เป็นผู้ที่ยิงไกลและยิงไว


    ท่านอาจารย์    “ต้องเป็นผู้ที่ยิงไกลและยิงไว” ข้อความนี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถเข้าใจความหมายและการอบรมแค่ไหนอย่างไร อย่างโลภะของเรา เราเห็นอย่างหยาบๆ ใกล้หรือไกลคะที่เราเห็นได้ โลภะที่เรามีเป็นประจำ ที่เราพอจะรู้ได้ว่า เราติดข้องในสิ่งนั้นสิ่งนี้ หยาบพอที่จะให้เรารู้ว่า เราติดข้อง สิ่งนั้นใกล้หรือไกล โลภะที่ติดข้องแม้ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งปรากฏเป็นเพียงธาตุ ถ้าใครบอกว่าไม่มีโลภะ ติดข้อง เป็นพระอรหันต์แล้วค่ะ

    เพราะฉะนั้นเราจะรู้ไหมถึงความละเอียดของโลภะ ซึ่งไม่มีอะไรเลย เป็นวิปัสสนาญาณ แล้วก็เพียงรูปธรรม จะเป็นร้อน หรือจะเป็นแข็ง จะเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่มีความติดข้องว่า เป็นเรา เพราะว่าความเป็นเรา แต่ละคนก็ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ใช่ไหมคะ ศีรษะจรดเท้า ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดไม่ปรากฏ แต่เวลาที่ปรากฏ ไม่ใช่ศีรษะจรดเท้า เฉพาะส่วนหนึ่งที่แข็ง แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ลักษณะที่แข็งที่ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่โต แต่ว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แต่ว่าความเป็นเราจะยังคงเหลืออยู่หรือเปล่า หรือความร้อน หรือความอ่อน ก็ตามแต่ ธรรมดาๆอย่างนี้ ถึงแม้ว่ารู้แล้ว ผ่านมาที่จะเข้าใจถูกต้อง แต่เวลาที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ โลภะมีไหม หมดหรือยัง  ผู้นั้นต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ และโลภะนั้นไกลหรือใกล้ เห็นไหมคะ ไกลหรือใกล้ อย่างนั้นต้องไกล ถ้าละเอียดกว่านั้นต้องไกล แต่ถ้าสามารถจะรู้ได้ธรรมดาในชีวิตประจำวัน คือ ใกล้ คือสามารถจะเห็นตัวใหญ่ ๆ ตัวโตๆ ได้ แต่ตัวไกลที่ละเอียดที่ต้องอาศัยปัญญาที่ละเอียดขึ้นจึงจะละได้ ก็เป็นสิ่งที่ไกล

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องเป็นนักรบที่ยิงไกลและยิงไว “ไว” คือ สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เพราะเหตุว่าขณะนี้สืบต่อกันโดยที่สติไม่เกิดคั่น ไม่ระลึก ไม่รู้ ไม่สามารถประจักษ์การเกิดดับ ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่ผู้ที่ยิงไว

    ก็เป็นเรื่องของการอบรม แต่ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง คือ เราจะมีความเข้าใจเรื่องศีลเป็นอุปนิสัยที่ทำให้เราวิรัติเป็นปกติ หรือสำหรับคนซึ่งเขาอาจจะไม่ได้สะสมมาที่จะวิรัติ แต่พอฟังธรรม เขาก็เปลี่ยนนิสัยได้ อย่างมีคนหนึ่งเขาชอบรายการ “แนวทางเจริญวิปัสสนา” มาก เพราะไม่ได้ห้ามให้เขาดื่มเหล้า เพราะเขาดื่มเสมอ เราก็จะไปห้ามใครได้ ธรรมเป็นอนัตตา อย่าลืมว่าพระธรรม การรู้ว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” พระผู้มีพระภาคไม่ได้ห้ามใครเลย แต่ทรงแสดงธรรมโดยเหตุโดยผล โดยตรง โดยละเอียด ให้ผู้นั้นพิจารณาด้วยตัวของเขาเอง จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้เขามีการละเว้นเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เมื่อนั้น แต่ไม่ใช่พอฟังวันนี้ คุณอย่าดื่มนะ แล้วคุณอย่าดื่ม ๓ เดือน ๘ เดือน วันไหนเขาจะดื่มอีก เขาก็ดื่มได้ ในเมื่อเขามีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ไม่ปีนี้ก็ปีหน้า แต่ถ้าเขาฟังธรรม เหตุผลโดยละเอียด และอบรมเจริญปัญญาไป ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ไม่มีเรา ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พวกนี้เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงเหตุผล แต่ถ้าเราอ่านไม่ละเอียด ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ เราคิดว่า พระพุทธเจ้าห้ามฆ่า ห้ามขโมย ห้ามอะไรต่างๆ แต่ความจริงทรงแสดง และคนที่มีเจตนา ที่ใช้คำว่า “สมาทาน” หมายความว่า ถือเอาสิ่งนั้นเป็นข้อปฏิบัติ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำนี้ แต่เมื่อไรเราเห็นว่า ทุกคนรักชีวิต แล้วเราไปทำให้เขาเจ็บ ทำให้เขาตาย ต่อไปนี้เราจะไม่ฆ่า เราเพียงแค่นึกในใจ ภาษาบาลี ก็คือถือเอาเป็นข้อปฏิบัติ ที่จะไม่ล่วงศีลต่างๆ  ก็เป็นเรื่องปกติของชีวิตซึ่งจะต้องนำด้วยปัญญา

    อวิชชา ความไม่รู้ ก็นำมาซึ่งอกุศลทั้งปวง นั่นคือหน้าที่ของอวิชชา แต่หน้าที่ของปัญญา ก็คือนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราเป็นตัวเราที่บีบ จะบังคับ จะพยายามเค้นให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าปัญญาเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ของเขา เพราะว่าถ้ามีปัญญาแล้วก็นำมาซึ่งกุศลทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นความสงบ หรือว่าเป็นปัญญา

    เป็นเรื่องที่ทุกคนอาจจะรู้สึกว่า ยาก ใช่ไหมคะ ยากหรือง่ายคะ คุณกิมรส

    กิมรส ยาก

    ท่านอาจารย์    ยาก คือการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถ้าง่ายแล้ว ไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย


    หมายเลข 8368
    9 ก.ย. 2558