จนกว่าจะถึงธรรมาภิสมัย


    ท่านอาจารย์ ขณะที่เราจะพูดถึงเรื่องภวังค์จิต ต้องรู้ว่า ขณะนั้นต่างกับที่สติเกิดแน่นอน ภวังค์คือหลับ ไม่รู้อารมณ์อะไร แต่ว่าเวลาที่สติเกิด  ไม่ใช่ปกติที่เรียกว่า กายวิญญาณรู้สิ่งที่ปรากฏ อย่างแข็งหรืออ่อน   ซึ่งเป็นปกติธรรมดา ทุกคนตอบได้ หรือเห็นก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินก็คือรู้เสียง

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ไม่ได้หมายความว่า สติเกิดแล้ว  เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การลำดับการเกิดดับของจิตมีมากมาย ตั้งแต่เป็นภวังค์ ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็เป็นวิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกคิดก็เป็นวาระหนึ่ง หรือเวลาที่มีสีกระทบตา ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังขยายขณะนี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ต้องมีภวังค์อยู่แน่นอนในขณะนี้ คือ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่เร็วมาก เพราะเหตุว่าเห็นแล้วได้ยินเหมือนต่อกันทันที นี่คือขณะที่หลงลืมสติ จึงเหมือนกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปสืบต่ออย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรแทรกคั่นเลย แต่การที่เราจะรู้ว่า มีภวังค์คั่นก็ดี  หรือว่าวิถีจิตวาระที่เป็นการเห็น ต่างกับวาระที่เป็นการได้ยินก็ดี ต้องอาศัยสติเกิดขึ้นจากการฟังระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะถึงธรรมาภิสมัย ซึ่งนานมาก  เพราะเป็นปัญญาจริงๆ 

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ทุกคนเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า อยู่ในขั้นของการฟัง แล้วจะต้องรู้ลักษณะของสติ ซึ่งต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แต่ลักษณะของสติที่จะเกิดขึ้น  จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้ายังไม่มีความเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แล้วเมื่อเราพูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรมกันบ่อยโดยชื่อ   จิต เจตสิกเป็นนาม แล้วก็รูปไม่ใช่นามธรรม เราก็พูดอย่างนี้  แต่จะต้องให้เป็นความเข้าใจจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อสติยังไม่เกิด ก็จะต้องมาพูดเรื่องความละเอียดว่า ก่อนที่เห็นจะเกิด จิตต้องเป็นภวังค์ เพื่อให้เราเห็นระลึกได้ว่า ไม่ใช่เรา ภวังค์ก็มี แต่ไม่รู้

    นี่คือการที่จะเริ่มรู้ว่า เราไม่รู้มากน้อยแค่ไหน แม้ภวังค์มี ก็ไม่รู้  แล้วเวลาที่ไม่ใช่ภวังค์ มีการเห็นเกิดขึ้น การเห็นที่จะเป็นวิถีจิตวาระแรก จะต้องเป็นอาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวารก็ต้องเป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับมโนทวาราวัชชนจิต

    แค่นี้ก็เห็นความไม่ใช่ตัวตน ว่าทำไมมีปัญจทวารวัชชนจิต รู้อารมณ์ที่กระทบตาคือสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เพียงแต่รู้ว่า มีอารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงไม่ใช่ภวังคจิต 

    ขณะนี้มีปัญจทวารวัชชนะจิตก็กำลังเกิด ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน  แต่ว่าเมื่อไม่รู้ ก็จะต้องฟังให้เข้าใจว่า  จิตเร็วอย่างนี้ ดับอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้  ถึงแม้ว่าจะรู้ไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต แต่โดยเหตุผลให้ทราบว่า กำลังเป็นภวังคจิตอยู่เรื่อยๆ  แล้วจะรู้อารมณ์อื่นทันที  กระแสของจิตจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร จะต้องมีการไหว ซึ่งเป็นภวังค์นั่นเองไหว แต่ว่ายังไม่รู้อารมณ์ใหม่ ยังมีอารมณ์เดียวกับภวังค์ก่อนๆ  แล้วก็เมื่อภวงัคจลนะดับ ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดแล้วก็ดับ สิ้นสุดกระแสของภวังค์ หลังจากนั้นที่เป็นทางตาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้  คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน

    นี่ก็คือให้ท่านซึ่งอาจจะหลงๆลืมๆชื่อภาษาบาลีได้ทบทวน แล้วให้ทราบว่า ปัญจ คือ ๕ ทวาร คือทาง อาวัชชนะ คือการรำพึงหรือรู้อารมณ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ส่วนทางใจก็มีมโนทวาราวัชชนจิต ชื่อต่างกันแล้ว เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตาเป็นทวาร ไม่ได้อาศัยหูเป็นทวาร แต่เพราะจิตที่เกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิต คือ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย เพราะฉะนั้นจิตดวงนี้มีภวังคุปเฉทะเป็นมโนทวาร มโนทวาร คือ ภวังคุปเฉทะ ไม่ใช่วิถีจิต และเมื่อมีภวังคุปเฉทะดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตขณะแรก

    เพราะฉะนั้นถ้าย้อนถามกลับว่า มโนทวาราวัชชนจิตคืออะไร มโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปเฉทะทางมโนทวาร ปัญทวาราวัชชนจิตคืออะไร คือวิถีจิตแรกซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะทางหนึ่งทางใด คือ อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ามีจิต ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต ต่างกันที่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่มโนทวาราวัชชนะจิตมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    จิตที่เกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท แต่สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตมีมากกว่านั้น แต่มโนทวาราวัชชนจิตมีมากกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนจิตนั้นต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียงนึกคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ให้ทราบว่า ขณะนั้นมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เพียงรูปกระทบตา ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ขณะนั้นไม่ต้องอาศัยวิริยเจตสิก

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้จักสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป เพราะความไม่รู้และการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน แต่เมื่อทรงแสดงโดยละเอียดอย่างนี้  ก็แล้วแต่ปัญญาของเราจะซึมซับความเข้าใจเรื่องจิตประเภทต่างๆ ที่จะมีการรู้ว่า จิตมีหลายประเภท แล้วจิตแต่ละประเภทนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว


    หมายเลข 8868
    11 ก.ย. 2558