจไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงแล้วจะไม่ลุกรับ ไม่ปฏิบัติ ไม่ต้อนรับ แต่พอเห็นพระผู้มีพระภาคเข้าจริงๆ ต่างคนต่างลืม ไปปูอาสนะ ตักน้ำล้างพระบาท เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญบารมีมา พระองค์อุปมาว่า ใครเห็นพระผู้มีพระภาคแล้วไม่ต้อนรับนั้น เป็นไปไม่ได้ อุปมาเหมือนกับจะพยายามเอาน้ำผึ้งมาตั้ง ก็คงจะตั้งไม่ได้ ทำไมพวกศากยะเหล่านี้จึงตั้งอยู่ได้

สุ. การสะสมมาต่างกัน สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏทั้งหมดในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นถึงการสะสมที่วิจิตร ที่ละเอียด ที่ต่างกันมากจริงๆ ในที่นี้จะมีกี่ท่านก็ตาม ความคิดนึกไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสม เพราะฉะนั้น เรื่องของพระปัญจวัคคีย์ก็เป็นเรื่องที่ท่านพระปัญจวัคคีย์กระทำตามการสะสมที่ท่านได้สะสมมา เรื่องของเจ้าศากยะทั้งหลายแต่ละท่านจะกระทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านสะสมมา ซึ่งข้อความตอนนี้ มีแต่เพียงว่า พวกศากยราชเหล่านั้นทรงดำริว่า สิทธัตถกุมารยังหนุ่มเด็กกว่าพวกเรา เป็นพระกนิฎฐะ เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส เป็นพระนัดดาแห่งพวกเรา จึงรับสั่งกะราชกุมารหนุ่มๆ ว่า พวกเธอจงบังคม พวกฉันจักนั่งข้างหลังพวกเธอ

เป็นไปได้ไหม เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น แม้แต่จะไหว้ก็ไหว้ไม่ได้ เพราะอกุศลจิต เวลาที่จิตอ่อนโยนเป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง มีความอ่อนน้อม มีความนอบน้อม แต่เวลาที่จิตเกิดกระด้างเพราะเป็นอกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือ อกุศลที่เป็นไปในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะกระทำอย่างไร จะนั่งข้างหลัง และจะไม่ถวายบังคม ก็เป็นสภาพของจิตในขณะนั้น ซึ่งเป็นอย่างนั้น

เปิด  216
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566