แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 313

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นกุศลเป็นไฉน

ดูกร นายช่างไม้ เราย่อมกล่าวซึ่งกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ลงในศีล เหล่านี้ เรากล่าวว่าศีลเป็นกุศล ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน

จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ

จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งศีลเป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว

ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล แต่จะสำเร็จด้วยศีลหามิได้ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น ของภิกษุนั้นด้วย

ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล

ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความ ตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญเพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว

ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล

แม้แต่ศีลที่เป็นกุศลก็ต้องดับ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน

ทรงใช้พยัญชนะว่า จิต ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงจิตที่ปราศจากราคะ จิตที่ปราศจากโทสะ จิตที่ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตของท่านเปลี่ยนไป เดี๋ยวเป็นกุศลบ้างเดี๋ยวเป็นอกุศลบ้าง ก็เป็นสมุฏฐานของศีลที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่จะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง

และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลแต่จะสำเร็จด้วยศีลหามิได้ มิใช่เพียงแต่ศีล แต่จะต้องเป็นการรู้ชัดในสภาพธรรมเพราะย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น ของภิกษุนั้นด้วย

เป็นการเจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระไตรปิฎก ที่จะพ้นจากการเจริญสติปัฏฐานเพื่ออบรมปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมซึ่งเป็นจิตใจของท่านเองนั้น ไม่มีเลยที่จะพ้นไปได้ พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ยาวแต่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังที่จะได้เข้าใจเรื่องตัวท่านและความหมายของศีล ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็นอกุศลเป็นไฉน

วันหนึ่งๆ คิดมากมายเท่าไรนับไม่ถ้วนเลยใช่ไหม ที่คิดนั้นเป็นความดำริทั้งนั้นยังไม่ได้มา ก็คิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้มา ดำริที่จะได้ ได้มาแล้วก็คิดอีก ดำริอีกว่า จะแบ่งปันสิ่งที่ได้มานั้นอย่างไรบ้าง จะรักษาไว้อย่างไร จะใช้อย่างไร จะเก็บไว้อย่างไร เมื่อไร อย่างไร ก็คิดไปอีก เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็มีแต่เรื่องของความดำริซึ่งก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และความดำริ ความคิด ในวันหนึ่งๆ ลองตรวจสอบดูว่า เป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร สมมติว่า ได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง ความดำริในสิ่งที่ได้มานี้จะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล ตามธรรมดามักจะเป็นไปในทางไหน เมื่อยังเป็นอกุศลอยู่ ผู้ที่จะดับกิเลสจะขาดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริงไม่ได้เลย ที่จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่ตรึก ที่ดำริ ที่คิด ที่เป็นกุศล หรือว่า ที่เป็นอกุศล

พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายช่างไม้ปัญจกังคะ ต่อไปว่า

ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นอกุศลเป็นไฉน

ดูกร นายช่างไม้ ความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียน เหล่านี้ เรากล่าวว่า ความดำริเป็นอกุศล ก็ความดำริเป็นอกุศลนี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน

สัญญาในที่นี่ คือ ความทรงจำ เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่จำ

สัญญาเป็นไฉน แม้สัญญาเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ

สัญญาใดเป็นสัญญาในกาม เป็นสัญญาในพยาบาท เป็นสัญญาในการเบียดเบียน ความดำริเป็นอกุศล มีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน ก็ความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งความดำริเป็นอกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว

ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นอกุศล

ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหายเพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล

ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่า คิด เป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว วันหนึ่งคิดเป็นอกุศลมากสักเท่าไร คงไม่คิดที่จะดับความดำริที่เป็นอกุศล แต่ยิ่งสติระลึกรู้ เห็นอกุศลวันๆ หนึ่ง มากเหลือเกิน ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดที่จะละ หรือดับอกุศลนั้นลงให้หมดสิ้นไป ถ้าไม่รู้ว่ามีมาก ก็ไม่คิดที่จะดับ แต่ถ้าสติระลึกรู้ เห็นว่ามีมาก ระลึกทีไรก็เห็นว่ามีมากจริงๆ ควรที่จะดับไหม หรือว่าควรที่จะสะสมให้มากยิ่งขึ้น

ข้อความตอนท้าย คือ การเป็นผู้ที่อบรม เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สติแต่ละครั้งที่เกิด ก็เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหายเพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นกุศลเป็นไฉน

ชอบไหมตอนนี้ ความดำริเป็นกุศล เมื่อสักครู่อกุศลไม่ชอบ ตอนนี้ก็ชอบ ที่ดำริเป็นกุศล แต่ถ้ายังยึดถือว่าเป็นเราที่เป็นกุศลในขณะนั้น ในขณะนี้ก็ไม่มีหนทางเลยที่จะดับกิเลสสักอย่างเดียวได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น แม้แต่ความดำริที่เป็นกุศล ก็จะต้องรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรากฏแล้วก็หมดไปเท่านั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นกุศลเป็นไฉน

ดูกร นายช่างไม้ ก็ความดำริในเนกขัมมะ ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน เหล่านี้ เรากล่าวว่า ความดำริเป็นกุศล ก็ความดำริเป็นกุศลนี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน

ที่จะไม่มีสมุฏฐาน เป็นตัวตนเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของความปรารถนา หรือความคิดว่าบังคับได้นั้น ไม่มี สภาพธรรมทั้งหลายล้วนอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้แต่ความดำริเป็นกุศลก็มีสมุฏฐาน

ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นกุศลนั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน

สัญญาเป็นไฉน แม้สัญญาก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ

สัญญาใดเป็นสัญญาในเนกขัมมะ เป็นสัญญาในอันไม่พยาบาท เป็นสัญญาในอันไม่เบียดเบียน ความดำริเป็นกุศล มีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน ก็ความดำริเป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งความดำริที่เป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับลงหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นกุศลเหล่านี้

ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล

ต่อไปก็เป็นเรื่องของสติปัฏฐานคือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ดูกร นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล

ไม่ว่าจะเป็นความดำริที่เป็นกุศลขั้นไหนก็ตาม ต้องดับเป็นสมุจเฉท และที่จะดับเป็นสมุจเฉทได้ ก็เพราะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่ควรจะดับทั้งนั้น ไม่ว่าความดำรินั้นจะเป็นความดำริในกุศลธรรมเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสาระ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะดับ แม้กุศล แม้ความดำริที่เป็นกุศลด้วย

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นายช่างไม้ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นไฉนว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้

ซึ่งบุคคลที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ใช่บุคคลที่ปริพาชกกล่าว เพราะถ้าเป็นในลักษณะของปริพาชกแล้ว เพียงแต่เด็กอ่อนนอนหงาย แต่ว่าไม่กระทำกายกรรมวจีกรรมที่เป็นทุจริต จะกล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์ไม่ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นของ อเสขบุคคล ๑ สัมมาสังกัปปะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวาจาเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมากัมมันตะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาอาชีวะเป็นของอเสขบุคคล ๑สัมมาวายามะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาสติเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาสมาธิเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาญาณเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวิมุตติเป็นของ อเสขบุคคล ๑

เราย่อมกล่าวว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ช่างไม้ปัญจกังคะยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล

จบสมณมุณฑิกบุตรสูตรที่ ๘

สำหรับเรื่องศีลที่จะกล่าวต่อไป นำมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งบางทีข้อความบางตอนท่านผู้ฟังจะพบในวิสุทธิมรรค ในหมวดของสีลนิทเทศ ซึ่งเป็นการประมวลธรรมเรื่องของศีลไว้ แต่ที่วิสุทธิมรรคประมวลธรรมเรื่องของศีลที่เป็นสีลนิเทศนั้น มาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น แม้แต่ความหมายของคำว่าศีล ก็มีทั้งที่เป็นอกุศลและที่เป็นกุศลเพราะเหตุว่าสมุฏฐานของความประพฤติที่เป็นไปทางกาย ทางวาจานั้น มีจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งบางขณะจิตก็เป็นอกุศล บางขณะจิตก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาก็เป็นอกุศล และขณะใดที่ความประพฤติทางกาย ทางวาจาเป็นกุศล ก็เป็นเพราะกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือนามธรรมที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดกุศลและอกุศลนั้นตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่เว้นไม่ได้ เป็นเรื่องละเอียด เพราะเป็นเรื่องจิตใจของท่านเอง และเกี่ยวข้องตลอดเวลากับชีวิตประจำวันเพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส ขัดเกลากิเลส ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

ถ. เรื่องสัมมาวาจา ทั้งกายด้วย ทั้งวาจาด้วย ทั้งจิตด้วย ก็การที่จะพูดอะไรต่ออะไรนี่ เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดอกุศลได้ง่าย เราไม่พูดเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ งดเว้นไม่พูดเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ

สุ. ชีวิตจริง ไม่ใช่ชีวิตที่หลอกลวง หรือว่าเสแสร้งแกล้งทำขึ้นเป็นครั้งคราว มีใครที่จะไม่พูดเลยบ้าง ชีวิตจริงๆ ท่านผู้ใดที่สติไม่เคยเกิดในขณะที่พูด อย่าไปกั้นไว้ไม่ให้สติเกิด เพราะสติเกิดได้ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จิตจะพอใจ ไม่พอใจอย่างไร หรือว่ากำลังจะกล่าวคำที่ไม่เหมาะสม สติเกิดขึ้นวิรัติไม่กล่าวคำนั้น สติปัฏฐานกำลังระลึกรู้ในสภาพของนามธรรม นี่เป็นความละเอียด ซึ่งบางท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะสังเกตได้ว่า บางครั้งรู้ว่าเป็นสติที่วิรัติ แต่ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม เยื่อใยความเป็นตัวตนยังมี แต่ก็แสดงให้เห็นว่า สติที่อบรมแล้วนี้สามารถที่จะเกิดขึ้น ที่จะวิรัติ แม้ว่าขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม แต่ก็กระทำกิจการวิรัติเกิดขึ้น และเพราะอาศัยการอบรม จนกระทั่งมีความชำนาญเพิ่มขึ้น แม้แต่ในขณะที่พูดก็รู้ว่า ควรหรือไม่ควรอย่างไร เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร

เพราะฉะนั้น สติมีประโยชน์ จำปรารถนาในที่ทั้งปวง และถ้าขณะใดรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานที่จะดับการยึดถือนามรูปว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และจะดับกิเลสอื่นได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับด้วย แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ฝืน ไม่ใช่ไปทำสิ่งที่ผิดปกติ ปกติของท่านพูด สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ถ. อาจารย์บอกว่า สติย่อมจำปรารถนาในที่ทั้งปวง หมายความว่า สติ สมถะนี้ตั้งอยู่ในปัฏฐานแล้วหรือยัง

สุ. สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิต เช่น กุศลจิต กิริยาจิต วิบากจิตที่เป็นโสภณ และสตินั้นเป็นไปในทานก็มี เป็นไปในศีลก็มี เป็นไปในความสงบของจิตก็มี แต่จะเป็นสติปัฏฐาน ก็ขณะที่ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ และรู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

ถ. ผมเพิ่งมาฟังคำบรรยายจากอาจารย์วันนี้ มีความรู้สึกว่า การเจริญ สติปัฏฐานเพื่อให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติ ตามความจริงในขณะนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านของทางธรรมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ของทางโลกด้วย คือ มนุษย์เราถ้ายึดมั่นถือมั่นมาก ก็มีกิเลส ทำให้มีจิตใจฟุ้งซ่าน แต่การยึดมั่นถือมั่นในทางโลกก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน คือ คนที่ยึดมั่นถือมั่น ก็อาจมีความเพียรพยายาม ทำให้เกิดความสำเร็จ อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าเจริญสติปัฏฐานแล้ว ขัดเกลากิเลสให้ลดลง จะทำให้ความพากเพียรที่จะทำงานให้สำเร็จทางโลกลดน้อยลงไปหรือเปล่าครับ

เปิด  167
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565