ความหมายของคำว่า มูล


    สำหรับความหมายของคำว่า “มูล” ก็ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า ธรรมดาโลภเจตสิก เป็นเหตุ โทสเจตสิก เป็นเหตุ โมหเจตสิก เป็นเหตุ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ

    และทางโสภณธรรมที่เป็นโสภณเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นเหตุ

    แต่เหตุใด สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง จึงทรงแสดงว่า เป็นโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

    ทำไมจึงใช้คำว่า “มูล” ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า “เหตุ” ว่า โลภเหตุ หรือโทสเหตุ หรือว่าโมหเหตุ ถ้าใช้คำว่า “เหตุ” จะหมายความถึง เจตสิก เพราะเหตุว่าโลภเจตสิกเป็นตัวเหตุ โทสเจตสิกเป็นตัวเหตุ โมหเจตสิกเป็นตัวเหตุ แต่เมื่อเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเหล่านี้เกิดกับจิต ซึ่งเป็นอกุศลธรรม ทำให้อกุศลธรรมเหล่านั้นเจริญยิ่งขึ้น งอกงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า “มูล” สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต และโมหมูลจิต

    ข้อความในอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ มีว่า

       ชื่อว่า มูล โดยความหมายว่า เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นตัวให้เกิด เป็นสมุฏฐาน เป็นที่บังเกิด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ก็รู้ว่า เจตสิกใดเป็นเหตุ เพราะจิตที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดพร้อมกับเจตสิกหลายประเภท ไม่ใช่มีเจตสิกเพียงโลภะอย่างเดียว แต่ว่าจิตดวงหนึ่งๆที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่น้อยกว่า ๗ ดวง และสำหรับจิตที่เป็นอกุศลย่อมมีเจตสิกมากกว่า ๗

    เพราะฉะนั้นเวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีเจตสิกอื่นๆเกิดร่วมด้วย แต่ให้ทราบว่า เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งเป็นมูล ให้เกิดสภาพของจิตที่ยินดีพอใจในขณะนั้น เป็นเพราะโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุและเป็นมูลสำคัญ อุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ต้นไม้เติบโตเจริญขึ้น จนกระทั่งลึกและยากแก่การที่จะขุดถอนขึ้น ซึ่งก็ควรจะพิจารณาว่า เป็นความจริงไหมในชีวิตประจำวัน โลภมูลจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดแล้ว เกิดอีก แล้วก็เป็นตัวเหตุ เป็นตัวมูล ที่จะทำให้มีความยินดีพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งเหมือนกับรากของต้นไม้ ซึ่งฝังลึกและทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้น เพราะได้โอชะจากดินและน้ำ

    เพราะฉะนั้นความยินดีพอใจซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะ ซึมซาบทั่วไปทั้งราก ทั้งลำต้น ทั้งกิ่ง ทั้งใบ ทั้งดอก ในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ


    หมายเลข 7701
    22 ส.ค. 2558