จิตเป็นหัวหน้า แล้วใครเป็นลูกน้อง


    ส.   มีข้อสงสัยเรื่องสภาวะลักษณะของจิตไหมคะ

    ถาม   จิตเป็นหัวหน้า อยากถามว่าใครเป็นลูกน้องครับ

    ส.   เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยค่ะ

    ผู้ฟัง    ก็มีพุทธพจน์บทหนึ่งบอกว่า มโนคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนพยา พุทธพจน์บทนี้ ผมก็ยังไม่เข้าใจ ท่านแปลว่า จิตถึงก่อน จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน อย่างนี้ ผมก็อยากจะรู้ว่า จิตที่เป็นประธานนี้ เป็นประธานของเจตสิก ใช่ไหมครับ

    ส.   ค่ะ

    ผู้ฟัง    ที่ว่ารู้แจ้ง คือ จิตเป็นผู้รู้ เจตสิกไม่ได้รู้หรือครับ

    ส.   เจตสิกมี ๕๒ ประเภท แล้วก็เจตสิกแต่ละประเภทๆ ก็มีลักษณะและมีกิจการงานของตนๆ เป็นลักษณะที่ต่างกันออกไปเป็น ๕๒ ลักษณะ

    ผู้ฟัง    และที่ว่าจิตถึงก่อนนั้น ถึงก่อนใครครับ

    ส.   ถ้าไม่อุปมาก็คงจะยากที่จะเข้าใจนะคะ ข้อความในอัฏฐสาลินี มีข้อความว่า

    เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่รักษาเมือง นั่งอยู่ที่ทางสี่แพร่ง กลางเมือง ย่อมตรวจตรากำหนดคนที่ผ่านเข้ามาว่า คนนี้เป็นคนประจำ คนนี้มาใหม่ ฉันใด พึงทราบข้ออุปมัย ฉันนั้น ข้อนี้สมกับคำที่พระนาคเสนเถระกล่าวไว้ว่า

    เหมือนอย่างว่า คนรักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ถนนสี่แยก ณ ท่ามกลางพระนครแล้ว จะพึงแลเห็นบุรุษที่มาอยู่แต่ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ฉันใด บุคคลเห็นรูปได้ด้วยนัยน์ตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ย่อมรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์นั้นได้ชัดด้วยวิญญาณ ก็ฉันนั้น เพราะมุ่งถึงทวาร ดังที่กล่าวมาแล้ว

    จิตนั่นแหละในฐานะที่รู้อารมณ์ ชื่อว่า เป็นหัวหน้า คือ เที่ยวไปข้างหน้า ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า มีความเป็นหัวหน้า เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    ท่านผู้ฟังคงจะติดพยัญชนะที่ว่า จิตถึงก่อน เป็นธรรมชาติที่ถึงก่อน ใช่ไหมคะ พังดูแล้วก็น่าคิดนะคะว่า ถึงอะไรก่อน ไปไหน และไปถึงที่ไหน ถึงอะไรก่อน จึงแสดงว่า จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นหัวหน้า ถึงก่อน

    คำอุปมานะคะ คนที่อยู่ในเมือง ตรงกลางสี่แยก ย่อมเห็นสิ่งที่จะมาทั้งทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก คือ โดยทวารแล้ว จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เช่น ทางตานี้ จิตเห็น ผัสสเจตสิกกระทบ ไม่เห็น สัญญาเจตสิก จำ ไม่เห็น เวทนาเจตสิก รู้สึก ไม่เห็น

    แต่จิตเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ เหมือนคนที่อยู่สี่แยก ตรงกลาง แล้วก็ไม่ว่าใครจะมาทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันอก ทิศเหนือ คนที่อยู่ตรงกลางที่ตรงสี่แยกนี้ เห็นก่อนถูกไหมคะ ถ้าจะหมายความถึงว่า ถึงก่อน หมายความถึง เห็นก่อน แต่ว่าโดยสภาพจริงๆแล้ว จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ในขณะที่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทั้งหมดกระทำกิจเฉพาะของตนๆ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์อย่างจิต

    เช่น ผัสสเจตสิก กระทบรูปารมณ์ ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นเป็นประธาน เป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือ เห็นอารมณ์ แต่ผัสสเจตสิกกระทบกับรูปารมณ์เท่านั้น ในขณะที่เวทนาเจตสิกรู้สึกอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบและจิตรู้แจ้ง

    เวลาที่ผัสสเจตสิกกระทบ จิตรู้แจ้ง สัญญาจำอารมณ์ สัญญาจำ สัญญาทำอย่างอื่นไม่ได้ และเจตสิกอื่นๆก็กระทำกิจของตนๆ

    เพราะฉะนั้นที่ว่า จิตถึงก่อน โดยทวาร และเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร จึงชื่อว่า ถึงก่อน เพราะว่าอุปมาเหมือนคนที่อยู่ตรงสี่แยก และเห็นก่อน เพราะเหตุว่าอยู่ตรงสี่แยก จึงเห็น ไม่ว่าใครจะมาทางทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็เห็นก่อน เพราะอยู่ตรงสี่แยก ฉันใด ที่ว่าจิตเป็นสภาพที่ถึงก่อน เป็นใหญ่ เป็นประธาน ก็โดยนัยนั้น


    หมายเลข 7630
    22 ส.ค. 2558