อบายภูมิ ๔ - เปรต หรือ ปิตติวิสัย


    ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้น ก็ทำให้เกิดในภูมิของเปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “ปิตติวิสัย” ซึ่งภูมิของเปรตนี้ ก็วิจิตรต่างกันมาก เปรตบางพวกก็ทรมานมาก หิวโหยแล้วก็ไม่ได้อาหารด้วย

    มนุษย์ทุกคนมีโรคประจำตัว ประจำวัน คือ โรคหิว จะว่าไม่มีโรคไม่ได้ เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ลองหิวมากๆ ซิคะจะรู้สึก แต่ว่าถ้าหิวนิดหน่อย แล้วก็รับประทานอาหารเสีย แล้วถ้าเป็นอาหารอร่อยๆ ก็เลยลืมว่า แท้ที่จริงแล้ว ความหิวนี้ไม่ใช่ความสบายกายเลย เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข บรรเทาให้หมดไป แต่ทีนี้สำหรับคนซึ่งบางครั้งหิวมาก และไม่ได้รับประทาน ก็คงจะรู้รสของความหิว รู้รสของความทุกข์ของความหิวว่า ถ้ามีมากกว่านั้นจะเป็นอย่างไร

    เคยมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็เป็นผู้มีมิตรสหายมาก วันหนึ่งท่านรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ไม่ได้รับประทานอาหาร พอถึงค่ำ รู้เลยว่า ความหิวที่แสนทรมาน ที่ใช้คำว่าแสบท้อง หรือแสบไส้นั้นเป็นอย่างไร แล้วท่านก็ไม่สามารถจะรีบร้อนรับประทานเพื่อที่จะแก้ความหิว เพราะเหตุว่าถ้าทำอย่างนั้นก็คงจะต้องเป็นลม หรือว่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ก็จะต้องค่อยๆ บริโภคแก้ไขความหิวไปทีละน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นลม

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ประจำวัน ยังไม่ต้องพูดถึงโรคอื่น แต่ว่านี่เป็นโรคประจำตัว ประจำวัน

    และสำหรับผู้ที่เป็นเปรตจะหิวสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าในภูมิเปรต ไม่มีการค้าขาย ไม่มีการกสิกรรม จะไปปลูกข้าวทำนา หุงข้าวเอง หรือว่าจะไปซื้อไปขาย ไปแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร เพื่อที่จะได้อาหารมาบริโภค ก็ไม่มีในภูมินั้น อยู่ด้วยผลของกรรม

    และบางพวกก็สามารถที่จะอนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น และกุศลจิตที่อนุโมทนานั้นเองก็เป็นปัจจัยให้ได้รับอาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตนบริโภค หรือว่าอาจจะพ้นสภาพของการเป็นเปรต โดยจุติแล้วก็ปฏิสนธิในภูมิอื่น เมื่อหมดผลของกรรมที่จะเป็นเปรตต่อไป

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นผลของอกุศลกรรม


    หมายเลข 7263
    23 พ.ย. 2566