นิมิตของธรรม


    ท่านอาจารย์ คำว่า “นิมิตอนุพยัญชนะ” หมายความว่าอะไรคะ

    อ.คำปั่น คำว่า “นิมิตตะ” หมายถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ ส่วนคำว่า “อนุพยัญชนะ” โดยศัพท์ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นเครื่องยังกิเลสให้เกิดขึ้น หรือเป็นเครื่องยังกิเลสให้ปรากฏ เวลาที่ติดข้อง ก็ติดข้องทั้งในนิมิต และอนุพยัญชนะซึ่งเป็นส่วนละเอียด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ จะมีนิมิตไหม อยู่ดีๆ ก็มีนิมิต โดยไม่มีสภาพธรรมได้อย่างไร นี่คือความเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่งของธรรม เป็นความจริงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความจริงคืออะไร ความจริงต้องมีธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน หรือความจำอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นคำว่า “เช่น” เป็นนิมิตหรือเปล่าคะ ถ้าเป็นเสียงเล็กน้อยเพียงกระทบหู ปรากฏแล้วดับ ที่ทรงแสดงไว้ว่า จิตเกิดดับรวดเร็วนับประมาณไม่ได้ ก็คือเดี๋ยวนี้ ทันทีที่เห็นก็เป็นคนเยอะเลย ทำไมนิมิตมามากมายอย่างนี้ ทั้งสิ่งที่ปรากฏที่เกิดดับ และจิตที่ไปรู้ด้วยว่า เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ

    นี่แสดงให้เห็นว่า การเกิดดับเร็วมาก และเพราะการเกิดดับอย่างเร็วจึงไม่สามารถรู้เพียงหนึ่งที่เกิดแล้วดับ แต่เมื่อหลายๆ ขณะเกิดสืบต่อ ทั้งสิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏเป็นนิมิต และจิตก็เป็นนิมิตด้วย เช่น เห็นขณะนี้ เห็น ๑ ขณะหรือเปล่าคะ ที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ หลายขณะจนรู้ว่าเห็น นี่คือนิมิตของจิตเห็น

    เพราะฉะนั้น นิมิตทุกอย่าง รูป รูปนิมิต ไม่ว่าจะเป็นสีที่ปรากฏทางตา รูปร่างสัณฐานต่างๆ หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส ทั้งหมดเป็นนิมิตแล้ว เพราะว่าไม่เพียงเกิดแล้วดับ เพียงเกิดแล้วดับ จึงสามารถรู้ว่า นั่นไม่ใช่นิมิต แต่เป็นธรรม แต่เพราะเหตุว่าเกิดดับอย่างเร็ว เพราะฉะนั้น ตลอดเวลารู้นิมิตหมด ยังไม่รู้การเกิดดับเพียงหนึ่ง เพราะว่าเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้

    ด้วยเหตุนี้ก็จะเข้าใจความหมายของ “นิมิต” ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง แล้วก็ลืมไปแล้วว่าอย่างไร แต่นิมิตของสิ่งที่มีจริง เพราะสิ่งที่มีจริงเกิดดับเร็ว จึงปรากฏเป็นรูปร่าง หรือนิมิตแต่ละทาง เช่น นิมิตของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เป็นอย่างนี้ เป็นคิ้ว เป็นตา เป็นจมูก เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ นั่นคือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เกิดดับปรากฏให้เห็นได้ นิมิตของเสียง ก็เป็นเรื่องทันที เป็นคำออกมาแต่ละคำ ได้ยินเสียงหรือได้ยินคำคะ ถ้าไม่มีเสียง จะมีคำได้อย่างไรคะ แต่เพราะเสียงนั้นต่างกันหลากหลายเป็นนิมิตของแต่ละเสียง ทำให้คิดถึงแต่ละคำ

    ด้วยเหตุนี้เวลานี้ คิดคำ ใช่ไหมคะ ทั้งๆ ที่ถ้าไม่มีเสียง ก็ไม่มีคำ แต่ไม่ได้จำเสียง แต่จำคำซึ่งเป็นนิมิตของเสียง

    เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่คิดแต่ละคำก็คือกำลังคิดถึงนิมิต ไม่ใช่จำเสียง แต่หมายความว่า รู้ว่าเสียงนั้น นิมิตอย่างนั้นหมายความถึงอะไร ก็จำแล้วก็คิดถึงความหมายนั้นทันที

    ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นได้ว่า กว่าจะเข้าใจแต่ละคำจริงๆ อย่างมั่นคง ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ก็ต้องรู้ว่า นิมิตคืออะไร อนุพยัญชนะคืออะไร


    หมายเลข 9599
    19 ก.พ. 2567