ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงจะละการยึดถือทั้งรูปและนามได้


    ตอนที่ ๖๕

    ในครั้งก่อนก็ได้พูดถึงข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร จิตตานุปัสสนา ที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือว่า จิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ

    ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด ก็ยากที่จะทราบว่าในขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด แต่ข้อสำคัญที่ควรจะต้องระลึกถึงก็คือว่า จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะระลึกรู้ไหม เพราะเหตุว่าเวลาที่พูดถึงการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่ามีถึง ๔ บรรพ คือ มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน และบางท่านอาจจะเคยคิด หรือเคยสงสัยว่า เมื่อสติปัฏฐานมี ๔ ท่านก็อาจจะเลือกเจริญสติปัฏฐานหนึ่งเพียงสติปัฏฐานเดียวก็ได้

    ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงจะละการยึดถือการที่เคยเข้าใจผิด หรือว่าการไม่รู้ลักษณะของนามและรูปได้ เพราะ เหตุว่าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ทุกท่านมีกาย แต่จะระลึกเพียงที่กายอย่างเดียวก็รู้ลักษณะของรูป แต่สติก็เป็นธรรมชาติที่เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของรูปขณะหนึ่ง ก็ย่อมจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งอื่นที่เป็นของจริงที่ปรากฏต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าจะไปบังคับให้สติระลึกรู้อยู่ที่รูป ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกคนพิสูจน์ได้ เมื่อธรรมปรากฏ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จะละความสงสัย จะละความไม่รู้ในสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปเลือกด้วยความต้องการว่า ท่านจะเจริญสติปัฏฐานบรรพนั้น บรรพนี้เท่านั้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตจะทราบได้ไหมว่า มีจิตหลายอย่าง มีจิตหลายประเภท และวันหนึ่งๆ ระลึกรู้จิตอะไรบ้าง

    ถ้าท่านระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือ ความรู้สึกต่างๆ ก็ไม่ใช่ว่ามีแต่เวทนาโดยที่ไม่มีจิต กำลังเห็นเป็นจิต ได้ยินเป็นจิต คิดนึกเป็นจิต อกุศล โลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นปรากฏ เป็นสภาพของจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะ หรือขณะใดจิตเป็นไปในทาน ในศีล ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเหล่านั้น ก็เป็นสภาพลักษณะของจิตประเภทอื่นๆ ซึ่งมีจริงๆ และก็เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ ก็ย่อมยังคงยึดถือสภาพของจิตนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่

    เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าจะเจริญแต่เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น ย่อมไม่ได้ เพราะแม้แต่เวทนาก็จะต้องระลึกรู้ แม้แต่จิตก็จะต้องระลึกรู้ด้วย


    หมายเลข 6465
    8 ต.ค. 2566