ที่ชื่อว่าจิตเพราะอรรถว่าคิด


    ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงตามลำดับ เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิต ตามที่กล่าวไว้ในอัฏฐาสาลินี

    ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า “คิด” อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    ทุกท่านคิดเสมอ ถ้าลองพิจารณาสังเกตความคิดก็จะเห็นได้ว่า ช่างคิดเสียจริง และคิดไปต่าง ๆ นานา ไม่หยุดค่ะ มีใครคิดว่า จะหยุดคิดบ้างไหมคะ หรือคิดว่า จะไม่ต้องคิดก็ได้ ไม่มีทางยุติความคิดเลย จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด อยากจะสงบ ๆ คือ หยุด ไม่คิด เพราะเหตุว่าเห็นว่า เวลาที่คิดแล้วก็เดือดร้อนใจ เป็นห่วง วิตกกังวล กระสับกระส่ายด้วยโลภะบ้าง หรือด้วยโทสะบ้าง คิดว่าถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะเป็นการดี แต่ให้ทราบว่า จิตนั้นเองเป็นธรรมชาติที่คิด เพราะรูปคิดไม่ได้ และถ้ามีการพิจารณาลักษณะของความคิดของตัวท่านเอง ท่านก็จะทราบได้ว่า เพราะเหตุใด หรือว่าทำไมท่านถึงได้คิดอย่างนั้น ๆ ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลยก็คิดได้ ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล แต่ส่วนใหญ่แล้ว โดยมากขอให้พิจารณาว่า ความคิดของท่านเป็นกุศล หรืออกุศลในวันหนึ่ง ๆ

    ตามปกติอกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต และอกุศลจิตที่เกิดนี้ก็คิดไปในเรื่องของอกุศลอย่างละเล็กละน้อย ๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง อยู่เรื่อย ๆ จนปรากฏว่า เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งท่านยึดถือเป็นจริงเป็นจัง แต่ทั้งหมดนั้นให้ทราบว่า เป็นเพราะจิตเกิดขึ้นคิดเรื่องนั้นเท่านั้นเอง ที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเรื่องที่คิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ หรือว่าเป็นเรื่องที่จริงจัง แต่ถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้น เรื่องนั้นจะไม่มี

    เพราะฉะนั้นที่ท่านกำลังคิด และมีความรู้สึกยึดถือผูกพันในเรื่องราวที่คิด เห็นว่าเป็นจริงเป็นจังนั้น ให้ทราบว่า เป็นเพราะจิตนั้นเองเกิดขึ้นคิดตามการสะสม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอกุศลจิตที่คิด แต่ว่าจะเห็นไหมคะว่า เป็นอกุศลที่คิด เพราะเหตุว่าในขณะนั้นพอใจในเรื่องที่คิด เพลิดเพลินไปในเรื่องที่คิดด้วยความยินดีที่เป็นโลภะ หรือว่าขณะนั้นอาจจะเป็นความคิดที่ไม่สบายใจ เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโทสะที่คิดในขณะนั้นก็ได้ แต่ว่าให้นึกถึงความดีที่อาจจะเกิดคิดขึ้นมา แล้วก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นช่างคิดได้ถึงอย่างนั้น ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่คิด

     


    หมายเลข 6712
    25 ส.ค. 2558