ทุกข๋กายหลีกเลี่ยงไม่ได้


    ศิลกัล   เมื่อพูดถึงเรื่องทุกข์กายทุกข์ใจ เมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์กล่าวว่า แม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกข์ทางกายก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผลของกรรม  การศึกษาธรรม จะไม่ช่วยอะไรทางกายเลย ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    ฟังธรรมเพื่อไม่ให้เจ็บไข้ หรือเพื่ออะไรคะ

    ศิลกัล   เพื่อให้มีสติระลึกรู้ว่า นี่เป็นผลของกรรม ก็แค่นั้น

    ท่านอาจารย์    ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว สติจะเกิดไหมคะ

    ศิลกัล   ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ถ้าตราบใดที่ยังไม่เข้าใจ ก็ฟังให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว ปัญญาจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ ตามทางของความเห็นถูก จะไม่ไปสู่ความเห็นผิด

    ศิลกัล   แล้วความเจ็บทางกายก็จะลดลง

    ท่านอาจารย์    ฟังธรรมเพื่ออะไรคะ

    ศิลกัล   เพื่อพ้นทุกข์ เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์    เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรม ก็จะรู้ว่า ไม่มีใครหลีกพ้นวิบากกรรมที่จะเกิดทางกายได้

    พระ   ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า ถ้าเป็นกรรมที่เกิดขึ้นทางกาย เราไม่มีสิทธิ์จะต่อรองหรือแก้ไข ปรับปรุง

    ท่านอาจารย์    เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมก็สำเร็จแล้ว และก็พร้อมด้วยเหตุปัจจัยสมบูรณ์สุกงอมที่จะให้ผล ผลนั้นจึงเกิดได้เจ้าค่ะ

    พระ   แปลว่าอย่างไรต้องใช้หนี้

    ท่านอาจารย์    อย่างไรสิ่งที่เกิดแล้ว ต้องมีปัจจัยให้เกิด ไม่ใช่ตามความปรารถนาของเราหรือของใคร นี่คือสิ่งที่จะต้องพิจารณา ฟังธรรมแล้วจะให้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น ฟังธรรมแล้วจะไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งไม่ใช่เหตุผล ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้องในธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ

    พระศุภกร   เมื่อกี้นี้ที่บอกว่า ทุกขเวทนาทางกายเป็นผลของกรรม ทีนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราพิจารณาว่า มันเป็นทุกข์เพราะกรรมในอดีต แล้วก็ไม่รักษา ปล่อยไปจนกว่าจะหมดกรรม อย่างนี้จะถือว่าเป็นความเห็นผิดหรือถูก

    ท่านอาจารย์    ถ้าเข้าใจถูกต้อง ไม่มีเรา นอกจากจิต เจตสิก รูป

    พระศุภกร   แล้วจะมีการรักษาไหม

    ท่านอาจารย์    ทุกขเวทนาที่เกิด รูปนี่ไม่เจ็บไม่ปวด เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏที่กระทบกายที่ไม่เหมาะสม ไม่สบาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ๑ ขณะจิต แล้วก็ยังมีจิตต่อๆไปซึ่งคิดนึกถึงโรคนั้นด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่ใครจะไม่รักษาโรค เพราะคิดว่าเป็นจิต เจตสิก รูป เป็นผลของกรรม

    พระศุภกร   ถ้าเผื่อเราขวนขวายในการรักษา จะถูกกล่าวหาว่าไม่เชื่อ ไหนสอนว่าเป็นผลของกรรม ทำไมวุ่นวายไปหายามารักษา ถ้าดูต่อว่าอย่างนี้ จะว่าอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    เจ้าค่ะ วันหนึ่งๆ ไม่ได้มีแต่วิบากจิต จิตมี ๔ ชาติ จิตที่เกิดมาตั้งแต่เกิดจนตาย จำแนกออกโดยชา - ติ คือ การเกิดเป็น ๔ อย่าง คือ ๔ ประเภท คือ จิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล จะเป็นเหตุที่ดี จะเป็นอกุศล ก็เป็นเหตุที่ไม่ดี ทั้งกุศลอกุศลเป็นเหตุให้เกิดจิตที่เป็นผล ผลของกรรมก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยเป็นผลของกรรม เนื่องมาจากกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตนั้นเป็นวิบากจิต ซึ่งเกิดขณะแรกของชาติหนึ่งต้องเป็นผลของกรรม เมื่อเกิดแล้วยังไม่ตาย ยังดำรงภพชาติอยู่ก็เป็นผลของกรรม เมื่อดำรงภพชาติอยู่ ทำไมไม่ตาย เพื่อที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม

    นี่คือกุศลซึ่งเป็นเหตุ อกุศลซึ่งเป็นเหตุ และวิบากซึ่งเป็นผล แต่เวลาที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการเห็น มีการได้ยิน ซึ่งเป็นผลของกรรมแล้ว ก็ยังมีจิตที่เป็นกุศล อกุศลเกิดอีก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เจ็บปวด ไม่ชอบความเจ็บปวดนั้น จิตเป็นอกุศล คิดที่จะรักษาพยาบาล ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ความต้องการที่จะให้หายป่วย ซึ่งเป็นจิต ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะไปบังคับไม่ให้จิตนี้เกิดขึ้น ไม่มีการรักษาความป่วยไข้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เจ้าค่ะ

    พระศุภกร   ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ การรักษาโรคที่เกิดทางกายก็ต้องเกิดขึ้นเพราะโลภะ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    ถ้าขณะใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นวิบาก ไม่เป็นกิริยา ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    พระศุภกร   ถ้าเราเป็นนิ่ว ปวดท้อง ดิ้นไปดิ้นมา เราขวนขวายไปโรงพยาบาลแล้วมีการผ่าตัด การที่ต้องการรักษา ในขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภะตลอด

    ท่านอาจารย์    ถูกต้องเจ้าค่ะ

    พระศุภกร   ถ้าเป็นพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์    ก็เป็นกิริยาจิต

    พระศุภกร   แต่ก็มีการรักษาเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์    แน่นอนเจ้าค่ะ

    พระศุภกร   แต่ด้วยกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์    เจ้าค่ะ

    พระศุภกร   อันนี้หมายความว่า อันนี้เป็นธรรมชาติของท่าน หมดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว อย่างเราไม่มีทางฝันว่าจะทำจิตอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นปุถุชนกับพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น ก็ต้องแตกต่างกัน โดยปัญญาเท่านั้น แต่ชีวิตการเป็นอยู่ก็เหมือนกัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเสวยพระกระยาหาร ต้องปฏิบัติอาบน้ำชำระร่างกาย ทำทุกอย่าง เวลาที่มีบาดแผล หมอชีวกก็รักษา ทั้งๆที่ท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทรงอนุเคราะห์ให้หมอชีวกรักษาพยาบาล เพื่อเป็นกุศลของหมอชีวกเอง

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีความต่างกัน แต่ความต่างของจิตใจก็คือว่า ผู้ที่เป็นปุถุชน มีกุศลบ้าง มีอกุศลบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นอกุศล ทันทีที่เห็น เห็นแล้วรักหรือชัง ชอบหรือไม่ชอบ น้อยนักในวันหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อเห็นแล้วเป็นกุศลที่จะสละเป็นทาน หรือที่จะเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นโดยประการใดๆ

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตของคนที่มากไปด้วยอกุศลในชีวิตประจำวันจริงๆเกิด และกว่าจะเปลี่ยนเป็นเห็นแล้วเป็นกุศล จะยากไหมคะ และกว่าจะเปลี่ยนจากเห็นแล้วเป็นกุศล เป็นกิริยาจิต  ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ตรงจริงๆที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และหลังจากเห็นแล้วก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นกุศลหรืออกุศล ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะก็รู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ แต่ต้องเป็นปัญญาตามระดับขั้นจริงๆ ไม่ใช่ข้ามขั้น


    หมายเลข 8297
    8 ก.ย. 2558