สะสมการรู้ว่าเป็นธรรมและไม่ใช่ตัวตน


    ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดกันเรื่องโทสะ แล้วทุกคนก็มีโทสะต่างระดับ บางวันก็คงจะมีไม่มาก แต่บางวันก็อาจจะมีมากได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมก็แสดงให้เห็นว่า ขณะต่อไปก็ยังไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิด เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเราอาจจะได้ฟังพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เรารู้ลักษณะของธรรมที่เราได้ฟังหรือเปล่า ถ้าเราไม่รู้ ก็เป็นเรื่องของความคิดโดยอุบาย โดยนัยต่างๆ ซึ่งห้ามไม่ได้ ไม่มีใครไปห้ามใครไม่ให้คิด ไม่มีใครไปห้ามใครไม่ให้จำ แล้วก็เกิดโทสะขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดแล้ว ค่อยๆ อบรมความรู้ ความเข้าใจว่า บังคับบัญชาไม่ได้ และลักษณะนั้นเกิดแล้วด้วย จะเป็นอื่นไม่ได้ ให้รู้ตามความเป็นจริง ค่อยๆ สะสมการรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น แทนที่หวังว่าจะไม่ให้เกิดอีก หรือหวังว่าจะให้เกิดน้อยลง แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยังคงเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อให้เรามีโทสะน้อย หรือว่าไม่ให้มีโลภะมาก หรืออะไรนะคะ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แต่ประโยชน์สำคัญที่สุด คือให้รู้ลักษณะ เพื่อจะไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน มิฉะนั้นเราก็เป็นกุศลประเภทอื่นๆ อยู่เสมอ คือพยายามไม่ให้เกิดโลภะ พยายามไม่ให้เกิดโทสะ แต่ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละชนิด ซึ่งก็น่าสนใจเรื่องของโทสะ ไม่ทราบคุณธิดารัตน์อบรมเจริญปัญญาอย่างไรคะ

    ธิ. พอฟังธรรมแล้ว เราก็เริ่มพิจารณาลักษณะโทสะที่เกิดกับตัวเองละเอียดมากขึ้น จนมั่นคง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีสติรู้ลักษณะของโทสะตามความเป็นจริงทีหลัง

    สุ คุณธีรพันธ์ล่ะคะ

    ธี เมื่อโทสะเกิดขึ้น ก็อาศัยการที่ฟัง และมีการพิจารณา แต่จะรู้โทสะตามความเป็นจริงเมื่อมีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นถึงจะรู้ลักษณะของความเป็นธรรม ก็อาศัยการอบรมเจริญเมตตาก็ได้ พรหมวิหาร ๔ ในชีวิตประจำวันก็ช่วยบรรเทาโทสะได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165


    หมายเลข 9867
    28 ม.ค. 2567