แขก เป็นคำในพระไตรปิฎก หรือคำในอรรถกถาหรือไม่


    ในคราวก่อน ท่านผู้ฟังถามว่า ที่ว่ามีแขกมา เป็นคำในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถาหรือเปล่า

    ในอัฏฐสาลินี อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ ว่า

    พระราชาพระองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนพระแท่นบรรทม มหาดเล็กของพระองค์นั่งถวายอยู่งานนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คนยืนเรียงลำดับอยู่ ที่นั้นยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่ง ถือบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทจึงได้ให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่ ๑ รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้เสวย

    อุปมาไว้ละเอียดทีเดียวนะคะ แต่ว่าอย่าคิดว่าเป็นเรื่องว่า มีพระราชาพระองค์หนึ่งที่บรรทมหลับอยู่จริง ๆ เพราะจิตเกิดขึ้นทีละดวง ทีละขณะ ขณะที่เป็นภวังคจิต ก็เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นกระทำภวังคกิจขณะเดียว ขณะนั้นจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะทำจะคิดอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าเกิดขึ้นกระทำภวังคกิจแล้วก็ดับไป

    แต่คำอุปมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นการที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นรับอารมณ์ว่า ขณะที่อารมณ์กระทบกับปสาท อารมณ์เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องบรรณาการมาที่ประตูวัง ซึ่งในอัฏฐสาลินีอุปมาว่า นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร จักขุวิญญาณเป็นนายทวารหูหนวกที่อยู่ที่ประตู ซึ่งไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงเคาะที่ประตู หน้าที่ของจักขุวิญญาณ ไม่ใช่ได้ยินเสียงเคาะ แต่ที่ได้ยินเสียงนั้นเป็นมหาดเล็กที่ถวายอยู่งานนวดที่พระยุคลบาทของพระราชา ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นผู้ที่รู้ว่ามีคนมีแขกมาที่พระทวาร เพราะฉะนั้นก็ให้สัญญาณ คือ เมื่อรำพึงถึงแล้วก็ดับไป ให้สัญญาณแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นกระทำกิจเห็นที่จักขุปสาท แล้วต่อจากนั้นทหารยามคนที่ ๑ ก็รับเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต ส่งให้คนที่ ๒ คือ สันตีรณจิต คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คือ โวฏฐัพพนจิต คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา คือ ชวนจิต พระราชาได้เสวย

    มีคำอธิบายว่า ข้อเปรียบเทียบนี้ แสดงเนื้อความอะไร แสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจ คือ หน้าที่เพียงแต่กระทบปสาทเท่านั้น คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระราชา แต่ว่าเครื่องราชบรรณาการส่งต่อจากคนที่ ๑ ให้คนที่ ๒ ให้คนที่ ๓ แล้วจึงถึงพระราชา

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณจิตเท่านั้นที่กระทำกิจเห็น อารมณ์อยู่ที่ทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทเท่านั้น แต่ว่าจิตรู้อารมณ์สืบต่อกัน อารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้น หรือว่าล่วงล้ำปสาทไปที่อื่นเลย อารมณ์จะเลยปสาทเข้าไปที่ไหนได้ไหมคะ เป็นรูปที่กระทบปสาท ถ้าเป็นรูปารมณ์ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีกิจเพียงกระทบปสาทเท่านั้น เครื่องบรรณาการ

    นี่เป็นคำอุปมาที่จะให้พิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดถึงกิจแต่ละกิจของวิถีจิตแต่ละขณะว่า จักขุวิญญาณกระทำกิจเห็น เหมือนนายทวารซึ่งเปิดประตูดู ทำกิจที่นั่น แล้วสัมปฏิจฉันนะ เป็นทหารยามคนที่ ๑ ที่รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณกระทำกิจเห็นแล้วดับไป กระทำกิจต่อจากนั้นได้ไหมคะ จักขุวิญญาณจะกระทำกิจของสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ จักขุวิญญาณจะรับอารมณ์ไม่ได้ เพราะจักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจ คือทำได้อย่างเดียว คือ เห็นที่ประตู แต่ว่าสัมปฏิจฉันนะเป็นทหารยามคนที่ ๑ กระทำกิจรับ แล้วส่งให้คนที่ ๒ คือ สันตีรณะ ซึ่งสันตีรณะก็ส่งให้โวฏฐัพพนะ แล้วโวฏฐัพพนะก็ส่งให้พระราชา พระราชาก็เสวยเครื่องราชบรรณาการนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ใช้คำว่า เสพ ที่ใช้คำว่า เสวย นี้ เพื่อที่จะให้เข้าใจจริง ๆ ถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่กระทำชวนกิจ เวลาที่มีอารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นจิตที่อิ่มด้วยโลภะ หรือว่าอิ่มด้วยโทสะ หรือว่าอิ่มด้วยโมหะ หรือว่าอิ่มด้วยกุศล เพราะเหตุว่ากระทำกิจแล่นไปในอารมณ์ ไม่ใช่เพียงเห็น ไม่ใช่เพียงรับ ไม่ใช่เพียงพิจารณา ไม่ใช่เพียงตัดสิน แต่กิจทั้งหมดกระทำหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้น หรืออกุศลเกิดขึ้นก็ส้องเสพอารมณ์นั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นวิถีจิตที่อิ่มจริง ๆ เพราะว่าเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้นถึง ๗ ขณะ

    กำลังอิ่มไหมคะ ทางตาต้องดูนาน ๆ หรือเปล่าถึงจะอิ่ม ทางหู ถ้าเป็นโมฆวาระ ก็ไม่ได้ยินเสียง เสียงกระทบ แต่ไม่ได้ยิน หรือว่าถ้าเป็นโวฏฐัพพนวาระ กุศล อกุศลก็ไม่เกิด อิ่มไหมคะ ยังไม่ได้รับประทาน ไม่อิ่ม แต่พอถึงชวนจิตเสพอารมณ์นั้น เป็นจิตประเภทเดียวกันที่เกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง คือ ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

    เพราะฉะนั้นโดยปัจจัย ชวนวิถีสั่งสมสันดานตนโดยสามารถของชวนจิต เพราะมีอาเสวนปัจจัย กระทำกิจเสพอารมณ์นั้นซ้ำถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นก็มีกำลังที่จะทำให้วิบากซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นในอนาคต

    ถ้าเป็นกุศลก็ดี แต่ถ้าเป็นอกุศล ไม่ทราบว่า รู้ตัวหรือเปล่าว่า สั่งสมอกุศลประเภทใดมากมาย หนาแน่น พอกพูน ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นก็หลงเลย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า


    หมายเลข 6932
    24 ส.ค. 2558