นามเป็นวัตถุกามเป็นอย่างไร


    ผู้ฟัง รูปเป็นวัตถุกาม เช่น ขณะที่เห็น มีรูปารมณ์ รูปารมณ์นั้นเป็นวัตถุกามทางตา เพราะเป็นอารมณ์ของจิตให้จิตรู้ แต่สงสัยนามที่เป็นวัตถุกาม ขอให้ยกตัวอย่าง

    ท่านอาจารย์ อยากมีปัญญา อยากมีสติ โลภะชอบ หรือไม่ ปัญญาของเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คุณธนากรอยากมีปัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง อยากมี

    ท่านอาจารย์ อะไรอยาก เพราะไม่มีตัวคุณธนากรเลย เป็นแต่สภาพธรรม เพราะฉะนั้นอะไรที่อยากมี มีจิต มีเจตสิก มีรูป ขณะที่กำลังอยากมีปัญญา ลักษณะที่ “อยาก” เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ลักษณะที่อยากก็เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกอะไร

    ผู้ฟัง เป็นโลภเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะ และปัญญาที่ถูกเจตสิกอยาก เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิกเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ และก็เป็นอะไรด้วย โลภะกำลังอยากสิ่งนั้น กำลังต้องการสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นวัตถุกาม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ โลภะเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตเป็นโลภะ หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตไม่ใช่โลภะ

    ท่านอาจารย์ จิตทำกิจโลภะได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โลภะทำกิจของจิตได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมแต่ละชนิดก็มีกิจเฉพาะของตนๆ ด้วย โลภะไปทำหน้าที่ของโทสเจตสิกได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตทำหน้าที่ของโทสะได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าในหนึ่งขณะจิต มีสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิก จิตก็ยังคงเป็นจิตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยมากน้อยเท่าไร ชาติอะไรก็ตาม แต่จิตก็คือจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ส่วนเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต ก็ทำหน้าที่ของตนๆ เฉพาะเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกก็ไปทำหน้าที่ของโลภเจตสิกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงโลภะสภาพที่ติดข้อง ก็ให้ทราบว่าเป็นลักษณะของนามธรรมที่เป็นเจตสิกเท่านั้น และเจตสิกอื่นก็ไม่ใช่โลภเจตสิก ด้วยเหตุนี้เจตสิกจึงมีถึง ๕๒ ประเภท และก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะของเจตสิกนั้นๆ แม้ว่าจะมีสภาพที่ใกล้กัน คล้ายกัน เช่น ฉันทะเจตสิก และโลภเจตสิก แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน ซึ่งมีกิจต่างกันด้วย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41


    หมายเลข 6295
    18 ม.ค. 2567