ทบทวนปัจจัย - สหชาตปัจจัย


    การทบทวนปัจจัย   จะไม่ทบทวนตามลำดับของปัจจัยก็ได้   แต่ว่าจะทบทวนโดยสภาพความเป็นปัจจัยของจิตและเจตสิก   ๑๙ ดวง   ซึ่งเกิดร่วมกันในโลภมูลจิตดวงที่ ๑  คือ โดยสหชาตปัจจัย

    คำว่าสหชาติ  ก็หมายความถึง  สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต้องเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม   คือ สภาพธรรมที่ปัจจัยนั้นทำให้เกิดขึ้น   

    ทั้งจิตและเจตสิก ๑๙ ดวงนี้เป็นสหชาตปัจจัย  คือ ผัสสเจตสิก   เป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่น ๆ อีก ๑๘ ดวง  โดยนัยเดียวกัน  สำหรับเจตสิกอื่น ๆ   เช่น เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตดวงนี้   ก็เป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่น ๆ อีก ๑๘ ดวง 

    เพราะว่าจิตจะเกิดโดยที่ปราศจากเจตสิกไม่ได้   ทั้งจิตและเจตสิกซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น   ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน   จะให้มีความเห็นผิดซึ่งเป็นสภาพของทิฏฐิเจตสิกเกิด   โดยไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้  เพราะเหตุว่าขณะใดที่มีความเห็นผิด  หมายความว่าขณะนั้นมีความพอใจ  มีความติด  มีการยึดถือในความเห็นนั้น  เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่สามารถจะเกิดได้   โดยปราศจากโลภเจตสิก  แต่ว่าโลภเจตสิกสามารถจะเกิดได้โดยปราศจากทิฏฐิเจตสิกนี้   

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งมีปกติในชีวิตประจำวัน   ซึ่งจะเห็นได้ว่า  ในวันหนึ่ง ๆ  ก็มีโลภมูลจิตเกิดบ่อย ๆ   เป็นไปทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง   ทางจมูกบ้าง  ทางลิ้นบ้าง  ทางกายบ้าง   ทางใจบ้าง  แต่เมื่อไรในวันหนึ่งซึ่งเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุค   ขณะนั้นก็ต้องเป็นในขณะที่มีความยึดมั่นในความเห็นผิด   ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นสำหรับปัจจัยที่ ๑  โดยสหชาตปัจจัย  โลภมูลจิตเกิดร่วมกับเจตสิก ๑๘ ดวง   ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน   และต้องเกิดพร้อมกัน   จึงชื่อว่าโลภมูลจิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย   และเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตนั้นก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่โลภมูลจิต 

    ไม่มีปัญหาสำหรับสหชาตปัจจัย  เพราะว่าทราบอยู่แล้วว่า  จิตกับจิตสิกต้องเกิดพร้อมกัน

     


    หมายเลข 6043
    26 ส.ค. 2558