พูดได้ว่าไม่มีเรา แต่ประจักษ์จริงๆอย่างนั้นหรือเปล่า


    วิภากร   ที่ท่านอาจารย์เคยอธิบายอยู่ ๒ ครั้งที่บอกว่า เมื่อสติเกิดให้ระลึกรู้รูปหรือนาม คำพูดนี้กับที่ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้ามีสติเกิดแล้วมีแข็งกับรู้แข็ง เท่านั้นแล้วจบเลย ที่ท่านอาจารย์ตอบคำถามของคุณป้าสุรีย์ แล้ว ๒ อย่างนี้มีลักษณะของสภาพธรรม อยากให้ท่านอาจารย์อธิบาย ๒ คำพูดนี้ว่า อันแรกนี่หมายความว่า เราทราบเพียงรูปหรือนามอย่างเดียว กับอันที่ ๒ นี่หมายความว่า สติต่อกันทั้ง ๒ อย่าง จากรูปไปนาม หรือว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์    ไม่มีกฎเกณฑ์ค่ะ  แต่ต้องมีความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมเท่านั้น เข้าใจจริงๆอย่างนี้หรือเปล่าคะ ได้ยินเสียงไหมคะ

    วิภากร   ได้ยินค่ะ

    ท่านอาจารย์     จริงๆ ใช่ไหมคะ แล้วอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

    วิภากร   เสียงเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม

    ท่านอาจารย์    นี่จำได้

    วิภากร   ไม่ค่ะ สติระลึกรู้

    ท่านอาจารย์    หรือคะ สติระลึกรู้อะไรคะ

    วิภากร   ระลึกรู้เสียงกับได้ยิน

    ท่านอาจารย์    พร้อมกันหรือเปล่า

    วิภากร   มันชิดกัน แต่ไม่ทราบว่า

    วิภากร   ไม่พร้อมกัน

    ท่านอาจารย์    ไม่พร้อมกันนะคะ เวลาที่ระลึกลักษณะของนามธรรม สภาพที่ได้ยิน ขณะนั้นรู้อะไร

    วิภากร   สภาพที่รู้เสียงนั้น

    ท่านอาจารย์    ขณะที่เห็นล่ะคะ

    วิภากร   ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของเห็น เข้าใจว่าเป็นสภาพรู้ใช่ไหมคะ

    วิภากร   ค่ะ

    ท่านอาจารย์    เข้าใจอย่างไรว่าเป็นสภาพรู้ เวลานี้กำลังเข้าใจว่าเป็นสภาพรู้หรือเปล่าคะที่กำลังเห็น

    วิภากร   เข้าใจว่าเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์    เข้าใจแล้ว

    วิภากร   เรารู้สิ่งที่เราเห็นค่ะ

    ท่านอาจารย์    ไม่ค่ะ เข้าใจแล้วหรือยังว่าเป็นสภาพรู้

    วิภากร   เข้าใจค่ะ

    ท่านอาจารย์    เข้าใจหมดแล้วหรือยัง

    วิภากร   แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง เข้าใจเฉยๆ

    ท่านอาจารย์    แต่ก็เป็นความรู้ขั้นฟัง ขั้นเข้าใจว่า ขณะนี้ลักษณะของเห็นไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่ขั้นฟัง หรือว่าไม่ใช่ขั้นนี้ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นความเข้าใจขั้นฟัง หรือว่าไม่ใช่ขั้นฟัง

    วิภากร   ถ้าเป็นทางตา หนูยังมีความรู้สึกว่า ยังไม่กระจ่างเท่าเสียง ถ้าทางโสตทวาร จะเข้าใจว่า ไม่ใช่เพียงแค่รู้ แค่เข้าใจ หมายถึงว่า ประสบของจริงกับคำพูดที่ท่านอาจารย์อธิบาย มันตรงกัน

    ท่านอาจารย์    ขณะที่ระลึกของสภาพที่ได้ยินว่ามีจริง เป็นลักษณะรู้หรือสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นสภาพรู้อีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ระลึกลักษณะของสภาพรู้ ขณะที่สติระลึกก็ค่อยๆรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพที่สามารถจะรู้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง

    วิภากร   ก็ท่านอาจารย์บอกว่า ทุกทวารจะมีความเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์    อะไรเหมือนกันคะ

    วิภากร   หมายถึงการรู้รูปกับนาม หมายความว่า นามก็เป็นสภาพรู้เหมือนกัน เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นนามทางโสตทวาร เราจะรู้เสียง แต่ถ้าหากเป็นทางตา เราจะรู้สิ่งที่เห็นอย่างนี้ แต่เหมือนกับไม่ชัดเจนเท่าทางเสียง

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรต่อไป

    วิภากร   ก็ระลึกต่อไป

    จรัล   เมื่อกี้นี้ได้ยินคำว่า “ระลึกต่อไป” อันดับแรก “ระลึก” คืออะไร และ “ระลึกต่อไป” คืออย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    หมอวิภากรจะตอบได้ไหมคะ คำถามของคุณจรัล

    วิภากร   ระลึกอันแรกที่ถาม ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าสติเกิดเมื่อไร ก็ระลึกไปเรื่อยๆ ระลึกต่อไป ก็คือเป็นไปตามอย่างนี้เรื่อยๆ หมายความว่าเมื่อไรที่สติเกิด โดยไม่เป็นการเจาะจงหรือตั้งใจไปบังคับ เมื่อมันเกิดก็ระลึก ฟังธรรมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ที่ให้เกิดสติขึ้นแล้วเราก็ระลึกไปเรื่อยๆ เมื่อระลึกไปเรื่อยๆ ปัญญาก็จะมากขึ้น ก็จะมีความชัดเจนไปเทียบเท่ากับทางโสตทวารมากขึ้น คิดว่าเข้าใจอย่างนั้น

    จรัล   ในเมื่อไม่มีตัวตนที่สามารถไประลึกได้ พอบอกว่าระลึกต่อไปนี่จะไม่ขัดกันเองหรือครับ เพราะที่ผมเข้าใจ ที่ทำได้ก็คือฟังธรรม ที่ไม่ว่าใครก็ตามแสดงให้ฟังต่อไป ให้เข้าใจมากขึ้น อย่างนั้นคือสิ่งที่ผม ปัญญาน้อยนิดจะเข้าใจได้ ไม่ทราบว่าจะขัดกับคุณหมอหรือเปล่าครับ

    วิภากร   ที่พูดว่าระลึกต่อไป ก็ไม่ใช่หมายความว่า ไปบังคับ เมื่อไรที่สติเกิดก็ให้ระลึกรู้ ก็มีการฟังธรรม เพราะเราทราบว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้สติเกิดระลึกรู้มากขึ้นไปเรื่อยๆ  เมื่อใดที่สติเกิด แต่ไม่ใช่เป็นการเจาะจงหรือบังคับ

    ท่านอาจารย์    ก็ฟังไป เข้าใจไป แล้วก็รู้ว่า ไม่มีตัวเรายิ่งขึ้น พร้อมทั้งไม่ใช่เพียงขั้นพิจารณา หรือเข้าใจเฉยๆ เพราะเราอาจจะพูดได้ว่า ไม่มีเรา แต่รู้จริงๆในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธาตุ หรือรูปธาตุ ชัดเจนด้วยวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่เพียงขั้นสติปัฏฐานเกิด


    หมายเลข 8391
    9 ก.ย. 2558