ทำไมต้องแสดงโดยละเอียด ๒


    เสกสรร   คือความจริงแล้วโดยสภาวะมันมีอยู่แล้ว แต่กระผมคิดว่าจุดประสงค์ของผู้ที่จำแนกออกมานี้ กระผมคิดว่าเพื่อความเข้าใจเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ เพราะเหตุว่าผู้ที่ฟังมีกิเลสมาก ถ้าสมมติว่ามีปัญญามากไม่ต้องแยกมากเลย เพียงแค่สภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เกิดในขณะนี้กำลังปรากฏ ผู้นั้นสามารถแทงตลอดถึงสภาพที่เป็นธาตุซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่ทีนี้สำหรับผู้ฟังที่มีปัญญาน้อย ยังต้องแยกปรมัตถธรรมออก ปรมัตถธรรม ๔ ปรมัตถธรรม ๓ แยกเป็นขันธ์เพราะอะไร เพื่อให้เห็นความจริงในชีวิตว่า วันนี้มีใครเห็นโลภะบ้าง มีเยอะ มีใครเห็นบ้าง ถ้าไม่แสดงจะเห็นไหมว่า มีรูปที่ปรากฏทางตาขณะใด ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่า มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้ววันนี้เท่าไรแล้วที่จิตเกิดแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงให้เห็นขันธ์ คือแม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปก็จริง แต่ว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของความยึดถือ เริ่มจากรูปขันธ์

    นี่แสดงให้เห็นถึงความติดข้องในรูปขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยึดมั่น

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นถึงว่า เราเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ทุกคนหนีไม่พ้นความติดข้องในรูป แต่ว่าสามารถจะทราบความจริงๆได้ว่า แท้ที่จริงรูปเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ แต่ความติดข้อง กิเลส ทั้งๆที่รู้ ก็ยังมีความต้องการในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือผู้ที่ตรง

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญานี่ต้องของจริง ตามปกติ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมใดปรากฏ ก็ระลึกรู้ได้ นี่ก็รูปขันธ์ ทุกรูป ที่ใช้คำว่าขันธ์ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จำแนกเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต อย่างนี้ก็ยังติด

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทำอย่างไรปัญญาของเราถึงจะพ้น หรือว่าค่อยๆคลายความติดข้องในสิ่งที่นำความทุกข์มาให้ ทั้งๆที่รู้ว่า ติดเท่าไรก็เป็นทุกข์เท่านั้น แต่ก็ยังติด

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่ากว่าปัญญาจะรู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อย จนกระทังสามารถจะประจักษ์สภาพธรรมว่า เป็นธรรม เวลานี้เพราะเหตุว่าเราคิดว่าธรรมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราจึงมีความต้องการ แต่ว่าถ้ารู้ว่า เป็นเพียงธรรม แล้วปรากฏแล้วก็ดับไปหมด แต่ละทางๆ  ก็จะทำให้เราคลายการยึดมั่นในวัตถุสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งที่เที่ยง ไม่เกิด ไม่ดับ เพราะเหตุว่าสามารถประจักษ์การเกิดดับได้

    นี่ก็เพียงรูปขันธ์ แต่อย่าลืมว่า ต่อจากรูปขันธ์ที่เราอยากได้มานี้เพื่ออะไร เพื่อความรู้สึก คือ เวทนาเจตสิก ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ต้องการให้เกิดความรู้สึกที่พอใจเป็นสุขในอารมณ์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย พอลืมตาตื่นขึ้นมา ก็จะรับประทานอะไรอร่อยๆ จะไปไหน จะฟังอะไร ก็แสดงให้เห็นว่าเพื่อเวทนาเจตสิก เพราะว่าจิตไม่รู้สึกอะไรเลย ให้ทราบว่าขณะใดที่เป็นความรู้สึก ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้รสของอารมณ์ ที่จะทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แม้ว่าจิตจะเห็นก็จริง แต่ไม่รู้สึกอะไร เพียงเห็น แต่ว่าสภาพที่เป็นความรู้สึก เป็นเวทนาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในบรรดาจิต เจตสิก รูปทั้งหมด แยกเป็นขันธ์ ๕ ตามความติดข้อง สำหรับคนซึ่งเห็นยาก ก็ต้องค่อยๆพูดไป บอกไป แสดงไปให้ระลึกขึ้นมาได้ว่า ขณะไหนเป็นสภาพธรรมชนิดไหน แต่ว่าเราใช้คำบัญญัติว่า จิตบ้าง  เจตสิกบ้าง รูปบ้าง แต่จริงๆแล้วก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งจริงๆแล้วไม่ว่าจะเรียกอะไรหรือไม่เรียกอะไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นได้


    หมายเลข 9067
    13 ก.ย. 2558