แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 31

ท่านเป็นพระอาคันตุกะมาจากที่ไกลซึ่งเป็นที่หลีกเร้น แต่มีความกังวลมากเพราะเพียงวันเดียวก็มีสิ่งของที่เป็นห่วงวางไว้ แต่พระเถระซึ่งอยู่ที่พระวิหารถูปารามนั้น เมื่อได้ฟังสหายของท่านกล่าวชวนไปปาจีนขัณฑราชีท่านก็ตรงไปได้เลยไม่กังวลไม่ห่วงใยสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

พระอาคันตุกะมีจิตเลื่อมใส ไหว้พระเถระแล้วพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญสำหรับพระเถระเช่นท่าน ณ ที่ทุกสถานย่อมเป็นเช่นอรัญวาส พระวิหารถูปารามเป็นที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่ฟังธรรม เป็นที่สบายในโลหะปราสาท เป็นที่ได้เห็นมหาเจดีย์ เป็นที่ได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระเถระทั้งหลายเช่นในครั้งพุทธกาล ณ สถานที่เช่นนี้เป็นที่อันท่านควรอยู่ และในวันรุ่งขึ้น ท่านพระอาคันตุกะก็ได้เดินทางกลับไปปาจีนขัณฑราชี

เห็นได้ว่า อาวาสหรือที่อยู่นั้นเป็นความห่วงใย เป็นความกังวลสำหรับบางท่าน แต่ว่าไม่ใช่สำหรับทุกท่าน สำหรับคฤหัสถ์ก็คงห่วงใยในบ้านเรือนไม่มากก็น้อย การที่จะรักษาสถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้สะอาดเรียบร้อย ไม่มีเชื้อโรค ไม่เป็นภัยไม่เป็นอันตรายนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งผู้เจริญสติปัฏฐานกระทำไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะกังวลเกี่ยวกับเรื่องของอาคารบ้านเรือน ในขณะนั้นก็เจริญสติปัฏฐานได้ โดยเฉพาะบางท่านที่กังวลในเรื่องที่อยู่อาศัยมาก ก็ควรที่จะได้พิจารณาความจริงว่า ถึงจะกังวลเป็นห่วงสักเท่าไร ที่อยู่ที่อาศัยนั้นก็เป็นแต่เพียงที่พักชั่วคราวในโลกนี้เท่านั้น และไม่ใช่แต่เฉพาะที่อยู่ที่อาศัยอาคารบ้านเรือน แม้แต่โลกทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นสุคติหรือเป็นทุคติก็ตาม ก็เป็นที่พักเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีใครจะอยู่ในโลกนี้ตลอดไป จึงไม่ควรห่วงกังวลมากนัก เพียงแต่ว่าเมื่อยังจำเป็นในการดำรงชีวิตเลี้ยงชีพ บริหารชีวิตให้ดำเนินไปด้วยดี จำเป็นต้องซ่อมแซมรักษาอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตราย นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องกังวล ห่วงใย ติดข้องมาก เพราะเป็นแต่เพียงที่พักเพียงชั่วคราวเท่านั้น หมดชีวิตในโลกนี้แล้วก็ไปสู่โลกอื่น มีที่พักอาศัยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นทุคติ หรือสุคติก็ตาม

สำหรับที่อยู่ที่อาศัยก็ไม่สามารถเลือกได้ ย่อมเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งบางท่านก็พอใจที่จะอยู่ในที่สงบ ไม่วุ่นวาย แต่เพราะเหตุว่าวิสัยของฆราวาสนั้นไม่ได้สะสมอบรมมาที่จะเป็นผู้ละอาคารบ้านเรือน ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ใคร่ต่อความสงบ ต้องการที่จะอยู่ในที่เงียบสงบ แต่เพราะสิ่งที่เคยสะสมไม่เป็นปัจจัยให้ได้อยู่ในสถานที่เช่นนั้น ก็ควรเจริญสติ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด หรือถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ตาม ก็ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะเลือกที่อยู่ได้ตามอัธยาศัย ซึ่งจะได้ฟังคาถาของพระเถระท่านหนึ่งซึ่งกล่าวว่า ท่านใคร่ต่อการที่จะได้อยู่อย่างสงบวิเวกเพียงใด

ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกวิหาริยเถรคาถา มีข้อความว่า

ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้า หรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมีแก่เราผู้อยู่ในป่าผู้เดียว

อยู่ในป่าแล้วก็ยังไม่ต้องการใครทั้งนั้น เพราะท่านกล่าวว่า ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมีแก่เราผู้อยู่ในป่าผู้เดียว

เราผู้เดียวจักไปสู่ป่า อันพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุผู้อยู่แต่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว เราผู้เดียวเป็นผู้ชำนาญในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ อันทำให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์ เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมันโดยเร็วพลัน

เราผู้เดียวจักอาบน้ำในซอกเขาอันเยือกเย็น ในป่าอันเย็น มีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ เมื่อไรเราจึงจะได้อยู่ในป่าใหญ่อันน่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง จักเป็นผู้ทำกิจสำเร็จ หาอาสวะมิได้

ขอความประสงค์ของเราผู้ปรารถนาจะทำอย่างนี้จงสำเร็จเถิด เราจักยังความประสงค์ของเราให้สำเร็จจงได้ ผู้อื่นไม่อาจทำให้ผู้อื่นสำเร็จได้ เราจักผูกเกราะคือความเพียร จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ เรายังไม่บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว จักไม่ออกไปจากป่านั้น เมื่อลมพัดเย็นมา กลิ่นดอกไม้ก็หอมฟุ้งมา เราจักนั่งบนยอดเขา ทำลายอวิชชา เราจักได้รับความสุขรื่นรมย์ อยู่ด้วยวิมุตติสุข ในถ้ำที่เงื้อมเขาซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุ ม มีภาคพื้นเยือกเย็นอันมีอยู่ในป่าใหญ่เป็นแน่

เรามีความดำริอันเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี

เป็นอัธยาศัยของผู้ที่ต้องการจะอยู่อย่างสงบจริงๆ คนเดียวก็คนเดียวจริงๆ ในป่า ไม่ใช่ในป่าแล้วยังมีการคลุกคลี หรือว่าอยู่กันมากมาย

นี่คือคาถาของท่านพระเถระผู้ใคร่ต่อความสงบ ท่านได้รับความสงบจากป่านั้นมาก และอัธยาศัยตามการสะสมมาของท่าน ก็ทำให้สามารถอยู่ได้อย่างสงบอย่างนั้น และสิ้นอาสวะกิเลสในที่นั้นด้วย แต่ว่าบางท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ขุททกนิกาย เถรคาถา วนวัจฉสามเณรคาถา มีข้อความกล่าวว่า

พระอุปัชฌาย์ของเรา ได้กล่าวกะเราว่า ดูกร สิวกะ เราจะไปจากที่นี้ กายของเราอยู่ในบ้าน แต่ใจของเราไปอยู่ในป่า แม้เรานอนอยู่ก็จักไป ความเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ย่อมไม่มีแก่เราผู้รู้แจ้งชัด

เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในบ้าน แต่ใจไม่ได้อยู่ที่บ้าน ใจอยู่ที่ป่า ใจอยู่ที่ความสงบ ใจไม่คลุกคลี ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนหรือว่ามีบริษัทมากมายอยู่ในบริเวณนั้น หรือว่าอยู่ในอาวาสนั้น เพราะฉะนั้น ทุกท่านควรรู้จักตัวเองจริงๆ ถึงจะเป็นผู้ที่ใคร่พอใจในความสงบ แต่เมื่อไม่ได้ความสงบ โดยไม่สามารถจะปลีกออกจากอาวาสที่อยู่อาคารบ้านเรือนของท่านก็ตาม แต่ก็ปลีกใจได้โดยไม่คลุกคลีหรือไม่ติดข้องผูกพันกับบุคคลอื่น ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง อย่างในเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐานนั้น ถ้าขณะใดที่ท่านมีสติ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็อย่างหนึ่ง รู้ชัดตามความเป็นจริง ในขณะนั้นตัวตน บุคคลก็ย่อมไม่มี

เพราะฉะนั้น ท่านก็สงบอยู่กับสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้แจ้งชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ไม่จำเป็นจะต้องปลีกไปสู่ป่า แต่ใจของท่านปลีกไปได้ แล้วแต่ว่าในขณะใดจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้หรือไม่ ถ้าในขณะนั้นไม่มีสติ ท่านก็ย่อมจะต้องเป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่รู้ลักษณะของนามและรูปในขณะใด ขณะนั้นก็ย่อมจะเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล

สำหรับเรื่องอาวาสปลิโพธ บางท่านก็อาจจะมีความเข้าใจว่า พระภิกษุคงจะมีน้อยกว่าฆราวาส แต่ปุถุชนถึงแม้เป็นพระภิกษุผู้สะสมมาที่จะละอาคารบ้านเรือน แต่ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผล กิเลสที่เหนียวแน่นหนาแน่นของความเป็นปุถุชนก็ย่อมมีอยู่แล้ว จะเห็นได้จากพระวินัยปิฎกที่ว่า ถึงแม้ท่านจะละอาคารบ้านเรือน ไม่ผูกพัน ไม่พัวพันกับญาติมิตรกับวงศ์ตระกูล แต่ยังห่วงใยกังวลกับที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นอาวาสปลิโพธก็ยังมี

จุฬวรรค ภาค ๒ มีข้อความว่า

สมัยนั้นชาวบ้านตกแต่งมณฑป จัดแจงเครื่องลาด แผ้วถางสถานที่ไว้ เฉพาะสงฆ์ ภิกษุอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์กล่าวว่า

พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเสนาสนะตามลำดับผู้แก่กว่า เฉพาะของสงฆ์เท่านั้น ของเหล่านี้เขาไม่ได้ทำเจาะจงไว้ พระฉัพพัคคีย์ก็รีบไปก่อนพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข แล้วพระฉัพพัคคีย์ก็ไปจองมณฑป จองเครื่องลาด จองสถานที่ไว้ว่า นี่สำหรับอุปัชฌาย์ของพวกเรา นี่สำหรับอาจารย์ของพวกเรา นี่สำหรับพวกเรา

ครั้นท่านพระสารีบุตรไปล้าหลังพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข เมื่อภิกษุเหล่านั้นจองมณฑป จองเครื่องลาด จองสถานที่หมดแล้ว หาที่ว่างไม่ได้เลย ท่านพระสารีบุตรจึงนั่งอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้นเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้น ทรงพระกาสะ แม้ท่านพระสารีบุตรก็กระแอมไอ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "ใครที่นั่น"

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้า สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "สารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่โคนไม้นี้เล่า"

ท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลเรื่องให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถาม ทรงติเตียน แล้วทรงรับสั่งว่า ภิกษุรูปใดเกียดกัน ต้องอาบัติทุกกฎ

นี่เป็นเรื่องสถานที่ เป็นความห่วงใย ความกังวลในที่อยู่ ถึงแม้ว่าจะละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องของปลิโพธก็ควรจะเข้าใจว่า เป็นกิเลส เป็นความกังวล เป็นความห่วงใย ซึ่งยังมีอยู่ตามวิสัยผู้ที่ยังละกิเลสประเภทนั้นๆ ไม่หมด เพราะโดยมากจะเข้าใจว่า ปลิโพธนั้นเป็นความกังวลเฉพาะของฆราวาส ที่ทำให้ท่านไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะเหตุว่ามีปลิโพธมากมาย แต่ถ้าเข้าใจว่า ปลิโพธก็เป็นลักษณะของกิเลส เป็นความห่วงใยซึ่งทุกคนมี ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นภิกษุแล้วก็ตาม แล้วปลิโพธประเภทใดเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา ประเภทใดไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนานั้น ก็ควรเข้าใจให้ถูกต้องด้วย

สำหรับสถานที่นั้นไม่เป็นเรื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาเลย เพราะเห็นได้จากตัวอย่าง แม้ในพระสูตร แม้ในพระวินัยว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นภิกษุละอาคารบ้านเรือนแล้ว ก็ยังมีอาวาสปลิโพธ

อีกเรื่องหนึ่งในพระวินัย เป็นเรื่องของท่านพระอุปนนท์หวงกันเสนาสนะไว้ ๒ แห่ง คือ

ท่านอุปนนท์ถือเสนาสนะไว้ในเขตพระนครสาวัตถี แล้วได้ไปสู่อาวาสใกล้ตำบลบ้านแห่งหนึ่ง แล้วได้ถือเสนาสนะในอาวาสบ้านนั้นอีก ภิกษุผู้มักน้อยสันโดษก็ติเตียน แล้วได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า

การกระทำเช่นนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส แล้วพระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปเดียวไม่พึงหวงกันเสนาสนะไว้ ๒ แห่ง รูปใดหวงกัน ต้องอาบัติทุกกฎ

คงหมดความสงสัยในเรื่องของอาวาสปลิโพธว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะฆราวาสที่มี

ต่อไปเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดสถานที่หรืออาวาสปลิโพธจึงไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่อื่น แล้วอาวาสสถานที่นั้นก็ไม่สามารถเลือกอยู่ได้ ท่านที่เดินทางบ่อยๆ คงจะทราบว่า ที่พักแต่ละคืนนั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นเพียงที่พักชั่วคราวเท่านั้น ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน และระลึกได้เสมอๆ เนืองๆ ว่า นามรูปทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน นามรูปทุกประเภทกำลังเกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าไม่มีสติรู้ลักษณะของนามชนิดหนึ่งชนิดใด รู้ลักษณะของรูปชนิดหนึ่งชนิดใด ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปแต่ละชนิดนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย นามรูปเกิดดับก็จริง แต่จะรู้ได้ก็เฉพาะในขณะที่มีสติ ทุกคนก็ทราบแล้วว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการเจริญปัญญา ไม่ใช่การเจริญสมถะ ต้องแยกกัน ถ้าเจริญปัญญาแล้ว ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ผู้ที่ไม่รู้จักโลกในวินัยของพระอริยเจ้า ก็จำแนกโลกออกเป็นหลายอย่าง อย่างนักวิทยาศาสตร์ก็จำแนกธาตุออกมากมาย แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมย่อมรู้ได้ว่า ในพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึงโลกในวินัยของพระอริยะ ๖ โลก คือ โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย โลกทางใจ

ผู้ใดไม่รู้ชัดในโลกทั้ง ๖ โลกนี้ตามความเป็นจริง ผู้นั้นไม่ได้ละความไม่รู้ ไม่ได้ละความสงสัย ไม่ได้ละความเห็นผิดที่ยึดถือโลกทั้ง ๖ นี้ว่า เป็นตัวตน ในพระไตรปิฎกไม่มีเลยที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสให้ละเว้นการเจริญสติปัฏฐาน

ท่านก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องมีผู้ควบคุมใช่ไหม แต่การเจริญสติปัฏฐานในพระไตรปิฎก ขอให้ดูว่า มีใครควบคุมใครบ้าง ต้องมีใครควบคุมไหม เรื่องของสติ ถ้าเป็นปกติแล้วไม่ต้องมีใครควบคุมเลย เพราะว่าไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย

ขณะนี้ทุกคนมีนาม มีรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางคนเป็นโลภะ เวลาเห็น บางคนเป็นโทสะ ไม่ชอบ ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น การเจริญสติไม่ใช่ให้ทำอะไรขึ้นเลย เพียงแต่ระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ผู้เริ่มเจริญสติยังไม่รู้อะไรทางไหน ทางตายังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้รู้นามเห็นกับสี ทางหูยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้รู้ความต่างกันของได้ยินกับเสียง ยังเป็นความไม่รู้อยู่ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติเริ่มรู้ เริ่มใส่ใจที่ลักษณะของนามและรูปตามปกติ

พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนา ๔๕ พรรษา วิริยารัมภกถาก็ดี สีลกถาก็ดี ปัญญากถาก็ดี ก็เพื่อที่จะให้ผู้ฟังระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ

เปิด  363
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566