แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 517

สุ. ท่านผู้ฟังลองคิดดูว่า ปกติธรรมดาที่ท่านรับประทานอาหารอยู่อย่างอิสระ เช้า และก็สายบ้าง เที่ยงบ้าง บ่ายบ้าง เย็นบ้าง ค่ำบ้าง ดึกบ้างก็ตาม ซึ่งอาหารที่จัดไว้ก็เหมาะสมกับแต่ละเวลานั้น อย่างอาหารตอนบ่าย เป็นของรับประทานเล่นหลายอย่างที่มีรสประณีตมาก ฉะนั้น เวลาที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุทั้งหลาย ละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสียเถิด ลองคิดถึงตัวท่านเอง ท่านต้องลดอาหารที่มีรสประณีตไปตั้งหลายอย่าง เพราะหาเวลาที่จะรับประทานไม่ได้ ในเมื่อหลังจากเที่ยงก็ไม่ได้บริโภคแล้ว ซึ่งอาหารที่มีรสประณีตในตอนบ่าย ก็มีหลายอย่างที่ฆราวาสใคร่จะถวายแก่พระภิกษุด้วยเห็นว่า ท่านคงจะคุ้นเคยกับรสอันประณีตของอาหารในเวลาวิกาล

อย่างไรก็ตาม อาหารที่ถวายสำหรับพระภิกษุก่อนเที่ยงก็มีมากหลายอย่าง ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะที่ควร ที่จะทำให้ท่านสามารถไม่ต้องบริโภคในเวลาวิกาล ในตอนเย็นและในตอนกลางคืนต่อไปได้ สำหรับอาหารเบาๆ ประเภทที่มีรสพิเศษที่ประณีตที่ฆราวาสอยากจะถวาย ก็ไม่ทราบว่าจะถวายให้ท่านในตอนไหน เพราะท่านฉันไม่ได้เสียแล้ว ท่านผู้ฟังเคยคิดอย่างนี้ไหม อยากจะถวาย แต่ไม่ทราบจะหาเวลาไหนที่จะถวาย ก็ต้องไปถวายกันก่อนเที่ยง ซึ่งก่อนเที่ยงท่านก็มีอาหารที่เหมะที่เป็นอาหารหนักควรแก่การบริโภค เพื่อที่จะให้ไม่ต้องบริโภคในเวลาวิกาลในตอนเย็น ในตอนกลางคืนได้ และพระภิกษุท่านก็คงจะคุ้นเคยกับรสอย่างนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นการแปลกที่ท่านพระอุทายีท่านจะ มีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะให้ของควรเคี้ยวของควรบริโภคอันประณีตในเวลาวิกาลในกลางวันแก่เราทั้งหลายแม้อันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น ย่อมฉันในเวลาเย็น และเวลาเช้า

ในตอนแรกเพียงแต่ละการฉันในเวลาวิกาลในกลางวัน แต่ตอนเย็นท่านก็ยังบริโภคได้

ข้อความต่อไป

ท่านพระอุทายีกล่าวว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย จงละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสียเถิด ดังนี้

ข้าพระองค์นั้น มีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ความที่ภัตทั้งสองนี้ของเราทั้งหลายเป็นของปรุงประณีตกว่าอันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว พระสุคตตรัสการสละคืนอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนใดได้ของสมควรจะแกงมาในกลางวัน จึงบอกภริยาอย่างนี้ว่า เอาเถิด จงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมดเทียวจักบริโภคพร้อมกันในเวลาเย็น อะไรๆ ทั้งหมดที่สำหรับจะปรุงกิน ย่อมมีรสในเวลากลางคืน กลางวันมีรสน้อย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงพากันละการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่งล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดยแสงฟ้าแลบ แล้วตกใจกลัว ร้องเสียงดังว่า ความไม่เจริญได้มีแก่เราแล้ว ปีศาจจะมากินเราหนอ

เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้พูดกะหญิงนั้นว่า ไม่ใช่ปีศาจดอกน้องหญิง เป็นภิกษุยืนเพื่อบิณฑบาต ดังนี้

หญิงนั้นกล่าวว่า บิดาของภิกษุตายเสียแล้ว มารดาของภิกษุตายเสียแล้ว ดูกร ภิกษุ ท่านเอามีดสำหรับเชือดเถือโคที่คมเชือดท้องเสียเลยยังจะดีกว่า การที่ท่านเที่ยวบิณฑบาตในเวลาค่ำมืด เพราะเหตุแห่งท้องเช่นนั้น ไม่ดีเลย ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

แต่ก่อนที่ท่านพระอุทายีจะระลึกอย่างนี้ได้ ท่านก็น้อยใจ เสียใจทุกครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลในกลางวันและกลางคืน ซึ่งกว่าจะได้เห็นคุณ ก็จะต้องมีการฝึกหัด มีการอบรม และมีประสบการณ์จริงๆ ที่จะเห็นว่า เป็นประโยชน์สำหรับเพศบรรพชิต แต่ผู้ที่ไม่เห็นว่าเป็นโทษ แม้ว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ก็มี

เวลาวิกาลในกลางวัน หมายความถึงหลังเที่ยงถึงพระอาทิตย์ตกตอนหนึ่ง เป็นวิกาลในกลางวัน เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงให้ละการบริโภคในเวลาเย็นด้วย ในราตรีด้วย คำว่า วิกาล ก็คลุมไปตลอดตั้งแต่หลังเที่ยงไปจนถึงรุ่งอรุณ แต่ถ้าจะมุ่งเฉพาะเวลาวิกาลในกลางวัน ก็หมายความถึงตั้งแต่หลังเที่ยงจนถึงพระอาทิตย์ตก

. ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้ เราสามารถจะปฏิบัติได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นอย่างนั้น อยากทราบว่า การบวชและไม่บวชจะแตกต่างกันอย่างไรในแง่ของการเจริญวิปัสสนา ผมคิดว่า การบวชคงจะเกื้อกูลในการเจริญสติปัฏฐานบ้าง และสำนักวิปัสสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็น่าจะเกื้อกูลแก่การเจริญสติบ้าง

สุ. ท่านผู้ฟังสงสัยว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะมีความต่างกันระหว่างเพศบรรพชิตกับฆราวาสบ้างหรือไม่ เพราะถ้าการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุเกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐานแล้วละก็ สำนักปฏิบัติต่างๆ ก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่การเจริญสติปัฏฐานด้วย ถามว่าอย่างนี้

สำหรับการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเพศฆราวาสกับเพศบรรพชิตนั้นต่างกัน เพราะว่าผู้ที่เป็นบรรพชิตประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แต่ฆราวาสไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แต่ว่าทั้งบรรพชิตและฆราวาสจะต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ตามที่ได้สะสมมา

บรรพชิตที่เป็นพระภิกษุ ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ เพราะว่าเป็นชีวิตจริงของท่าน ชีวิตจริงของท่านไม่ใช่ฆราวาส ท่านมีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ พระวินัยบัญญัติจึงเป็นชีวิตปกติประจำวันของท่าน

เมื่อพระภิกษุท่านอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามชีวิตตามความเป็นจริงของท่านในเพศบรรพชิตแล้ว ทำไมต้องมีสำนักปฏิบัติ ในเมื่อชีวิตจริงของท่าน คือ การประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับท่านตามความเป็นจริง

เวลาที่ท่านบิณฑบาต เป็นชีวิตปกติประจำวัน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ตามปกติในชีวิตประจำวันของท่าน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมีสำนักปฏิบัติ ชีวิตจริงของบุคคลใดเป็นอย่างใด สติระลึกรู้ เพื่อปัญญาจะได้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ้าจะคิดอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นการที่น่าจะพิจารณาเหลือเกินว่า ถ้าต้องมีสำนักปฏิบัติแล้ว ทำไมปัญญาถึงช่างโง่นัก แทนที่จะฉลาด ที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้ ปัญญากลับไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจผิดว่า จะต้องมีสำนักปฏิบัติ ถ้าเป็นปัญญาแล้วทำไมไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในทุกขอริยสัจจะ ในขันธ์ ๕ ในรูปขันธ์ที่กำลังมีกำลังปรากฏ ในเวทนาขันธ์ที่กำลังมีกำลังปรากฏ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ ในนามธรรม ในรูปธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน กำลังเกิดดับ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ปัญญาย่อมรู้ได้

สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นของจริง ซึ่งผู้ที่รู้แจ้ง ประจักษ์การเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ควรจะอบรมอย่างไร เพื่อให้เป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงได้ เพราะเป็นปัญญาจึงรู้ได้ และอบรมเจริญอย่างไรจึงจะรู้ได้

ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ใช่ปัญญา ทำไมจะต้องมีสำนักปฏิบัติ ในเมื่อพระภิกษุท่านก็มีชีวิตปกติประจำวันตามพระวินัยบัญญัติ และท่านก็อบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ฆราวาสก็มีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทจึงต่างกันเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และทั้ง ๔ บริษัทสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ถ. ถ้าอย่างนั้น เพศภิกษุมีโอกาสจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้มากกว่าฆราวาส

สุ. ผลทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุที่สมควร การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่เพียงชั่วขณะสองขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ต้องอบรมมานับชาติไม่ถ้วน

ถ้าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องอบรมปัญญาบารมีที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ถ้าเป็นพระอัครสาวกก็น้อยลงมา ถ้าเป็นพระมหาสาวกก็น้อยลงไปอีก ถ้าเป็นสาวกธรรมดาก็น้อยลงไปอีก แต่ไม่ใช่เพียงชั่วขณะสองขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ใครจะทราบว่า ภิกษุท่านใดได้อบรมเจริญเหตุที่สมควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจธรรมมามากเท่าไร หรือน้อยเพียงใด และไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ฆราวาสบุคคลนั้น บุคคลนี้ ได้อบรมเหตุที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในอดีตกาลมาเนิ่นนานเท่าไร ที่จะพร้อมรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ ในพระไตรปิฎกจึงมีบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้งภิกษุและฆราวาสเป็นจำนวนมาก และในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมและยังไม่ปรินิพพานนั้น ก็มีภิกษุที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่มีฆราวาสที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะกล่าว เพราะว่าต้องเป็นไปตามเหตุที่ได้สะสมมา ถ้าเหตุที่สะสมมาควรที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติไหน ในเพศใด ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้น ในเพศนั้น ถ้าในชาตินั้นเป็นบรรพชิตและรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เพราะได้สะสมปัจจัยมาแล้ว หรือว่าในชาตินั้นสะสมปัญญาบารมีมาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศที่เป็นฆราวาสก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุ

เหตุจริงๆ คือ การสะสมให้เกิดปัญญาขึ้น รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ ขณะนี้เป็นความจริง เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าไม่รู้ก็ยังเป็นอวิชชา ยังเป็นวิจิกิจฉาความสงสัยว่า เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร แต่พระอริยเจ้าดับความสงสัย เพราะว่าเกิดความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ความสงสัยนี้ควรที่จะได้ถ่ายถอนออกไปด้วยปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าคิดว่ารู้ไม่ได้ในขณะที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน นั่นชื่อว่า ยังเป็นความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ชื่อว่า ได้ดับความสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ

เมื่อปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ก็ควรที่จะอบรมสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อละคลายความไม่รู้ ซึ่งก็แล้วแต่อัธยาศัยของท่านผู้ฟัง ท่านจะคิดอย่างไร ท่านจะเข้าใจอย่างไร ท่านจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร แต่ท่านก็ควรที่จะพิจารณาว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญารู้ได้ไหม ถ้าไม่ใช่ปัญญา รู้ไม่ได้แน่นอน

เพราะฉะนั้น ควรอบรมไหม ที่จะให้ปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และการที่จะดับความไม่รู้ ความสงสัยในนามธรรมและรูปธรรม ถ้ายังคงไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะดับความสงสัยไม่ได้

ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง

จากบ้านพรหมแสง

วันที่ ๒๑ พ.ค. ๒๕๑๘

เรียนท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพยิ่ง

กระผมได้ติดตามรับฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาของท่านอาจารย์มาเกือบครึ่งปีแล้วครับ แต่กระผมยังมีข้อข้องใจอยู่มาก ดังนั้น กระผมขอเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้

๑. สมมติว่ากระผมมองเห็นเก้าอี้ แต่ใจกระผมไม่รู้ว่าเป็นเก้าอี้ อย่างนี้กระผมจะระลึกว่า นี่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นทางตา หรือปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู อย่างนี้ถูกหรือไม่ครับ

และถ้าหากกระผมมองเห็นเก้าอี้แล้วรู้ว่าเป็นเก้าอี้ กระผมระลึกว่า นี่เป็นนามธรรม ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อย่างนี้ถูกไหมครับ ถ้าไม่ถูก ควรระลึกอย่างไร เพราะผมมีความสงสัยมากจริงๆ ว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร

๒. การภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนา เพราะอะไรครับ

สุ. การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น ต้องฟังด้วยดี อบรมการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นปัญญาจริงๆ เป็นความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ว่าค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านนี้

ข้อที่ ๑

สภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องเป็นจริง ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะผิดหรือจะถูก แต่ควรที่จะทราบว่า ลักษณะสภาพอย่างนี้มีบ้างไหมที่ท่านเขียนมาว่า กระผมมองเห็นเก้าอี้ แต่ใจกระผมไม่รู้ว่าเป็นเก้าอี้

ท่านอื่นลองคิดดู เป็นความจริงไหม มีไหมอย่างนี้

ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าเป็นเก้าอี้ ก็รู้แล้วว่าเป็นเก้าอี้ เว้นแต่เด็กเล็กๆ ที่จะไม่รู้ว่าเป็นเก้าอี้

สุ. ข้อสำคัญ คือ วันหนึ่งๆ ทางตา แม้แต่ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ หลายอย่างหรืออย่างเดียว ดูให้ทั่วจริงๆ หลายอย่าง หรือว่าอย่างเดียวที่ปรากฏทางตา

อย่างเดียวหรือ เป็นอะไร สีที่ปรากฏทางตา

โดยมากทุกท่านก็รู้ต่อไปด้วยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไรบ้าง

เปิด  172
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565