อสังขาริก - สสังขาริกคือสภาพจิตที่มีกำลังและไม่มีกำลัง


    ผู้ฟัง กระผมอยากจะเรียนถามในข้อแรกว่า ถ้าเผื่อมีการชักชวน อาการที่เห็น การโฆษณา หรือแผ่นโฆษณาอย่างนี้ ก็ถือว่า อันนั้นเกิดความใคร่ที่จะทำตามสิ่งที่เขาชักชวน อันนี้ผมถือว่าเป็นอสังขาริกใช่ไหมครับ คือจำเป็นหรือไม่ อันนี้ผมตามไม่ทัน ว่าจะต้องมีผู้ใดผู้หนึ่ง เช่นว่า กวักมือ ทำกายวิญญัติให้เราเห็น หรือว่าใช้วจีวิญญัติ คือ พูดชักชวนให้เราทำ ๒ อย่างนี้เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการชักชวนให้เกิดการกระทำขึ้น

    ท่านอาจารย์ คือไม่อยากจะให้ตายตัว พอตัวหนังสือเขียนว่า มีการชักชวน เราก็เลยคิดว่าเมื่อเขาโฆษณาเท่ากับชวนเรา แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงคำพูดที่ได้ยิน เราจะเรียกว่าโฆษณา หรือว่าจะไม่เรียกว่าโฆษณาก็ได้ อยากสมมติว่าเราเดินไปในสวน มีดอกกุหลาบหลายๆ สี แล้วคนนี้ก็บอกสีนี้สวยจริง ไม่ได้หมายความว่า เขามาโฆษณา ฉันใด เวลาที่เราใช้คำว่า มีการโฆษณาสินค้าต่างๆ ความจริงก็เป็นการบอกให้ทราบ แต่ว่าวิธีการที่คนจะบอกก็แล้วแต่ อาหารนี้อร่อยนะ แค่นี้ จะถือว่าเป็นการชักชวนไหม หรือว่าเป็นแต่เพียงคำบอกเล่า ให้เราคิดแล้วก็ตัดสินใจ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถือตามตัวอักษรว่า ที่เราใช้คำว่าโฆษณา คือเมื่อเราเห็นด้วยจะต้องเป็น สสังขาริก แม้แต่โลภมูลจิตที่มีกำลังก็มี ที่ไม่มีกำลังก็มี แสดงให้เห็นว่า มีเหตุปัจจัยที่จะทำเกิดขึ้นเป็นอสังขาริก คือมีกำลังด้วยตัวเองนั้นอย่างหนึ่ง แล้วต้องอาศัยการชักชวน เพราะว่าเป็นจิตที่ไม่มีกำลังอีกประเภทหนึ่ง แต่ชักชวนชักจูงที่นี่ไม่ได้หมายความว่าการโฆษณา แต่หมายความว่า อาจจะครั้งแรกที่เราได้ยิน เราไม่สนใจ เขาจะโฆษณาอย่างไรก็ตามแต่ แต่เราไม่สนใจเลย แต่หลังจากนั้นก็อาจจะพบบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ แล้วก็เกิดความชอบขึ้น เปลี่ยนใจทีละเล็กทีละน้อย ก็แสดงให้เห็นว่า ความชอบของเราไม่ได้เกิดเองอย่างกล้าที่มีกำลัง อย่างคุณวีระเองก็จะทราบได้ว่า เคยทำอะไรมาตั้งหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ขณะไหนเป็นโลภะที่มีกำลัง ขณะไหนเป็นเรื่องธรรมดาเฉยๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่จำเป็นต้องไปนึกว่าเรามีเหตุ ๖ นี้หรือเปล่า เพราะว่าเราไม่ใช่มีโลภมูลจิตสสังขาริกตลอดกาล บางครั้งก็เป็นโลภมูลจิตสสังขาริก เพราะฉะนั้นส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเครื่องแสดงถึงการสะสม ถ้าเราเห็นคนซึ่งไม่กล้าทำอะไรเลยสักอย่างเดียว ต้องคอยตามคนอื่นอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นเราจะรู้ได้เลยว่า คนนี้ยากที่เขาจะมีอสังขาริกในเรื่องนั้น แต่เขาอาจจะมีอสังขาริกในเรื่องอื่นก็ได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง สำหรับการที่จะเห็นลักษณะที่ต่างกันของโลภะว่า ขณะใดเป็นโลภะที่มีกำลังกล้า มีกำลังแรง แล้วขณะใดเป็นเรื่องเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม หรือทางฝ่ายกุศลก็ตาม ให้ทราบว่ามี ๒ อย่าง คือ ที่มีกำลังกับที่ไม่มีกำลัง แต่อย่าเพิ่งไปคิดว่าคนอื่นเขาชวนเสียทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เพียงได้ยินได้ฟัง แล้วก็เป็นเรื่องที่ขณะนั้นโลภะของเราเกิดหรือไม่ มีกำลังกล้าหรือไม่ หรือว่าต้องอาศัยการชักจูง

    ผู้ฟัง คือโฆษณาหลายๆ อย่าง มีคำโน้มน้าวเชิญชวนให้บริโภค ให้ใช้สินค้านั้นๆ จนเราคล้อยตาม

    ท่านอาจารย์ จน นะคะ จน อย่าลืมว่าทีแรกเราไม่สนใจก็ได้ เพราะฉะนั้นจะถือว่าคำโฆษณาเป็นคำชักชวนที่ว่า ถ้าเราเกิดชอบขึ้นมาทันที จะถือว่าชักชวนไม่ได้ เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า อย่างอาหารนี้อร่อย อย่างนี้จะถือว่าโฆษณาหรือเปล่า นั่งด้วยกันหลายๆ คน แล้วก็มีกับข้าวหลายๆ อย่าง แล้วคนหนึ่งชิมแล้วก็บอกว่า จานนี้ อาหารนี้อร่อย อย่างนี้จะถือว่าชักชวนหรือเปล่า หรือเป็นความบอกเล่า คนอื่นอาจจะเกิดโลภะ หรือไม่เกิดโลภะ หรืออาจจะมีต้องการทันทีที่จะชิมก็ได้ บางคนก็เฉยๆ ก็ได้

    ผู้ฟัง กรณีอย่างนี้อาจจะไม่ใช่โฆษณา เป็นความบอกเล่า แต่ว่าโฆษณาหลายๆ อย่าง สินค้าหลายๆ ตัวในทีวี ก็ชักชวน แล้วก็เชิญชวน

    ท่านอาจารย์ แต่อย่าเพิ่งคิดไกล เพียงแต่ว่าเขาพูดให้เราได้ยินก่อน ใช่หรือเปล่า แต่ทีนี้วิธีพูดมีหลายอย่างจริง เขาอาจจะไม่ได้พูดว่า อาหารอร่อยแค่นี้ คนนั้นอาจจะพูดมากกว่านี้ก็ได้ อาหารนี้หารับประทานยาก ต้องคนที่เคยอยู่ในรั้วในวังเก่า หรือว่าคนโบราณทำใส่เครื่องปรุงต่างๆ อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้เราจะถือเป็นคำบอกเล่า หรือว่าจะถือว่าเป็นคำโฆษณา เพราะจริงๆ ที่เราใช้คำว่า โฆษณา หรืออะไรอย่างนี้ ก็คือคำบอกเล่าก่อน แล้วแต่ใจของเรา ไม่ใช่เขาบอกปุ๊บ เราชอบปั๊บ ก็จะต้องเป็นสสังขาริก เราอาจจะไม่สนใจเลย แล้วภายหลังเราสนใจก็ได้ ใช่ไหมคะ หรือว่าเราอาจจะสนใจทันทีก็ได้ พอได้ยินแล้วเราสนใจทันที บางเรื่องได้ยินแล้วไม่สนใจทันที จะถือว่าเป็น สสังขาริกหรืออสังขาริก ต้องคนนั้นรู้ว่า จิตนั้นมีกำลังหรือไม่มีกำลัง

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่แต่ละเรื่อง แต่ละวาระ

    ท่านอาจารย์ ถ้าถือสภาพจิตที่มีกำลังกับอ่อนกำลัง จะทำให้เข้าใจ อสังขาริกหรือสสังขาริกมากกว่า จะไปถือเรื่องการชักชวน

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจแล้วครับ เพราะฉะนั้นคำถามที่ผมจะถามจริงๆ ก็คงไม่มีสาระอะไรเท่าไร แต่ผมอยากจะเรียนว่า ถ้าขณะที่ผมหลับอยู่ แล้วฝันว่ามีพระมาชวนไปฟังธรรมที่วัดบวร แล้วก็ดีใจมากที่ได้ไปฟัง คือไปฟังธรรมที่วัดบวร อันนี้ผมก็เลยจะสรุปว่า จริงๆ แล้วในระหว่างฝัน ก็น่าจะเกิดเป็นสสังขาริกทั้งนั้น จะสรุปว่าอย่างนี้ได้ไหม แต่ว่าเมื่อฟังคำตอบที่ท่านอาจารย์ได้กรุณากล่าวเมื่อสักครู่นี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นสสังขาริกหรือเปล่า เพราะว่าก็ต้องพิจารณาดูอีกทีว่า ในขณะนั้นเป็นสสังขาริกหรือไม่ แต่ว่า อนุญาตอีกนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตามในฝันไม่มีปัญจทวารเข้ามาเกี่ยวข้องสอดแทรกด้วยเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องเก่าๆ ที่ผมสะสมเอาไว้ แล้วผมก็ควรจะเรียกอันนั้นว่า อสังขาริกแน่นอน

    ท่านอาจารย์ อสังขาริก สสังขาริกไม่ได้จำกัดทวาร เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง ผมเน้นประเด็นที่ว่า ถ้าเกิดขณะที่ผมเป็นมโนทวาร แล้วก็มีภวังค์คั่น ตลอดเวลา สลับไปสลับมา ต้องเป็นอสังขาริกทั้งนั้น เพราะว่าจิตในมโนทวาร น่าจะเป็นอสังขาริก ถ้าไม่เป็นมโนทวาร มโนทวารวิถีจิตที่ตามปัญจทวารวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราคงจะไม่มีความสามารถถึงขั้นที่จะไปจำกัดว่า อสังขาริก และสสังขาริกจะเกิดเฉพาะทางทวารไหน เช่นขณะที่กำลังฝัน เป็นต้น แต่เราสามารถที่จะรู้สภาพของจิตที่มีกำลังหรือไม่มีกำลังได้ แล้วจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องการคิดเท่านั้น ต้องเป็นเรื่องสติสัมปชัญญะที่รู้จริงๆ

    เพราะฉะนั้นบางคนก็บอกว่า ทำไมถึงต้องคิดมากในเรื่องของอสังขาริกกับสสังขาริก เพราะว่าจริงๆ แล้วเพียงให้ทราบว่า เป็นจิต เป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา นี่สำคัญที่สุดเลย แล้วก็นามธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน เป็นจิตประเภทที่มีกำลังบ้าง ไม่มีกำลังบ้าง แล้วเราก็มาเรียกชื่อทีหลัง ใส่ชื่อลงไป ให้รู้ว่า ขณะที่มีกำลังเป็นประเภทอสังขาริก ถ้าประเภทที่อ่อนกำลังก็เป็นสสังขาริก


    หมายเลข 9093
    22 ม.ค. 2567