แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 394

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ตัวตนจะมากสักแค่ไหน ถ้าขณะนั้นไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ไม่เหมือนกันเลย ที่กำลังเห็นนี้ก็อย่างหนึ่ง ที่กำลังได้ยิน ขณะที่ได้ยินนี้ ถ้าสติเกิดรู้ ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง กำลังคิด จะคิดเดี๋ยวนี้ก็ได้ ในขณะนี้ ลักษณะที่คิดก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง กำลังขุ่นเคืองใจ ทางหนึ่งทางใดก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏ ก็เป็นสภาพลักษณะที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิด เป็นแต่ละลักษณะไปจริงๆ ที่สติจะต้องระลึกรู้มากขึ้น

จากข้อความในจดหมายที่ว่า แม้ว่าจะได้ท่องภาวนาคำว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา นี่ไม่ใช่ตัวเรา ทุกวัน จนกระทั่งบังเกิดความเบื่อในทุกสิ่งทุกอย่าง

นี่ด้วยความเป็นตัวตนหรือเปล่าที่เบื่อ ตราบใดที่ยังไม่เป็นแต่เพียงนามธรรม แต่ละลักษณะ รูปธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ แม้ความเบื่อนั้น ก็เป็นตัวตนที่เบื่อ เพราะไม่ได้รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่ว โดยตลอดจริงๆ

และข้อความที่ว่า จนวันหนึ่งหนูเกิดความสงบภายในใจ คือว่า ไม่มีความรู้สึกใดๆ ภายในใจของหนูเลย นอกจากการรู้สึกเฉยๆ เหมือนหุ่นที่เดินได้

เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเห็น เพราะต้องมีเห็นแน่ และต้องมีได้ยินด้วย แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องมีการรับประทานอาหาร ต้องมีการพูด ต้องมีการประกอบกิจการงานต่างๆ แต่เพราะไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเหล่านั้น ก็ปรากฏแต่เพียง มีความรู้สึกเฉยๆ เหมือนหุ่นที่เดินได้ ไม่มีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นเลย นอกจากความเฉยๆ

และข้อความในจดหมายที่ว่า พร้อมกันนั้นทุกครั้งที่หนูมองทุกๆ คน จะกลายเป็นมองเห็นโครงกระดูกไปหมด ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเดินหรือนั่ง หรือทำอาการเช่นไร หนูจะมองเห็นเขาเหล่านั้นกลายเป็นโครงกระดูกทำอาการเช่นนั้น ทีแรกหนูก็เข้าใจว่า หนูตาฝาด แต่เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นเวลา ๖ วันเต็ม จากนั้นหนูก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติ แต่สิ่งที่ติดอยู่ยังไม่หาย คือ ความเบื่อหน่าย จนปัจจุบันนี้ ความเบื่อหน่ายนั้นก็ยังปรากฏแก่หนูบ่อยๆ ครั้ง

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะมองเห็นเป็นโครงกระดูกไปหมด แต่ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ นี่คือ ความลึก ความเหนียวแน่นของกิเลสจริงๆ ถ้าปัญญาไม่เกิดความรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจที่กำลังปรากฏแล้ว ไม่มีหนทางอื่นเลย ไม่ว่าจะเห็นโครงกระดูกตั้ง 6 วัน ก็ยังดับกิเลสใดๆ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

แต่ก็ยังดีที่ท่านผู้ฟังท่านนี้ไม่ติดในการเห็นโครงกระดูก หรือว่าในความเบื่อหน่าย เพราะพยายามที่จะอบรมเจริญสติ แต่เวลาที่ท่านเจริญสติ เท่าที่ได้เขียนมา เป็นเรื่องการนึก เป็นการตรึกถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะท่านกล่าวว่า การที่หนูเจริญสติ เช่น เมื่อได้ยินเสียง หนูจะเจริญว่า นามรู้รูปทางหู แสดงให้เห็นว่า เป็นการตรึก นึกเตือนขึ้นมาว่า นามรู้รูปทางหู ขณะนั้นไม่ได้ใส่ใจ น้อมไปที่จะรู้ว่า สภาพรู้เสียงที่กำลังได้ยินนั้น เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นเพียงอาการรู้

นี่เป็นความละเอียดของแต่ละท่าน เพราะถึงแม้ว่าบางท่านจะเกิดการนึกขึ้นมาว่า นามรู้รูปทางหู แต่ก็มนสิการได้ทันทีว่า ที่นึกว่านามรู้รูปทางหู ไม่ใช่ในขณะที่กำลังได้ยิน เป็นลักษณะที่ต่างกัน จึงต้องอาศัยการสังเกตจริงๆ สำเหนียกจริงๆ จนกว่าจะเป็นการเพิ่มความรู้ขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ และจะทำให้ท่านผู้ฟังที่อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ทราบว่า การที่ปัญญาจะเริ่มรู้ขึ้น ก็ต้องอาศัยเวลาที่สภาพธรรมใดปรากฏ สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นนั่นเอง ปัญญาจึงจะเพิ่มขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกายเท่านั้น แม้แต่โทสะ ความไม่พอใจ แม้แต่ความถือตัว มานะ ความริษยา หรือว่ากิเลสใดๆ ที่มี ที่สะสมมา มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ก็รู้ตรงลักษณะอาการนั้นๆ โดยทั่ว และจะเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมแต่ละชนิด เป็นเพียงสภาพลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิดจริงๆ

ขณะนั้นเป็นการอบรมปัญญา ที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่เว้น แล้วแต่ว่า สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด ในขณะใด แต่ให้สำเหนียก สังเกตว่า ปัญญาเพิ่มขึ้นบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้น ก็อบรมไปอย่างนี้ จนกว่าจะค่อยๆ เป็นความรู้ขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ขอต่อเรื่องของศีลข้อที่ ๔ คือ การงดเว้นจากคำพูดเท็จ

ศีลข้อที่ ๔ คือ มุสาวาทา เวรมณี การละเว้น งดเว้นจากการพูดเท็จ

บางท่านเห็นว่า มุสา คือ การพูดเท็จ เป็นเรื่องเล็ก คงจะไม่มีความสำคัญอะไรนัก คงจะไม่เป็นโทษเท่ากับอกุศลกรรมอื่น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่า ถ้าเกิดมุสาขึ้นขณะใด แสดงให้เห็นถึงสภาพจิตที่เสื่อมแล้วเพราะอกุศลธรรมในขณะนั้น

อกุศลมากเหลือเกิน ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จริงๆ จะไม่ทราบเลยว่า อกุศลธรรมที่ได้สะสมมา จะมีปัจจัยที่ทำให้กระทำกายกรรม และวจีกรรมอะไรบ้าง

ธรรมเป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน และก็คงจะมีบ้างใช่ไหมที่เกิดมุสาขึ้น ซึ่งถ้าเป็นกุศล ก็ไม่มุสา แต่ที่มุสา เพราะอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พูดสิ่งที่ไม่จริง ก็ต้องเป็นเพราะอกุศลธรรม

สำหรับพระอริยบุคคลที่ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านเห็นโทษแม้ในเรื่องของมุสา ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสามารถที่จะดับมุสาวาทได้เป็นสมุจเฉท เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะเห็นได้จริงๆ ว่า แม้ว่าท่านยังดับมุสาวาทไม่ได้โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทก็จริง แต่ท่านก็เพียรที่จะละ ซึ่งก็มีท่านที่เจริญสติปัฏฐานได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตจริงของท่าน ในเรื่องของมุสาวาท และก็เพียรที่จะละมุสาวาท

อย่างท่านผู้หนึ่ง ท่านบอกคนอื่นว่า ท่านรับประทานยาแล้ว ซึ่งความจริงยังไม่ได้รับประทาน และท่านก็รู้ว่า ขณะนั้นล่วงไปแล้ว เป็นมุสาวาทแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็รีบเดินไปรับประทานยา เพื่อที่จะได้ไม่เป็นมุสาวาท

ผู้ที่มีสติ มีหิริเกิดขึ้น ท่านก็รังเกียจ แม้แต่การกระทำเล็กๆ น้อยๆ เช่น มุสาวาท เป็นต้น ท่านก็เพียรที่จะละ แม้ว่ายังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็ยังเห็นว่า สภาพของจิตได้เสื่อมไปแล้วเพราะอกุศลธรรมโดยรวดเร็ว ซึ่งท่านก็คิดแก้ไขทีหลัง เพราะสติเกิดขึ้น รู้ว่าเป็นมุสาวาท

มีท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สหายของท่านถามว่า จะไปยังสถานที่หนึ่งไหม ความจริงท่านตั้งใจจะไป แต่เกรงว่าจะลำบากสำหรับเพื่อนที่ถาม เพราะเขาอาจจะต้องเสียเวลาไปส่งยังสถานที่ที่นั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็สั่นหน้า แต่เวลาที่ท่านสั่นหน้า ท่านคิดในใจว่า ท่านไม่บอก ไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่ไป ก็เป็นการที่ท่านจะไม่มุสา เวลาที่สติเกิด ซึ่งเป็นปัจจัยให้ท่านทำอาการนั้นๆ เมื่อถึงที่นั่นแล้ว ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังว่า ที่ท่านสั่นหน้าเมื่อสักครู่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่ไป แต่ท่านหมายความว่า ท่านไม่บอกว่าท่านจะไปหรือไม่ไป แสดงว่าท่านไม่มีเจตนาที่จะมุสา

นี่เป็นเรื่องของผู้ที่มีสติ และมีหิริในการที่จะดับมุสาวาทให้เป็นสมุจเฉท แต่เมื่อยังไม่เป็นสมุจเฉท ก็พากเพียรไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะเห็นอกุศลธรรม และเกิดหิริ เกิดความรังเกียจ และก็พากเพียรที่จะละเว้น ขัดเกลาไปพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐานด้วย

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านผู้ฟัง ซึ่งคงจะมีมุสาวาทบ้างโดยประการหนึ่งประการใด เล็กๆ น้อยๆ เป็นไปในเรื่องใดก็ตาม ได้ทราบว่า อะไรเป็นเหตุให้กล่าวมุสาวาทขึ้น

อย่างบางท่าน ความที่ติดในสรรเสริญ อยากจะให้คนอื่นชมว่า ท่านนี้เก่ง ทำอะไรก็เก่ง ทำอะไรก็อร่อย บางทีท่านไม่ได้ทำเลย ทั้งๆ ที่คนทำก็นั่งอยู่ด้วย แต่คนนั้นก็ยังสามารถที่จะอ้างได้ว่า อาหารนั้นท่านทำเอง เห็นกำลังของกิเลสไหม ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในสรรเสริญ ในคำชม ก็เป็นปัจจัยให้กล่าวมุสาวาทได้ ทั้งๆ ที่ผู้ทำก็นั่งอยู่ที่นั่น แต่คนนั้นก็ยังกล่าวออกมาหน้าตาเฉยว่า ท่านทำอาหารนี้ ซึ่งเป็นมุสาวาทแท้ๆ เกิดขึ้นแล้ว เพียงต้องการคำชมจากบุคคลอื่นว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำอาหาร ก็เป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาทได้

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านพิจารณาตัวของท่านเอง จะเห็นได้ว่า ท่านเองมุสาวาทเพราะเหตุใด เพราะยังมีความติดในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในคำสรรเสริญ และที่มุสานั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า เป็นภัย เสียหายแก่บุคคลอื่นมากน้อยเพียงไรหรือไม่

บางท่านไม่ทราบเลยจริงๆ ว่า คำไม่จริงที่ท่านกล่าว เป็นภัย เป็นอันตรายเสื่อมเสีย ทำความเสียหายให้บุคคลอื่นมากน้อยเพียงไร ถ้าท่านจะสังเกตจากคำพูดของชาวโลกโดยทั่วๆ ไป จะเห็นว่า เรื่องไม่จริงนี้พูดได้เร็วมาก ง่ายมาก เพียงได้ยินได้ฟังมา พูดต่อทันที ขาดการที่จะพิจารณาว่าถูกหรือผิด จริงหรือเท็จ ควรหรือไม่ควร เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ กระทบกระเทือนบุคคลอื่น ทำให้เขาเสียหาย แม้ในเรื่องชื่อเสียง ในเรื่องเกียรติยศ รวมความไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ การงาน ความก้าวหน้าของเขาบ้างหรือไม่

บางคนไม่คิดเลย ท่านอาจจะอ้างว่า ท่านได้ยินมาอย่างไร ท่านก็พูดไปอย่างนั้น แต่สิ่งที่ได้ยินนี้จริงหรือไม่ ยังไม่ทราบเลย แต่ก็พูดไปเสียแล้ว และคนที่ถูกกล่าวหา ที่ท่านพูดถึงนั้น จะเสียหาย จะได้รับความกระทบกระเทือนอย่างไร ท่านก็ไม่คำนึงถึง

ถ้าท่านจะย้อนคิดถึงอกเขาอกเรา ทุกท่านก็คงจะถูกกล่าวหาในเรื่องไม่จริงมาบ้างแล้วทั้งนั้นใช่ไหม หรือมีใครบ้างไหม ที่คนอื่นไม่เคยพูดเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับตัวท่านเลย ซึ่งบางเรื่องอาจจะฟังแล้วตกใจว่า นี่เรื่องของตัวเราหรือ เพราะว่าไม่เป็นความจริงเลยแม้สักเพียงนิดหน่อย เวลาที่ท่านยังไม่เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่จริง ท่านจะไม่ทราบถึงความรู้สึกว่า คนที่ถูกกล่าวหานี้จะรู้สึกอย่างไรบ้าง จะเสียใจไหม หรือจะเกรงว่าคนอื่นจะเข้าใจผิดมากน้อยเพียงไร

แต่ถ้าท่านคิดถึงอกเขาอกเรา เขาถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่จริง กระทบกระเทือนเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติยศเพียงไร ถ้าเป็นตัวท่าน ก็เหมือนกัน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ อาจจะเกิดหิริ และก็พิจารณาไตร่ตรอง สอบสวนเรื่องราวจริงเท็จก่อนที่จะพูด รวมทั้งพิจารณาด้วยว่า เป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควรจะพูด ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรที่จะทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย หรือว่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้มากขึ้น ก็คงจะปลอดภัยจากคำพูดที่ไม่จริง จากบุคคลอื่นที่กล่าวหาท่านได้

สำหรับเรื่องของมุสาวาทนี้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เห็นผิดในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล เป็นพระอริยเจ้า จะดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ว่าผู้ที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ถ้าท่านพิจารณาจะเห็นว่า มุสาทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดจากการติดในกามารมณ์ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างเหนียวแน่น หนาแน่นนั่นเอง

และการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของกามบุคคล ในกามภูมิ ขอให้ท่านสังเกตดูว่า ติดมากน้อยแค่ไหน เฉพาะทางตาเท่านั้น การติดในรูปก็ติดมากเหลือเกิน และก็คงจะติดในรูปของตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม มีการแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ตั้งแต่ผม คิ้ว ตา จมูก ปาก อะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดที่ท่านพอใจจะให้เป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใด นั่นก็เป็นเพราะการติดในรูปที่ปรากฏทางตา

สำหรับผู้ที่ติดมาก ท่านจะสังเกตได้จริงๆ ว่า ท่านที่ต้องการความสวยงาม และท่านก็ปฏิบัติตนเองไปตามความต้องการของท่าน อาจจะสวยงามเรียบร้อยถูกใจท่านทุกประการแล้ว แต่การติดยังไม่หยุด หรือว่ายังไม่พอเพียงแค่นั้น ยังต้องการให้คนอื่นชม ติดเพิ่มขึ้นหรือเปล่า และก็ยังชื่นชมในคำชมของคนอื่นด้วย เกิดความดีใจ บางคนดีใจไปหลายวัน และคำชมนี้ครั้งเดียวก็ยังไม่พอ ถามแล้ว ถามอีก อยากจะให้ชมซ้ำไปซ้ำมาสัก ๓ ครั้ง เป็นความจริงหรือเปล่า

ลองสังเกตมิตรสหายเพื่อนฝูงก็ได้ว่า เป็นอย่างนั้นไหม บางคนพอได้รับคำชม ยังถามอีกว่า จริงหรือ ที่ไหน เมื่อไร ชมว่าอย่างไร ซ้ำไปอีก ความติดมากมายเท่าไร ทางตาก็มากแล้ว ทางหู การติดในเสียง ก็ไม่ได้น้อยกว่า

นี่ก็เป็นเรื่องของทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ติด แสวงหา ได้มายังไม่พอ ยังต้องการแม้คำสรรเสริญ คำยกย่อง คำชมเชย ในสิ่งซึ่งท่านก็มีแล้ว

แม้ว่าท่านได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีทุกประการ แต่ยังต้องการเพิ่มกว่านั้นอีก คือ คำชม นี่เป็นมูลเหตุที่จะให้เกิดมุสาวาทขึ้นได้ ถ้าท่านติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาก จนกระทั่งแม้ไม่จริง ก็หลอกตัวเองได้ หรือว่าหลอกคนอื่นก็ได้ หรือว่าพูดไม่จริงก็ได้ เพื่อที่จะให้คนอื่นชื่นชม หรือพอใจ

บางครั้งก็อาจจะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการงานหน้าที่ เมื่อท่านมีความต้องการในลาภ ในวัตถุ ก็เป็นปัจจัยให้ท่านมุสาได้ หรือแม้ว่าในเกียรติยศ ในชื่อเสียง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดการมุสาวาทได้

ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ อุโบสถสูตร แสดงเรื่องของมุสาวาทไว้ ซึ่งใน มโนรถปูรณี ได้อธิบายข้อความใน พระสูตรนี้ เกี่ยวกับการรักษาอุโบสถศีล ซึ่งจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลของฆราวาสนั้น ก็เพื่อที่จะได้สะสมอุปนิสัยปัจจัยในการที่จะมีคุณธรรมเช่นพระอรหันต์ ในวันหนึ่ง

ข้อความในอรรถกถา มโนรถปูรณี มีว่า

บทว่า มุสาวาท ซึ่งหมายความถึง มุสาวาทา เวรมณีนั้น ได้แก่ เว้นจากคำเหลาะแหละ คือ จากคำที่เปล่าประโยชน์

ขอให้พิจารณาดูตัวท่าน เพื่อประโยชน์แก่หิริ และการขัดเกลา

ชนเหล่าใดย่อมกล่าวคำสัตย์ เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า สจฺจวาที คือ ผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์

นี่เป็นบุคคลหนึ่ง คือ ท่านกล่าวคำจริงเสมอ พูดแต่เรื่องจริง เว้นคำเหลาะแหละ เว้นคำที่เปล่าประโยชน์ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติกล่าวคำสัตย์แล้ว ก็เป็น สัจจวาที

เปิด  186
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565