แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 335

ข้อความที่วิสาขอุบาสกกล่าวถามธรรมทินนาภิกษุณี จะเห็นได้ว่า เริ่มเป็นลำดับตั้งแต่คำว่า สักกายะ ซึ่งท่านผู้ฟังก็เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ สักกายทิฏฐิ ความเห็นที่ยึดถือในสิ่งที่ประชุมรวมกันว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น วิสาขอุบาสกครั้นนั่งแล้ว ได้ถามธรรมทินนาภิกษุณีว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ สักกายะ ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ

ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ ๑ เวทนูปาทานขันธ์ ๑ สัญญูปาทานขันธ์ ๑ สังขารูปาทานขันธ์ ๑ วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ

เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกัน ประชุมกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ข้อความต่อไปมีว่า

วิสาขอุบาสกชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีว่า

ถูกละ พระแม่เจ้า ดังนี้ แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย สักกายสมุทัย ดังนี้ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย

ใหม่อีกหรือเปล่าสำหรับคำนี้ บางท่านอาจจะบอกว่า ไม่เคยได้ยิน

เคยได้ยินแต่ทุกขสมุทัย แต่ถ้ากล่าวว่า สักกายสมุทัย ผู้ที่เข้าใจอรรถก็ทราบใช่ไหมว่า หมายความถึงอะไร สิ่งที่ประชุมรวมกันเป็นสักกายะ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสักกายะ อะไรเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอุปาทานขันธ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า สักกายสมุทัยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เพียงศัพท์เดียวว่า ทุกขสมุทัย เพราะเหตุว่าสักกายะ ได้แก่ สภาพธรรม คือ ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นทุกข์นั่นเอง

ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย

สำหรับท่านที่ศึกษาพระอภิธรรม หรือเข้าใจอริยสัจแล้ว ก็ไม่ยากสำหรับท่านเพราะฉะนั้น ตัณหา ความยินดีพอใจนั้น มากมายเหลือเกิน เป็นไปทั้งในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกามอารมณ์

ตัณหาอันทำให้เกิดภพใหม่ คือ ความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย

ข้อความต่อไป

วิสาขอุบาสกถามว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ สักกายนิโรธ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ

เปลี่ยนเป็นทุกขนิโรธก็ได้ใช่ไหม ถ้าเข้าใจอรรถแล้ว ซึ่งธรรมทินนาภิกษุณีก็ได้ตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ความดับ ด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพันด้วยตัณหานั้น นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ

วิสาขอุบาสกถามว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา

ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา

วิสาขอุบาสกถามว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า อุปาทาน กับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอันเดียวกัน หรืออุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕

ท่านซึ่งศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็คงจะทราบคำตอบได้นะคะ

ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อุปาทาน กับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่ อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่ ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทานในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น

คำตอบสั้นกะทัดรัด สมบูรณ์พร้อมทั้งความหมายทุกประการ

อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หมายความถึงทั้งหมด ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่อุปาทานนั้น คือ โลภเจตสิก เพราะฉะนั้น อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่ และ อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่ เพราะ ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทาน ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น

วิสาขอุบาสกถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร

ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ตามเห็นรูปในตนบ้าง ตามเห็นตนในรูปบ้าง ย่อมตามเห็นเวทนา ... ย่อมตามเห็นสัญญา ... ย่อมตามเห็นสังขารทั้งหลาย ... ย่อมตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้

วิสาขอุบาสกถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อย่างไรสักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี

ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้าง ย่อมไม่ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตนบ้าง ย่อมไม่ตามเห็นตนในรูปบ้าง ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา ... ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา ... ย่อมไม่ตามเห็นสังขารทั้งหลาย ... ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี

ท่านปฏิบัติอย่างนี้หรือเปล่า คือ ไม่ตามเห็นตนในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี

วิสาขอุบาสกถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นไฉน

ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑

วิสาขอุบาสกถามว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ หรือเป็นอสังขตะ

สังขตะ คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น แม้อริยมรรค คือ สติและปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเพราะว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด สภาพธรรมนั้นต้องดับ

ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ (คือ เจตสิก ๘ ดวง)

วิสาขอุบาสกถามว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า ขันธ์ ๓ คือ กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓

หมายความว่า ศีลธรรมดานี้เป็นมรรคมีองค์ ๘ ใช่หรือไม่ สมาธิธรรมดาเป็นมรรคมีองค์ ๘ ใช่หรือไม่ หรือว่าปัญญาที่ไม่ใช่ปัญญาในการเจริญสติปัฏฐาน เป็นมรรคมีองค์ ๘ ใช่หรือไม่ หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓

ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓

คือ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์

เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญสติปัฏฐานไม่ต้องเป็นห่วงว่า จะไม่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเหตุว่าในมรรคมีองค์ ๘ นั้น วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ซึ่งแสดงว่า จะต้องเลี้ยงชีวิต และก็มีวาจา มีการงานที่จะต้องประกอบทางกาย เมื่อเป็นไปในทางที่ชอบ ก็เป็นศีล และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้น ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา

ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้ เป็นข้อความโดยละเอียด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็น อภิธรรม แต่ว่าจะไม่ขอกล่าวถึงทั้งหมด สำหรับท่านที่สนใจ จะศึกษาเองได้จาก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬเวทัลลสูตร

ขอกล่าวถึง ข้อความใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถาของ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬเวทัลลสูตร เพื่อให้ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ได้ทราบถึงชีวิตของพระสาวกโดยละเอียด เพื่อประกอบกับความเข้าใจชัดเจนในการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานว่า ชีวิตของพระสาวกในอดีตที่ท่านได้สะสมอบรมอินทรีย์บารมีมาพร้อมที่จะตรัสรู้ธรรม แต่เมื่อยังไม่ถึงกาลของการที่จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระอริยเจ้า ชีวิตของท่านก็ย่อมจะเป็นไปตามกำลังของกิเลส และการสะสมที่แต่ละบุคคลได้สะสมมา

ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬเวทัลลสูตร มีว่า

มีคำถามว่า ก็วิสาขอุบาสกนี้คือใคร ธรรมทินนาภิกษุณีนี้คือใคร เพราะเหตุไรวิสาขอุบาสกจึงเข้าไปหา

ตอบว่า วิสาขอุบาสก คือ สามีในขณะที่อยู่ครองเรือน ในสมัยที่ธรรมทินนายังเป็นคฤหัสถ์

นี่คือชีวิตของพระสาวิกาที่ได้เจริญอินทรีย์ พร้อมที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ แต่ว่าก่อนที่จะบรรลุ กิเลสก็ยังมี เพราะเหตุว่ายังไม่ดับเป็นสมุจเฉทเพราะฉะนั้น เมื่อสะสมมาที่จะมีชีวิตดำเนินไปอย่างไรตามเหตุปัจจัยตามเหตุที่ได้สะสมมา ชีวิตของพระสาวก สาวิกาแต่ละท่าน ก็เป็นไปตามปัจจัยที่ได้สะสมมานั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อใด พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงแสดง พระธรรมจักร ทรงโปรดกุลบุตรทั้งหลาย มียศกุลบุตร เป็นต้น แล้วเสด็จไปถึง ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ทรงโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ คนในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังกรุง ราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุอรหันต์ขีณาสพผู้เคยเป็นชฎิลมาก่อน ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสารและหมู่ชนที่มาเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารและชนเป็นอันมากรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล วิสาขอุบาสกก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้น

วิสาขอุบาสกผู้นี้ บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลในการเฝ้าพระผู้มีพระภาคและได้ฟังพระธรรมครั้งแรกเท่านั้น พร้อมด้วยประชาชนเหล่านั้น ต่อมาอีกวันหนึ่ง จึงได้ฟังพระธรรมอีก และได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล แม้กาลต่อจากนั้นมา ก็ได้ฟังธรรมอีกวันหนึ่ง ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ท่านเป็นพระอนาคามีบุคคลเดินไปสู่เรือนของตน ในวันอื่นๆ คือ ในวันก่อนๆ นั้น ท่านก็เคยตรวจดูข้างโน้น ข้างนี้ ยิ้มแย้มร่าเริงเข้าไปโดยประการใด ในวันนั้นไม่กระทำโดยประการนั้น มีสัทธินทรีย์ เป็นผู้มีใจสงบ ไปสู่เรือนตน

ธรรมทินนาเปิดหน้าต่าง มองถนนอยู่ เห็นเหตุแห่งการมาของวิสาขอุบาสกอยู่ ก็คิดว่า นี่อะไรกันนะ นางกระทำการต้อนรับอุบาสกนั้น ยืนที่หัวบันได ยื่นมือออกให้จับ อุบาสกหดมือของตนเสีย นางก็คิดว่า ในเวลารับประทานอาหารเช้าเราจักทราบ

เมื่อก่อนอุบาสกบริโภคพร้อมกับนาง แต่ในวันนั้นไม่เหลียวดูนาง บริโภคแต่ผู้เดียวดุจภิกษุผู้เป็นพระโยคาวจร (หมายความถึง ผู้ที่ประกอบบำเพ็ญความเพียร) ฉะนั้น

ธรรมทินนาก็คิดว่า ในเวลานอนเราจักทราบ อุบาสกก็ไม่เข้าสู่ห้องนอนนั้น ให้ปัดกวาดห้องนอนอื่น ให้ปูลาดเตียงน้อยที่เป็นกัปปิยะ คือ เหมาะสมสำหรับผู้ที่รักษาศีล แล้วก็นอน ธรรมทินนาคิดว่า อุบาสกนี้คงจะมีความปรารถนาในภายนอกหรือหนอ หรือว่าถูกคนยุยง บางคนยุยงเสียแล้ว หรือว่าฉันเองมีความผิดอะไรอยู่บ้างจึงเกิดความเสียใจเป็นอย่างมาก นางคิดว่า เวลาที่อยู่ไปสักวันสองวันก็จักทราบได้

นี่เป็นลักษณะของผู้ที่สะสมในการเป็นผู้ที่มีสติ คือ เป็นผู้ที่รอบคอบ อดทน และพิจารณาเหตุผลต่างๆ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ใครที่มีโอกาสจะได้ฟังธรรม จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล หรือว่าจะเป็นพระอนาคามี หรือว่าจะเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าการอบรมเจริญอินทรีย์ คือ สติปัฏฐานในอดีตมาแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็เป็นผู้ที่มีลักษณะของผู้ที่มีสติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่หวั่นไหว หรือว่าไม่พิจารณาในเหตุผล

ข้อความต่อไปมีว่า

ธรรมทินนาจึงไปสู่ที่บำรุงของอุบาสกนั้น ไหว้แล้วยืนอยู่

อุบาสกถามว่า

ธรรมทินนา เธอมาในเวลาไม่สมควร เพื่อประโยชน์อะไรกัน

ธรรมทินนาตอบว่า

ท่านไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อน ท่านมีความปรารถนาในภายนอกหล่ะหรือ

อุบาสกตอบว่า

ไม่มี

ธรรมทินนาถามว่า

คนยุยง บางคนอื่นมีอยู่หรือ

อุบาสกตอบว่า

แม้คนยุยงนี้ ก็ไม่มี

ธรรมทินนาถามว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดิฉันเองจักมีความผิดบางอย่างหล่ะหรือ

อุบาสกตอบว่า

แม้เธอเอง ก็ไม่มีความผิด

ธรรมทินนาถามว่า

เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ได้กระทำแม้สักว่า การสนทนาปราศรัยตามปกติกับดิฉัน

วิสาขอุบาสกคิดว่า ขึ้นชื่อว่าโลกกุตตรธรรมนี้ เป็นภาระหนัก เราไม่ควรประกาศ

ใครจะเชื่อว่า กิเลสที่มีอยู่มากเหลือเกิน และแสนละเอียด จะดับให้หมดได้

ลองคิดดู วันหนึ่งๆ กำลังเห็น ไม่รู้เสียแล้วว่า เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นยังมี โลภะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กิเลสมากมายนานาประการ และกำลังของกิเลสก็ต่างกันไปตามปัจจัย วันนี้กิเลสปรากฏลักษณะอย่างนี้ ขณะนี้ ต่อไปอีกชั่วขณะหนึ่ง กิเลสรูปใหม่ปรากฏในลักษณะอาการต่างกันไปอีก ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า กิเลสนั้นมาก และละเอียด ไม่ใช่เป็นการง่ายเลยที่ใครจะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของการที่ยึดถือ สักกายะ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เปิด  169
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566