ยิ่งละเอียดเท่าไหร่ ยิ่งไม่มีเรา


    ส.   ต้องทราบคำ ถ้าใช้คำว่า ญาณสัมปยุตต์ หมายความว่า มีปัญญาเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น เพราะว่าจิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ได้เลย แต่ว่าเจตสิกอะไรที่เกิดกับจิต เพราะว่าเจตสิกก็มีเยอะ เพราะฉะนั้น เวลาใช้คำว่า สัมปยุตต์ ก็หมายความว่าแสดงถึงเจตสิกอะไรที่เกิดกับจิต อย่างกุศลจิต แล้วมีคำว่า ญาณสัมปยุตต์  ก็แสดงให้เห็นว่า ยกคำว่าปัญญา คือ ญาณ เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าญาณวิปยุตต์ ก็ไม่เกิดร่วมกับปัญญา จิตนั้นเป็นกุศลที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น สัมปยุตต์เป็นสภาพของนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน อย่างจิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกันแยกกันไม่ได้เลย โดยปัจจัย ใช้คำว่า สัมปยุตตปัจจัย หมายความว่าเกิดร่วมกัน แนบสนิทเป็นนามธรรม มีอารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แล้วเกิดที่เดียวกันด้วย

    นี่คือลักษณะของสัมปยุตต์ซึ่งเป็นนามธรรม นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเรา แม้ว่าจะมีอายุที่สั้นมาก คือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่าขณะนั้นก็มีเจตสิกตั้งเยอะเกิดร่วมด้วยเป็นสัมปยุตตปัจจัยด้วย คือแยกกันไม่ได้เลย เกิดร่วมกันจริงๆ ดับพร้อมกันจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความละเอียดที่เราจะต้องศึกษาให้ทราบว่า จิตขณะหนึ่งมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า สัมปยุตต์ เช่น ญาณสัมปยุตต์ ก็คือจิตนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุตต์  จิตนั้นมีมิจฉาทิฏฐิ เกิดร่วมด้วยปฏิฆสัมปยุตต์ ก็จิตนั้นมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงว่ายกเจตสิกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า จิตในขณะนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไร

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีปัญญาเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา แต่เป็นจิต ซึ่งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงใช้คำว่า ญาณสัมปยุต แต่ถ้าถึงแม้ว่าจะเป็นกุศล แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นกุศลก็จริง แต่ว่าเป็นญาณวิปยุตต์ เพราะฉะนั้น ก็ติดอยู่ที่คำว่า ญาณสัมปยุตต์กับญาณวิปยุตต์ กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้  จิตเป็นญาณสัมปยุตต์ หรือญาณวิปยุตต์ ขณะใดที่มีความเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจ ขณะที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลได้ แต่ว่าไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น เราจะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเราละเอียดขึ้น กว่าจะไม่ใช่เรา  นานแสนนาน เพราะว่าเคยเป็นเรามานานแสนนานแล้ว เพราะฉะนั้น ความละเอียดทั้งหมดที่เราศึกษา ยิ่งศึกษาละเอียดเท่าไร ก็ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรายิ่งขึ้น


    หมายเลข 9995
    16 ก.ย. 2558