แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 405

เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรม คือนามธรรมและรูปธรรม จะมีความเห็นผิดเกิดมากมายหลายประการ เนื่องมาจากการไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่มีแต่ความเห็นผิดเท่านั้น กิเลสอื่นที่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิด ก็เกิดขึ้น เมื่อได้ปัจจัยควรแก่กิเลสนั้นๆ ที่จะเกิด กิเลสนั้นๆ ก็เกิด ซึ่งเป็นชีวิตปกติประจำวัน

ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือวาจา หรือใจ ย่อมประกอบไปด้วยกิเลสนานาประการ โดยเฉพาะในเรื่องของวาจา ในเรื่องของคำพูด ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง วจีทุจริตประการต่างๆ ย่อมมี ซึ่งเป็นคำพูดที่มีอยู่เป็นปกติ ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ขณะใดที่คำพูดนั้นเป็นไปเพราะอกุศลจิตแล้ว คำพูดเหล่านั้นเป็นวจีทุจริต ในทางที่หวังในลาภบ้าง คำพูดอย่างนี้มีไหม

เมื่อหวังลาภ บางครั้ง บางขณะ ก็มีการพูดยกยอ ไม่ใช่เป็นการชมด้วยความจริงใจ แต่เป็นไปด้วยกิเลส ทำให้มีวาจาที่เป็นไปเพราะหวังในลาภ เป็นการพูดยกยอบ้าง หรือว่าเป็นการพูดผูกพันต่างๆ บ้าง มีการพูดแนะ หรือว่าบางครั้งก็เป็นการพูดโอ้อวด บางครั้งก็เป็นการพูดเปรียบเปรย บางครั้งก็พูดกระทบ บางครั้งก็พูดเสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ บางครั้งก็ด่าว่า สบประมาทต่างๆ หวังที่จะให้อัปยศ บางครั้งก็พูดเหน็บแนม หรือแม้คำพูดที่ล้อ เมื่อเป็นอกุศลจิตที่มีกำลัง ก็เป็นการพูดล้อเปรยกระทบ บางครั้งก็เป็นคำพูดที่อำพรางความจริง เป็นคำพูดที่บ่นว่า พูดประชด หรือว่าพูดโพนทะนา

นี่เป็นวาจาที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส ทำให้ปรากฏสภาพลักษณะต่างๆ ซึ่งถ้าเป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติ รู้ได้ทันทีว่า ถ้าเกิดคำพูดอย่างนั้นขึ้น จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลอย่างไร

ผู้ที่จะดับวจีทุจริตได้ต้องเป็นพระอริยเจ้า และพระโสดาบันบุคคลซึ่งเป็น พระอริยเจ้าที่ดับทิฏฐิ ความเห็นผิด ไม่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนนั้น ก็ดับได้เพียงมุสาวาท คำพูดเท็จเท่านั้น แต่กิเลสอื่นยังมี เพราะฉะนั้น คำพูดที่เป็นวจีทุจริตประการอื่นก็ยังมี แต่ไม่ใช่มุสา ไม่ใช่คำพูดเท็จ ท่านไม่สามารถที่จะกล่าวคำเท็จ ในสิ่งที่ไม่จริงว่าเป็นจริงได้ หรือในสิ่งที่จริง จะกล่าวว่าไม่จริงก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น คำพูดที่พูดกันมากมายทุกวัน ขอให้พิจารณา สังเกต สำเหนียก แม้ว่าจะเป็นคำพูดของบุคคลอื่น หรือว่าคำพูดของท่านเองก็ตาม ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นเพราะอกุศลประเภทใดทำให้วาจาชนิดนั้นๆ เกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ อย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่มีเฉพาะอกุศลจิต กุศลจิตก็มี คำพูดที่มีประโยชน์ก็มีมากเหมือนกัน

คำพูด ขึ้นอยู่กับกุศลจิตและอกุศลจิตว่า ท่านจะพูดด้วยกุศลจิต หรือท่านจะพูดด้วยอกุศลจิต ถ้าเป็นการพูดด้วยอกุศลจิต ไม่มีประโยชน์กับบุคคลใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ควรละเว้น ควรระลึกได้ ควรรู้ว่า ไม่ควรเลยที่จะกล่าว

คำพูดบางคำอาจสามารถพลิกชีวิตของบุคคลอื่นได้ทั้งชีวิตทีเดียว เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ ทำให้เกิดความเสียใจอย่างมากมาย ทำให้ประพฤติในทางที่ไม่เหมาะไม่ควรต่างๆ ซึ่งถ้าบุคคลนั้นงดเว้น วิรัติคำพูดอย่างนั้นเสีย ก็จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะไม่ควรอย่างนั้นขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะวิรัติวจีทุจริต โดยสติเกิดขึ้นรู้ว่า เป็นวจีทุจริตที่ไม่ควรจะกล่าว และอบรมเจริญวจีสุจริต พูดด้วยกุศลจิตมากขึ้น การพูดด้วยกุศลจิตทั้งหมดย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง โดยเฉพาะในการที่จะพูดถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด หรือว่าเป็นการสนทนาธรรม เป็นการสอบถามธรรม เพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า คำพูดต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ เป็นคำพูดที่เกื้อกูลแก่สหายธรรม

แต่เรื่องของคำพูด แม้ว่าเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ เป็นการพูดเรื่องของธรรมโดยละเอียด แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจเจตนา ไม่เห็นคุณของการที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมโดยละเอียด กลับเข้าใจเป็นอย่างอื่น เห็นว่าเป็นการติเตียนผู้อื่นก็ได้

แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ยังมีผู้เข้าใจผิด คิดว่า พระองค์ตรัสติเตียนบุคคลอื่น แทนที่จะเห็นคุณของการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอกุศลธรรมทั้งหมดโดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลให้พุทธบริษัทได้เห็นชัดว่า อกุศลธรรมนั้นมีประการใดบ้าง

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๘ ซึ่งมีข้อความว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมด ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหา ติเตียนไซร้ ดูกร อุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน ฯ

อุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอผุดขึ้นเท่านั้นด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอเอ่ยขึ้นเท่านั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจับด้วยบ่วง คือ วาทะอันใหญ่ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อุปกะ เราบัญญัติแล้วว่า นี้เป็นอกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า อกุศลนี้นั้นแลควรละเสีย บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้อกุศลนี้ควรละเสีย

อนึ่ง เราบัญญัติไว้แล้วว่า นี้เป็นกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติ ว่า กุศลนี้นั่นแลควรบำเพ็ญ บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า กุศลนี้ควรบำเพ็ญแม้เพราะเหตุนี้

ลำดับนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ครั้นแล้วได้กราบทูลการสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคทั้งหมดนั้น แก่พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร

เมื่ออุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหิบุตรทรงกริ้ว ไม่ทรงพอพระทัย ได้ตรัสกะอุปกมัณฑิกาบุตรว่า

เจ้าเด็กลูกชาวนาเกลือนี่อวดดี ปากกล้า บังอาจ จักสำคัญพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า ควรรุกราน เจ้าอุปกะจงหลีกไป จงพินาศ ฉันอย่าได้เห็นเจ้าเลย ฯ

ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค สูตรที่ ๘ ข้อ ๑๘๘ มีข้อความว่า

ได้ยินว่า อุปกะ บุตรของนางมัณฑิกาผู้นี้ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระเทวทัต เขาได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อจะกำหนดว่า เมื่อเราเข้าไปยังสำนักของพระองค์ พระองค์จะทรงชมเชย หรือจะทรงติเตียน

นี่คือใจจริง แสดงให้เห็นว่า การยึดติดในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคลนั้นมากเพียงไร

อาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า อุปกมัณฑิกาบุตรนั้นฟังคำว่า ท่านพระเทวทัตเป็นคนนรก เป็นคนตั้งอยู่ตลอดกัป เป็นคนแก้ไขไม่ได้ ดังนี้แล้ว ปรารถนาจะกระทบกระทั่งพระศาสดา จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ก็มี

อุตส่าห์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงเขาคิชฌกูฏ เพื่อที่จะพูดกระทบกระทั่งพระผู้มีพระภาค เป็นเพราะกิเลสที่จะแสดงออกไปทางวาจา ซึ่งเมื่ออุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมด ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน

ใจของผู้ที่ยังมีกิเลส มุ่งที่จะติเตียนบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ก็เห็นว่า ในขณะที่กำลังติเตียนบุคคลอื่น หรือว่าพูดเรื่องอกุศลต่างๆ นั้น ไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ที่ถูกครหาติเตียน แต่ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุปกมัณฑิกาบุตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างเดียวกับที่อุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูล แต่ความหมายผิดกัน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้

คือ ติเตียนด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยกุศลจิต

เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียนไซร้ ดูกร อุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน

เพราะฉะนั้น เรื่องของวาจา ก็แล้วแต่สภาพของจิต พูดเรื่องธรรมที่เป็นอกุศลโดยละเอียด แต่พูดด้วยกุศลจิตได้ เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจสภาพธรรมนั้นโดยแจ่มแจ้ง อย่างเช่น ท่านผู้ฟังที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่บางท่านก็โกรธ ไม่พอใจว่า ทำไมพูดว่า ยังคงยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล บางคนบอกว่า ตัวตนเกือบจะหายไปหมดแล้ว ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ตราบใดที่ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง การยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต้องมี ยังมีอยู่จริงๆ แต่ไม่พอใจที่จะรู้สภาพความจริงอย่างนี้ ไม่พอใจที่บุคคลอื่นกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมโดยละเอียด

ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

บทว่า ปรูปารมฺภํ วตฺเตติ ได้แก่ กล่าวติเตียนคนอื่น

บทว่า สพฺโพ โส น อุปฺปาเทติ คือ เขาทุกคนหาทำกุศลธรรมให้บังเกิดขึ้นไม่ ดังนี้ ความว่า ไม่สามารถเพื่อจะทำให้สมควร

บทว่า อนุปฺปาเทนฺโต คารยฺโห โหติ คือ เมื่อไม่อาจให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้ ก็ควรเป็นผู้ถูกติเตียน ดังนี้ ความว่า บุคคลเมื่อไม่อาจให้กุศลธรรมบังเกิดขึ้นอยู่ คือว่า เมื่อไม่อาจทำถ้อยคำของตนที่พูดออกไปแล้วให้สมควรได้ ก็ย่อมเป็นผู้ควรถูก ติเตียน

การกระทำใดๆ ถ้าเป็นไปด้วยอกุศลจิต แม้วาจาที่เป็นไปด้วยอกุศลจิต ก็ย่อมไม่อาจทำถ้อยคำของตนที่พูดออกไปแล้วให้สมควรได้ ข้อนี้พอจะพิจารณาเห็นได้ ใช่ไหม เวลาพูดด้วยอกุศลจิต มีคำพูดที่แรงเกินไปบ้าง หรือว่าไม่ควรที่จะเป็นในลักษณะกระทบกระเทียบ เปรียบเปรย เสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ก็เป็นไปแล้วด้วยอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอกุศลจิต ไม่อาจทำให้ถ้อยคำของตนที่พูดออกไปแล้ว ให้สมควรได้ ก็ย่อมเป็นผู้ควรถูกติเตียน

ท่านผู้ฟังน่าจะย้อนระลึกถึงตัวท่านเองว่า ในขณะที่กล่าววาจาอย่างนั้น เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้หรือไม่ได้ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ้างหรือเปล่า

บทว่า อุปวชฺโช ควรถูกกล่าวหา ดังนี้ ความว่า บุคคลนั้นควรถูกครหา หรือเป็นผู้เข้าถึงแล้วด้วยโทษ อธิบายว่า เป็นผู้มีโทษ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงจับวาทะของอุปกมัณฑิกาบุตรนั้น ราวกับว่าสวมอยู่ที่คอของอุปกมัณฑิกาบุตรนั้นเอง จึงตรัสพระดำรัสว่า ปรูปารมฺภํ เป็นต้น คือ ได้แก่การกล่าวติเตียนบุคคลอื่น

บรรดาบททั้งหลายเหล่านั้น ในบททั้งหลายมีอาทิว่า อปริมาณา ปทา มีอธิบายว่า บทที่เป็นเหตุให้รู้ก็ดี อักษรทั้งหลายก็ดี ธรรมเทศนาก็ดี ในคำว่า ในข้อนั้นเป็นกุศลดังนี้ ชื่อว่า ไม่มีประมาณทีเดียว

บทว่า อิติปีทํ อกุสลํ ความว่า แม้บททั้งหลายที่มาแล้วในอกุศลบัญญัติอย่างนี้ว่า แม้นี้ก็เป็นอกุศล แม้นี้ก็เป็นอกุศล ด้วยเหตุแม้นี้ ด้วยเหตุแม้นี้ ก็เป็นอกุศล ดังนี้ ชื่อว่า หาประมาณมิได้ แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น คือ โดยอาการอย่างอื่น ผู้ศึกษาก็พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งปวงโดยอุบายนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพึงทรงแสดงธรรมนั้น แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เทศนาของพระองค์ก็พึงเป็นเทศนาที่มีประมาณหามิได้ สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า เทศนาของพระผู้มีพระภาคนั้นมีปริยาย คือ ข้อกำหนด หามิได้ บทแห่งธรรม และพยัญชนะกำหนดมิได้ ดังนี้

ถ. การกล่าวมุสาพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า มีอกุศลจิตอย่างเดียว ในสูตรก่อนๆ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า อกุศลกรรมต่างๆ มีโลภะเป็นเหตุบ้าง มีโทสะเป็นเหตุบ้าง มีโมหะเป็นเหตุบ้าง เท่าที่ผมสังเกต บางครั้งพูดโกหกด้วยกุศลจิต ก็มี อาจจะเป็นเพราะผมเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงคลาดเคลื่อนหรืออย่างไร ตัวอย่างเช่น คนแก่บางคนตระหนี่ และลูกก็มีความกตัญญูอยากจะให้ท่านรับประทานผลไม้อร่อยๆ เช่น ซื้อทุเรียนมาลูกละ ๑๐๐ บาท ถ้าบอกท่านตรงๆ ว่า ซื้อมา ๑๐๐ บาท ท่านจะไม่ยอมกิน เลยโกหกเสียว่า ลูกนี้ ๑๕ บาท เพื่อท่านจะได้กินทุเรียนนั้นผมเข้าใจว่า เป็นความกตัญญู ไม่ใช่อกุศลจิตเลย

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นความเมตตา สมมติว่ามีเพื่อนไปเที่ยวด้วยกัน และเพื่อนประสบอุบัติเหตุ กลับมาบ้านแล้ว พ่อแม่ของเพื่อนก็ถามว่า ทำไมลูกเขาไม่กลับมา ผู้ที่กลับมาจึงจำเป็นต้องโกหกเพื่อไม่ให้พ่อแม่ของเพื่อนเป็นทุกข์ หรือเป็นลมไป การโกหกแบบนี้เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า อกุศลกรรมต่างๆ จะต้องมีโลภะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นเหตุ และกุศลจิตไม่ได้ทำให้อกุศลกรรมเกิดขึ้นได้เลย แบบนี้ยังคงสงสัยอยู่

เปิด  175
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565