ทิฏฐิที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต


    ในคราวก่อนเป็นเพียงเรื่องของโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เป็นโสมนัสสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด เป็นอสังขาริก เพราะเหตุว่ามีกำลังกล้า เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

    สำหรับเรื่องของโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ได้กล่าวถึงโสมนัสเวทนา และเหตุให้เกิดโสมนัสเวทนาแล้ว ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะในตอนนี้  ถ้าไม่มีก็จะได้กล่าวถึงลักษณะของทิฏฐิ ความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นธรรมทุกๆขณะนี้ ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบว่า ขณะไหนบ้างที่จิตเป็นโลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด

    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า “ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ” มีข้อความว่า

    อกุศลจิต ชื่อว่า ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ ด้วยอรรถว่า สัมปยุตต์ด้วยทิฏฐิ

    คือในขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี อธิบายนิทเทสมิจฉาทิฏฐิ มีข้อความบางประการว่า

    ชื่อว่า “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” ด้วยอรรถว่า เป็นความเห็น ไม่ใช่ตามเป็นจริง

    ที่จะรู้ว่า ความเห็นชนิดใดเป็นความเห็นถูก และความเห็นชนิดใดเป็นความเห็นผิด ก็จะต้องทราบว่า ความเห็นผิดเป็นความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นเป็นความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริงแล้ว ก็เป็น “มิจฉาทิฏฐิ”

    ชื่อว่า “ทิฏฺฐิคตํ” ด้วยอรรถว่า ความเห็นนี้ไปในพวกทิฏฐิ

    ความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริงนี้มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย แล้วก็แตกแขนงแยกไปมากมาย ไม่ว่าทั้งนอกพระพุทธศาสนา หรือในบรรดาพุทธศาสนิกชน ถ้าไม่พิจารณาความคิดเห็นในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง อาจจะไม่รู้ตัวว่า ขณะนั้นเป็นไปแล้วกับความเห็นผิด คือ ความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง

    “ทิฏฐิ” นั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฺฐิคหณํ ด้วยอรรถว่า ก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่า และชัฏภูเขา

    ใครจะมีความรู้สึกอย่างนี้บ้างคะว่า ความเห็นผิดน่ากลัวและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แล้วก็ก้าวล่วงได้ยาก ถ้าเกิดยึดถือในความเห็นผิดนั้นแล้ว ที่จะปล่อยจากความเห็นผิดนั้นยาก เพราะว่าความเห็นผิดเกิดขึ้นขณะใด ในขณะนั้นจะเห็นถูกไม่ได้ แต่ขณะใดที่ความเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นจะรู้ว่า ความเห็นอย่างไรผิด และความเห็นอย่างไรถูก แต่ขณะใดก็ตามซึ่งความเห็นผิดกำลังเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นความเห็นผิด เพราะฉะนั้นการที่จะก้าวล่วงความเห็นผิด เป็นการก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่าและชัฏภูเขา

    มีใครเคยหลงป่าบ้างไหมคะ ไม่ทราบว่าจะออกไปได้อย่างไร หาทางออกไม่ได้เลย ยากมากทีเดียว ฉันใด การที่ใครก็ตามเกิดความเห็นผิด ยึดถือความเห็นผิด วนเวียนอยู่ในความเห็นผิด ยังไม่สามารถที่จะรู้ว่า ความเห็นอะไร ความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นถูก ขณะนั้นก็ไม่มีทางที่จะออกจากความเห็นผิดได้ เพราะเหตุว่าการที่จะออกจากความเห็นผิดได้ ก็ต่อเมื่อมีความเห็นถูกเกิดขึ้นเท่านั้น จึงจะรู้ว่า ความเห็นก่อนๆ เป็นความเห็นผิด หรือว่าความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นผิด

     


    หมายเลข 7811
    22 ส.ค. 2558