ประจักษ์ที่ลักษณะ ไม่ใช่คิดเอา ๔


    พระ   โดยปกติธรรมดาของคนที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ก็ต้องรู้ด้วยว่า สภาพธรรมนั้นประกอบด้วยเหตุปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์    นั่นคือคิด ยังไม่ทันรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเลย เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณแรกจึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่ปัจจยปริคหญาณ

    พระ   คนที่รู้ว่า รูปไม่เที่ยง จักษุไม่เที่ยง จะละอะไร

    ท่านอาจารย์    ละความเป็นเราที่กำลังเห็น เพราะรู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    พระ   อันนี้คิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์    ไม่ได้คิด ถ้าประจักษ์ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ ทนต่อการพิสูจน์ สัจธรรมเป็นความจริงที่ทนต่อการพิสูจน์ ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทในครั้งพุทธกาล ฟังธรรมแล้วไม่เป็นโมฆะ เมื่อสามารถรู้ความจริงตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นโมฆะ เรียนมากเท่าไร ๗ คัมภีร์ของพระอภิธรรมหรือทั้ง ๓ ปิฎก ช่ำชองสักเท่าไร แต่สติไม่เคยเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเพียงขั้นคิด เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง ที่ทรงแสดงไว้ และเหมือนใบลานเปล่า คือ พูดได้ บอกได้ อธิบายได้ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะจริงๆของสภาพธรรม

    เมื่อธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทำไมรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่า “ปัญญา” ควรจะคิดว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาเป็นความเห็นถูก เป็นความรู้ถูก เพราะฉะนั้นปัญญารู้ถูกอะไร เห็นถูกอะไร  ต้องมีสิ่งที่ปัญญารู้ถูก และเห็นถูกตามความจริงของสิ่งนั้น  ถ้าไม่มีอะไรเลย ปัญญาจะไปรู้อะไรก็ไม่ได้  แต่เพราะเหตุว่ามี มีทุกอย่างที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือความเห็นถูก ความรู้ถูกในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    พระ   ที่ว่ารู้ ก็ต้องหมายถึงว่า รู้โดยความเป็นของไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์    รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อนเจ้าค่ะ มิฉะนั้นอะไรไม่เที่ยง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เราไม่เที่ยง แต่สภาพนามธรรมใดที่สติกำลังระลึก อบรมจนกระทั่งปัญญาสามารถประจักษ์การไม่เที่ยง คือ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมนั้น ซึ่งกำลังเกิดดับจริงๆ  นั่นคือปัญญา

       เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟัง สุตตามยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ไม่อย่างนั้นในพระพุทธศาสนา ก็ไม่มีภาวนามยปัญญา มีแต่ปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นคิด


    หมายเลข 8348
    9 ก.ย. 2558