ชาติของจิตและเจตสิก ๔ อย่าง


    ขณะนี้ ใครมีจิตไม่ครบ ๔ ชาติบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงชาติของปรมัตถธรรม ชาติของจิต และเจตสิก มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๔ อย่าง ไม่พ้นจาก ๔ อย่างเลย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไรก็ตามแต่ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ดีงาม จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหตุ ต้องมีผลคือจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก ต้นไม้ที่อยู่ข้างนอกเป็นวิบากใช่ หรือไม่ ไม่ใช่ เมื่อตัวเหตุคือจิตก็ต้องเป็นจิตนั่นแหล่ะซึ่งเป็นสภาพรู้จะต้องรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่รับผลของกรรมจะเปลี่ยนชาติไม่ได้เลย แล้วก็ไม่ได้เป็นของชาติที่เรากล่าว ชาติไทย ชาติจีน ชาติญี่ปุ่น ชาติอะไรเลย แต่ต้องเป็นวิบาก จิตเป็นกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากจิต จิตเป็นอกุศล กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ใครจะเข้าใจถูกต้องว่าขณะนี้เป็นผลของกรรม เช่น เห็นเป็นผลของกรรม ได้ยินเป็นผลของกรรม เลือกได้ หรือไม่ ว่าจะเห็นอะไร เลือกที่จะได้ยินได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแล้วแต่กัมมปัจจัย คือกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุทำให้จิตที่เป็นวิบากคือเป็นผลเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงวิบากขอให้ทราบว่าหมายความถึงจิต แต่เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุ แต่เป็นจิตที่เป็นผลของเหตุที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นผลต้องเกิดขึ้นทำกิจตามประเภทของผลนั้นๆ คือ ทำกิจเห็น หรือ ทำกิจได้ยิน ทำกิจได้กลิ่น ทำกิจลิ้มรส ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นี่คือปกติในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น ภวังคกิจ หรือปฏิสนธิกิจที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า ชาตินี้เริ่มต้นด้วยจิตขณะแรก คือ จิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตจะหลากหลาย แม้ว่าโดยประเภท ทุกคนที่เกิดมาในภูมิมนุษย์ หรือเทวดา หรือ เกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์ที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามภูมิ เป็นระดับของกาม แต่ก็เกิดต่างกัน เหตุใดเราเกิดในภูมินี้ ไม่เกิดในสวรรค์ เหตุใดเราไม่เกิดในนรก ดีใจใช่ไหม พอพูดถึงสวรรค์ ทำไมเราไม่เกิดบนสวรรค์ แต่พอพูดถึงในนรก ดีแล้วที่ไม่เกิดในนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสูรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะกุศลกรรมเป็นเหตุ แต่กุศลกรรมเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เสมอๆ เพราะฉะนั้นผลที่ได้รับก็จะไม่พ้นไปจากการที่จะรู้รูป คือสีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และเมื่อมีกุศลกรรม อกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุ วิบากก็ต้องเป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้น เราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง เวลาที่อะไรเกิดขึ้น ใครทำให้ มีใครทำให้ หรือไม่ จิตของคนอื่นจะมาทำให้จิตนี้เกิดขึ้นได้ หรือไม่ จิตใครก็ตามที่ทำกรรมอะไรไว้มากๆ ทำกุศลกรรมอาจจะมากก็เรื่องของเขา ทำอกุศลกรรมไว้มากก็เรื่องของเขา แต่จะมาทำให้วิบากจิตของเราเกิดขึ้นเป็นไปได้ หรือไม่ ไม่ได้เลย วิบากจิตที่เกิดกับเราก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่เราเองได้กระทำแล้ว

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22


    หมายเลข 5523
    24 ม.ค. 2567