แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 374

ท้าวสักกเทวราชนั้น ทรงรีบเร่งอยู่ เพราะพระองค์ประสงค์จะเสวยการเล่น จึงกราบทูลถามอย่างนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ดูกร จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วหายไปในที่นั้นนั่นเอง

ชีวิตปกติประจำวันธรรมดาหรือเปล่าที่ว่า ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง เพราะเหตุว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

ปปัญจสูทนี อรรถกถา มีข้อความว่า

ในพระบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายไม่ควรเพื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นนี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ชื่อว่าธรรมทั้งปวง ธรรมแม้ทั้งปวงเหล่านั้นไม่ควร คือ ไม่เหมาะ ได้แก่ ไม่สมควร คือ ไม่ควรแล้วเพื่อการยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจแห่งตัณหาและทิฏฐิ เพราะเหตุไร เพราะอรรถว่า ไม่ดำรงอยู่ได้ด้วยอาการที่ยึดถือนั้น

ข้อความอธิบายต่อไปว่า

จริงอยู่ธรรมทั้งปวงเหล่านั้น แม้ที่เรายึดถือว่าเที่ยง แต่ก็ปรากฏว่า ไม่เที่ยงเลย แม้ที่เรายึดถือว่าเป็นสุข แต่ก็ปรากฏว่า ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง แม้ที่เราถือว่าเป็นตัวตน แต่ก็ปรากฏว่า หาตัวตนมิได้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งปวงจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

นี่เป็นสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง แม้ที่เรายึดถือว่าเที่ยง แต่ก็ปรากฏว่า ไม่เที่ยงเลย เวลานี้คงจะยึดถืออะไรหลายอย่างว่าเที่ยง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้ดับไปให้ประจักษ์ เพราะฉะนั้น ก็ยึดถือว่า ขณะนี้ที่กำลังปรากฏนี้เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ประจักษ์การเกิดดับ และแม้ว่าจะยึดถือว่าเที่ยงอย่างนี้ แต่ก็ปรากฏตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยงเลย ทั้งนามธรรม รูปธรรม ทั้งเวทนา ทั้งความรู้สึกว่าเป็นสุข ก็ไม่เที่ยง ความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ก็ไม่เที่ยง ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ไม่เที่ยง

แม้ที่เรายึดถือว่าเป็นสุข แต่ก็ปรากฏว่า ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะว่าสุขนั้นไม่ได้ดำรงอยู่ สุขสักเท่าไรเมื่อวานนี้ ก็หมดสิ้นไปแล้วเมื่อวานนี้ สุขสักเท่าไรเมื่อเช้านี้ก็หมดไปแล้วเมื่อเช้านี้

เพราะฉะนั้น แม้ที่เรายึดถือว่าเป็นสุข แต่ก็ปรากฏว่า ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเองเพราะเหตุว่าไม่เที่ยง แม้ที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ก็ปรากฏว่า หาตัวตนมิได้เลย

นามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ดูช่างเป็นเรา เป็นของเรา และเป็นตัวตนของเราจริงๆ แต่แม้กระนั้น แม้ที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ก็ปรากฏว่า หาตัวตนมิได้เลย ซึ่งตามความเป็นจริง เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

บทว่า อภิชานาติ ได้แก่ ภิกษุย่อมรู้ด้วยญาตปริญญาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

บทว่า ปริชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้เหมือนอย่างนั้นด้วยตีรณปริญญา

ไม่พ้นไปจากการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในขั้นญาตปริญญา หรือตีรณปริญญา เมื่อเป็นปัญญาที่รู้จริง คมกล้าขึ้น สามารถที่จะละคลายได้ยิ่งขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

สามบทว่า ยํ กิญฺจิ เวทนํ ได้แก่ ย่อมตามเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ประกอบด้วยปัญจวิญญาณ แม้จะมีประมาณน้อย พระผู้มีพระภาคทรงยังธรรมนี้ให้บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพ ด้วยอำนาจแห่งเวทนา แล้วจึงทรงแสดงการพิจารณาอรูป

ท้าวสักกะจอมเทพกำลังปรารถนาสุขเวทนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในการเล่นที่อุทยาน ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงลักษณะของเวทนา ที่ปัญญาจะต้อง ตามเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ประกอบด้วยปัญจวิญญาณแม้จะมีประมาณน้อย

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังธรรมนี้ให้บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพด้วยอำนาจแห่งเวทนาแล้ว จึงทรงแสดงการพิจารณาธรรมอื่นต่อไป

ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า

บทว่า อนิจฺจานุปสฺสนา ความว่า การเห็นขันธ์ทั้งหลายโดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ชื่อว่าญาณ

ที่จะเป็นอนิจจานุปัสสนาได้นี้ ต้องเห็นขันธ์ทั้งหลาย ไม่ใช่มุ่งเจาะจงไปรู้รูปเดียว ไม่รู้นามอื่นรูปอื่นเลย แล้วจะให้เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ เป็นไปไม่ได้ การยึดถือขันธ์ ย่อมยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น อนิจจานุปัสสนานั้น คือ การเห็นขันธ์ทั้งหลายโดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ชื่อว่าญาณ

เมื่อสิ้นไป เสื่อมไปแล้ว จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้

บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี ความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยญาณนั้น เพราะฉะนั้น จึงมีคำอธิบายในข้อนี้ว่า คำว่า อนิจฺจานุปสฺสี วิหรติ ได้แก่ ตามเห็นสังขารทั้งหลายโดยความไม่เที่ยงอยู่

ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะเป็นอนิจจานุปัสสี วิหรติได้นั้น คือ ตามเห็นสังขารทั้งหลายโดยความไม่เที่ยงอยู่

ไม่เว้น และต้องเป็นปัญญาจริงๆ รู้จริงๆ ว่า ความไม่เที่ยงนั้น เป็นนามไม่เที่ยง หรือว่าเป็นรูปไม่เที่ยง เป็นนามธรรมทางตาที่ไม่เที่ยง หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่เที่ยง เป็นรูปธรรมใดที่ไม่เที่ยง ต้องมีปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ ว่า สภาพใด ขันธ์ใด ไม่เที่ยง

ข้อความต่อไปมีว่า

วิปสฺสนา ชื่อว่าสละคืน ด้วยการบริจาค

สละคืนนี้มี ๒ คือ ด้วยการบริจาค ๑ ด้วยการแล่นไป ๑

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

จริงอยู่ วิปัสสนานั้น ย่อมสละคืนกิเลสทั้งหลายเสียด้วย สละคืนขันธ์ทั้งหลายเสียด้วย ด้วยตทังคปหาน

กิเลสจะต้องคลายลง พร้อมทั้งสละคืนขันธ์ ขันธ์ที่เคยปรารถนา เคยยึดถือ เคยอยากได้มากมายเหลือเกิน เวลาที่ประจักษ์ชัดในการเกิดขึ้นและดับไป เป็น อนิจจานุปัสสนา และบุคคลนั้นเป็นอนิจฺจานุปสฺสี วิหรติ คือ ตามเห็นสังขารทั้งหลายโดยความไม่เที่ยง ย่อมไม่มีความปรารถนาขันธ์ที่เคยต้องการมากๆ ภพชาติต่อๆ ไปนานๆ หลายๆ ชาติ วิปัสสนาปัญญานั้น ทำให้สละคืนกิเลสทั้งหลายที่ไม่เคยรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นด้วย และสละคืนขันธ์ทั้งหลายที่เคยปรารถนา เคยต้องการนั้นด้วย แต่อย่าลืมว่า การสละคืนนี้ด้วยตทังคปหาน ยังไม่เป็นสมุจเฉทเมื่อกิเลสยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ยังไม่ใช่การสละคืนด้วยการแล่นไป

ข้อความต่อไป

สำหรับอริยมรรคจิตนั้น มรรค ชื่อว่าสละคืนด้วยการแล่นไป เพราะเหตุว่า จริงอยู่ มรรคนั้นย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานโดยอารมณ์

สำหรับบุคคลผู้อบรมเจริญปัญญา ประกอบด้วยการสละคืนทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี คือ เป็นผู้ที่มีปกติตามเห็นด้วยการสละคืน เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยการตามเห็นด้วยการสละคืนนั้น

คำว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาบุคคลเช่นนี้

หลายบทว่า น กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ความว่า ย่อมไม่ยึดมั่นสังขาร แม้อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยอำนาจแห่งตัณหา คือ ไม่ถือเอา คือ ไม่ถูกต้อง คือ ไม่ยึดถืออยู่ จึงไม่สะดุ้ง ด้วยความสะดุ้งด้วยตัณหาทั้งหลาย

จูฬตัณหาสังขยสูตร มีข้อความที่ควรจะได้ทราบต่อไปว่า

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค มีความดำริว่า ท้าวสักกะนั้นทราบความพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบก็ยินดี ถ้ากระไร เราพึงรู้เรื่องที่ท้าวสักกะทราบความพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายไปในปราสาทของมิคารมารดา ในวิหารบุพพาราม ปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประหนึ่งว่าบุรุษที่มีกำลังเหยียดแขนที่งอออกไป หรืองอแขนที่เหยียดเข้ามา ฉะนั้น

สมัยนั้น ท้าวสักกะจอมเทพกำลังอิ่มเอิบ พร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยทิพยดนตรีหลายร้อยในสวนดอกบุณฑริกล้วน ท้าวเธอได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาอยู่แต่ที่ไกล จึงให้หยุดเสียงทิพยดนตรี ๕๐๐ ไว้ แล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วกล่าวว่า

ข้าแต่พระโมคคัลลานะผู้นฤทุกข์ นิมนต์มาเถิด ท่านมาดีแล้ว นานแล้วท่านได้ทำปริยายเพื่อจะมาในที่นี้ นิมนต์นั่งเถิด อาสนะนี้แต่งตั้งไว้แล้ว

ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะจอมเทพก็ถืออาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ถึงแม้ว่าโดยกำเนิดจะเป็นเทพ แต่โดยคุณธรรม ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ท้าวสักกะจอมเทพก็ถืออาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ข้อความในอรรถกถาได้กล่าวถึงพระสูตรนี้ไว้มาก แต่จะขอกล่าวถึงเพียงบางประการเท่านั้น

ข้อความต่อไปใน อาตตํ กลองหน้าเดียว มีว่า

สองบทว่า ปญฺจหิ ตุริยสเตหิ ได้แก่ ด้วยดนตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ มีประมาณ ๕๐๐ ชื่อว่าดุริยางค์ประกอบด้วยองค์ ๕

ท่านผู้ฟังจะพบคำว่า ดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ หลายตอนในพระไตรปิฎกเพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบความหมายของดนตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ว่าหมายความถึงอะไรบ้าง

ดนตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ คือ

๑. อาตตํ กลองหน้าเดียว

๒. วิตตํ กลองสองหน้า

๓. อาตต วิตตํ ดนตรีชนิดหนึ่ง เช่น บัณเฑาะว์ เป็นต้น

๔. สุสิรํ ดนตรีที่มีช่องสำหรับเป่า เช่น ปี่ หรือสังข์ เป็นต้น

๕. ฆนํ ดนตรีที่มีสาย เช่น พิณ เป็นต้น

บรรดาดนตรีทั้ง ๕ ชนิดนั้น ดนตรีที่มีพื้นด้านเดียวในบรรดาดนตรีทั้งหลาย มีกลอง เป็นต้น ที่ใช้หนังหุ้มไว้โดยรอบ ชื่อว่าอาตตํ ดนตรีที่มีพื้นทั้งสองด้าน ชื่อว่า วิตตํ ดนตรีที่ใช้เชือกผูกและบัณเฑาะว์ เป็นต้น ชื่ออาตต วิตตํ ปี่ เป็นต้น ชื่อว่า สุสิรํ ดนตรีที่มีสายเป็นต้น เช่น ซอหรือพิณ ชื่อว่าฆนํ

นี่เป็นดนตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕

ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามท้าวสักกะ ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วว่า

ดูกร ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาโดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้ข้าพเจ้าจักขอมีส่วนเพื่อจะฟังกถานั้น

ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามทวนถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ถึงความน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหาโดยย่อ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ ท้าวสักกะ

แต่ท้าวสักกะตรัสว่า

ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก ทั้งธุระส่วนตน ทั้งธุระของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้ว ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้นท่านฟังดี เรียนดี ทำไว้ในใจดี ทรงไว้ดีแล้ว

แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของบุคคลที่เป็นพระโสดาบันกับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งท้าวสักกะเองก็ทรงทราบว่า ในกาลบางครั้งที่ท่านบำเรออยู่ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ท่านย่อมเป็นผู้ที่หลงลืม ไม่สามารถระลึกได้ถึงข้อธรรมที่ได้ยินได้ฟัง

เป็นความจริงไหม กำลังสนุกๆ หรือว่ากำลังตื่นเต้นตกใจ ถามถึงข้อธรรม จะนึกออกไหม ให้บรรยายโดยละเอียดว่า ได้ยินได้ฟังมาว่าอย่างไรบ้าง นึกไม่ออก เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ จึงยังเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของพระอริยเจ้าในสวรรค์ชั้นใด หรือว่าชีวิตของบุคคลที่เป็นมนุษย์กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่ ก็จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะใดที่หลงลืม ลุ่มหลงด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพลิดเพลินอยู่ในขณะใด พอถูกถาม ตอบไม่ได้ ลืมไปแล้ว

ข้อความในอรรถกามีว่า

ท้าวสักกะทรงกำหนดมิได้ คือ ทรงระลึกมิได้ เพราะภาวะที่พระองค์เป็นผู้หลงลืมนั่นเอง

ขณะที่กำลังเพลินไปในกามคุณ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ย่อมจะหลงลืมข้อธรรมเป็นธรรมดา

ท้าวสักกะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

ข้าแต่ท่านพระโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่ง เวชยันตปราสาทหรือไม่

ไม่ได้ตอบข้อที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะถาม แต่กลับชวนท่านพระมหาโมคคัลลานะไปชมเวชยันตปราสาทที่น่ารื่นรมย์

ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่านพระมหาโมคคัลลานะออกหน้าแล้ว ก็เข้าไปยังเวชยันตปราสาท เมื่อให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า

ข้าแต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ขอท่านจงดูสถานที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันต ปราสาทแม้นี้ ขอท่านจงดูสถานที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

สถานที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้ ย่อมงดงามเหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็นสถานที่น่ารื่นรมย์ไหนๆ เข้าแล้ว ก็กล่าวกันว่า งามจริง ดุจสถานที่น่ารื่นรมย์ของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์

เปิด  173
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566