สะสมความอดทน ความเมตตา ความเข้าใจจิตใจของผู้อื่น


    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็มีเพื่อนที่เขามีความเป็นอยู่ดี ฐานะดี ไม่ขัดสนอะไร แต่ตอนนี้เราก็เหมือนหมอโรคจิตของเขากลายๆ คือเขามีปัญหา มีทุกข์ตลอด เขาจะต้องมาปรึกษาเรา หรือโทรศัพท์มาหาเราตลอด หนูก็ไม่รู้จะพูดยังไง พูดทางธรรมปลอบใจเขายังไงให้เขาคลายปัญหานี้ เดี๋ยวก็เดือนหนึ่งตลอด สองสามวันก็โทรมาทีเรื่องนี้จบ ก็ไปเรื่องนั้น หนูจะเรียนถามอาจารย์ว่าควรจะพูดปลอบใจเขาทางธรรมในชีวิตประจำวันอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ คงยาก เพราะเขาคงมีอุปนิสัยที่จะสนทนาเรื่องของเขาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เขาก็เห็นเราเป็นผู้ที่จะรับฟัง และก็อาจจะให้ความคิด ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์แก่เขาๆ ก็เลยโทรศัพท์มาบ่อยๆ แต่ว่าสำหรับเราเอง เรารู้สึกยังไง ข้อสำคัญที่สุดเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีเพื่อน มีคนใกล้ชิด หรือคนห่างไกลที่จะทำให้เราได้ยินได้ฟังเรื่องต่างๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เพื่อน แต่เรื่องในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็มี เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อเราได้พูดกับเขา ใจของเราเป็นยังไงขณะนั้น

    ผู้ฟัง ใจของเราก็คิดสงสารเขา อยากจะมีคำพูดอะไรที่เขาหายทุกข์พูดไปพูดมามันก็เหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าถ้ายังไม่มีความเข้าใจพระธรรมจริงๆ อะไรก็ช่วยไม่ได้เลย ได้ยินได้ฟังแล้วก็หมดไป วันนี้เราอาจจะได้ยินได้ฟัง แล้วก็พอเราออกไปที่อื่น สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังขณะนี้ก็หมดไป แล้วก็มีเรื่องราวอื่นต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราสะสมความเข้าใจธรรม แล้วเราก็รู้ว่าธรรมมีอยู่ตลอดเวลา ขณะที่กำลังคิดก็เป็นสภาพคิด นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราไม่ลืมเป็นการสะสมที่จะทำให้ค่อยๆ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการฟังธรรม แต่เราจะฟังแล้วก็เข้าใจความเป็นจริงนี้มากน้อยแค่ไหน เราบอกไม่ได้เลย เพราะเป็นการค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่ทุกอย่างในชีวิตทุกขณะก็เหมือนบทเรียนของความอดทน มีท่านผู้หนึ่งท่านก็มีมารดาก็อยู่กันไกล ท่านผู้นี้ก็เป็นชาวต่างประเทศอยู่ที่ออสเตรเลีย มารดาของท่านก็อยู่ที่อิตาลี มารดาก็รักลูกมาก ก็มีลูกคนเดียว เดี๋ยวก็โทรศัพท์มา แล้วก็พูดยาวมาก ลูกก็วางหู แล้วก็ไปทำอะไรต่างๆ พอกลับมาก็ครับๆ หรือว่าพูดด้วยนิดหน่อยแล้วก็วางต่อไป แล้วมารดาก็พูดต่อไปอีกยาว แล้วเขาก็มาฟังทีหลัง คือไม่ฟังทั้งหมด เพราะว่าเขาก็คงจะรู้อุปนิสัยว่าทั้งหมดก็คงยาวแล้วเขาก็คงไม่ได้ทำอะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ การที่เราจะบอกให้บุคคลนั้นทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าทุกชีวิตจะมีความถูกต้องขึ้นเมื่อมีการเข้าใจพระธรรม โดยเฉพาะคือเข้าใจตัวเองในขณะนั้นว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เป็นเมตตา หรือว่าเป็นโทสะ หรือว่าหงุดหงิด แต่ทั้งหมดนี่คือบารมี ถ้าเป็นกุศลที่จะสะสมความอดทน ความเมตตา ความเข้าใจจิตใจของผู้อื่น และก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล แต่ทั้งหมดนี่ก็แล้วแต่ จะทำยังไงก็คือว่ารู้อยู่แล้วว่ายังไงๆ เขาก็คงจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่คำของเราบางคำ ก็อาจจะทำให้เขาสบายใจ แต่เขาก็ต้องรบกวนเราอยู่เรื่อยๆ เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเราเป็นเพื่อนของเขา ไม่ทราบท่านผู้อื่นมีความคิดยังไงเรื่องนี้ เรื่องส่วนตัวของแต่ละคนก็มีเยอะ ต่างคนก็ต่างสะสมมาที่จะเป็นแต่ละบุคคลจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้นกับใครเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครที่สามารถจะรู้ได้ แต่พระธรรมที่ได้เข้าใจแล้วก็จะทำให้บุคคลนั้นสามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล และก็ควรที่จะสะสมกุศลเพิ่มขึ้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168


    หมายเลข 9912
    26 ม.ค. 2567