ปรมัตถธรรม ๔ - ขันธ์ ๕


    กฤษณา   ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ และ นิพพานปรมัตถ์ ในปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นั้น มีปรมัตถ์อยู่ ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม สำหรับนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรม  และเป็นอสังขตธรรม จิต เจตสิก รูป ที่เป็นสังขารธรรมนั้น เป็นขันธ์ด้วย ซึ่งความหมายของขันธ์นี้ ท่านวิทยากรท่านก็ได้ให้ความหมายไว้ในการสนทนาธรรมครั้งก่อนๆ ว่า ขันธ์นั้นหมายถึงกอง เช่น กองรูป ก็ได้แก่รูปทุกรูป อยู่ในกองรูป ไม่ใช่อยู่ในกองอื่น เพราะฉะนั้นรูปทุกชนิดจึงเป็นรูปขันธ์ ขันธ์นั้นหมายถึงสภาพธรรมที่จำแนกเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้

    ในบรรดาปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นั้น ปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์ ก็ได้แต่จิต เจตสิก และรูป ส่วนปรมัตถธรรมที่ไม่เป็นขันธ์ก็ได้แก่นิพพาน ซึ่งเรียกว่าขันธวิมุตติ หมายความว่าพ้นจากขันธ์

    ทีนี้ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นขันธ์นั้น จำแนกออกได้เป็นขันธ์ ๕ คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์  สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ที่เหลืออีก ๕๐ ชนิดเป็นสังขารขันธ์ และจิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์

    เมื่อทบทวนเรื่องปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์แล้ว ก็ยังมีอีกคำหนึ่งที่ควรจะต้องพูดถึงควบคู่ไปด้วยคือ อุปาทานขันธ์ 

    อุปาทานขันธ์ ก็คือขันธ์เป็นที่ตั้ง หรือเป็นอารมณ์ของความยึดมั่น ความยึดถือ นั่นเอง ฉะนั้นรูปขันธ์ก็ดี เวทนาขันธ์ก็ดี สัญญาขันธ์ก็ดี สังขารขันธ์ก็ดี วิญญาณขันธ์ก็ดี ที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่น ยึดถือ จึงเป็นอุปาทานขันธ์ เช่น มีชื่อเรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ เป็นต้น  ทีนี้ขันธ์ที่จะเป็นที่ตั้งของความยึดมั่น ยึดถือ หรือว่าเป็นอารมณ์ของอุปาทาน นั้น จะต้องเป็นขันธ์ที่เป็นโลกียะ เพราะเหตุว่าอุปาทานจะเกิดขึ้นก็ด้วยอาศัยรูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณที่เป็นโลกียะ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นโลกุตตระนั้น ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน

    ขันธ์๕ นั้น เมื่อสรุปแล้วก็สรุปได้เป็น ธรรม ๒ อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมนั้น ท่านวิทยากรก็ได้ให้ความกระจ่างกับเราในการสนทนาครั้งก่อนๆ แล้วว่า คือ สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ส่วนนามธรรมนั้นคือสภาพธรรมใดที่ไม่ใช่รูปธรรม สภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้นนามธรรม ก็ได้แก่ จิต เจตสิกและนิพพาน นามธรรมนั้นก็มีทั้งนามธรรมที่รู้อารมณ์และนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ นามธรรมที่รู้อารมณ์ ก็ได้แก่จิต และเจตสิก ส่วนนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ คือ พระนิพพาน

    ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ปรมัตถธรรมสังเขป” ว่า จุดประสงค์ของการศึกษา เรื่องของจิตปรมัตถนั้น ก็เพื่อที่จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังมีในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก เป็นต้น และก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะสภาพของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นอาการรู้ที่กำลังรู้ในขณะนี้ 

    ทีนี้เมื่อพูดถึงลักษณะของจิต ถ้าจะแบ่งอย่างกว้างๆ แล้วก็แบ่งออกได้เป็นสามัญลักษณะกับสภาวะลักษณะ  ทีนี้ท่านอาจารย์สมพรคะ อยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาพูดถึงสามัญลักษณะของจิต

    สมพร สวัสดีครับท่านสาธุชนทั้งหลาย คือ ลักษณะของจิตมี ๒ อย่าง สามัญลักษณะอย่างหนึ่ง กับวิเสสลักษณะอย่างหนึ่ง สามัญลักษณะ คือ ลักษณะของจิตโดยย่อ มี ๒

    คำว่า “สามัญ” แปลว่าเสมอกัน อะไรเหล่าที่เสมอกัน ในโลกนี้มีอะไรบ้างที่เสมอกัน ก็คือมีไตรลักษณ์  มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ลักษณะทั้ง ๓ นี้เสมอกันหมด ไม่ว่าใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจิต ไม่ว่าเจตสิก ไม่ว่ารูป จะต้องมีลักษณะทั้ง ๓ นี้เสมอกัน ท่านจึงเรียกลักษณะนี้ที่เสมอกันนี้ว่า สามัญลักษณะ ลักษณะแปลว่า เครื่องหมาย  เครื่องหมาย คือหมายความว่า สิ่งที่ให้เรารู้ได้ว่าสิ่งที่เสมอกันนั้นคืออะไรบ้าง คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ท่านเรียกว่าสามัญ แปลว่าลักษณะที่เสมอกัน  เสมอกันหมด ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป นี่เฉพาะสามัญ เท่านั้น 

    จิตมีลักษณะ ๒ อย่าง คือ ๑. สามัญลักษณะ ลักษณะที่เสมอกัน หมายความว่าทั่วไปกันเสมอกับธรรมอื่นๆ  เช่น เจตสิก ก็อย่างเดียวกัน ต้องมีการเสมอกันโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่า สามัญลักษณะของจิต แต่จิตมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่ง เฉพาะตัวเรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ หรือเรียกว่าวิเสสลักษณะ ลักษณะที่แตกต่างจากปรมัตถธรรมอื่น  วิเสส แปลว่าแตกต่างจากปรมัตถธรรมอื่น หมายความว่าจิตนี้ไม่เหมือนเจตสิก เพราะอะไรไม่เหมือนเจตสิก เพราะว่า  จิตมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ส่วนเจตสิกนั้นมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มีการประกอบจิตเป็นลักษณะจึงต่างกัน เรียกว่าวิเสส แปลว่าต่างกัน หรือจะเรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะ เฉพาะตัวของเขา เฉพาะจิต ถ้าเป็นเจตสิกก็เฉพาะเจตสิก ถ้าเป็นรูปก็เฉพาะรูป เรียกว่า ปัจจัตตะ หรือเรียกว่า วิเสสลักษณะ ลักษณะที่แตกต่างจากปรมัตถธรรมอื่น ท่านจึงเรียกว่าวิเสสลักษณะ

     


    หมายเลข 8723
    11 ก.ย. 2558