ชอบโลภะมากไม่อยากละ แต่อยากละโทสะ


    สำหรับโลภมูลจิตมี ๒ ประเภท คือ เกิดร่วมกับทิฏฐิความเห็นผิดประเภทหนึ่ง และไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดประเภทหนึ่ง โดยนัยที่กล่าวถึงความเห็นผิด แต่ถ้าโดยนัยของเวทนาก็มี ๒ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสหรือว่าเกิดร่วมกับอุเบกขา อย่างไหนดี โลภมูลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา อาหารก็อร่อย รูปก็สวย กลิ่นก็หอม เสียงก็เพราะ โลภมูลจิตประเภทไหนดีเกิดร่วมกับอุเบกขาหรือเกิดร่วมกับโสมนัส เราชอบอะไร เราก็รู้สึกว่าสิ่งนั้นดีตามความรู้สึกทั่วๆ ไป ยังไม่ได้กล่าวถึงความเป็นจริงว่าไม่ดีทั้งนั้น ถ้าเป็นอกุศลแล้วดีไม่ได้ แต่ว่าสำหรับโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขากับโลภมูลจิตที่เกิดกับโสมนัสชอบอย่างไหน ชอบโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แสวงหาทั้งวันเพื่อโสมนัสเวทนาที่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีใครไม่แสวงหาบ้าง ตามความเป็นจริง มีไหม ผู้ที่ดับกิเลสคือความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ไม่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความติดข้อง ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความพอใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล พอจะมองเห็นความต่างของการที่จากปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล จะรวดเร็ว จะเล็กน้อย หรือจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ด้วยเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เจริญ ไม่มีทางที่จะดับอกุศลเลย และเป็นอกุศลประเภทที่คนไม่เห็นโทษ แต่ว่าต้องการมากๆ อยู่เสมอ ไม่เหมือนกับโทสมูลจิตซึ่งเกิดขึ้นขณะใดก็เดือดร้อนไม่ต้องการ แล้วก็คิดหาทางที่จะไม่ให้โทสมูลจิตเกิด แต่ไม่ได้คิดหาทางที่จะละโลภมูลจิต ถ้าฟังอย่างนี้แล้วพอที่จะค่อยๆ คลายสักนิดหน่อยไหม เรื่องของโลภะ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117


    หมายเลข 8752
    27 ม.ค. 2567