การปรุงแต่งของขันธ์ ๔ ต่างจากสังขารขันธ์อย่างไร


    อ.อรรณพ การปรุงแต่งในลักษณะของรูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ ต่างจากการปรุงแต่งของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ๕๐ ที่เป็นสังขาร การปรุงแต่งของนามธรรม รูปธรรม ต่างกันอย่างไร ท่านจึงแสดงสังขารขันธ์ว่าเป็นสภาพขันธ์ที่ปรุงแต่ง ทั้งๆ ที่รูปก็ปรุงแต่ง เวทนาก็ปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ แต่ละคำไม่ควรผ่านไปเร็ว จึงต้องย้ำแล้วย้ำอีก จนกระทั่งไม่มีความสงสัย และก็ไม่ต้องไปท่อง หรือคิดว่าจะต้องไปจำอะไร แต่อาศัยความเข้าใจ ก็จะมีการจำได้ เช่นคำว่า “ขันธ์ “ คราวก่อนเราได้กล่าวถึง ปรมัตถธรรม ปรม อรรถ ธรรม หมายความถึงสิ่งที่มี มีอรรถ หรือความหมาย หรือลักษณะ เฉพาะอย่างๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกล่าวโดยนัยของปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่นิพพานก็เป็นเรื่องที่ไกลมาก ถ้ายังไม่รู้ความจริงของจิต เจตสิก รูป ก็ยังไม่ควรที่จะไปคิดถึงเรื่องนิพพาน เพราะต้องมีปัญญาตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าจะได้ยินคำว่า ขันธ์ ทุกคำที่ได้ยิน ถ้าเป็นปรมัตถธรรม ต้องเป็นจิต เจตสิก หรือรูป ได้ยินคำว่าอายตนะ คำอะไรอีกมาก แต่โดยปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ต้องเป็น จิต เจตสิก รูป นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า “ขันธ์” ซึ่งคงได้ยินบ่อยๆ สำหรับท่านที่ไปวัด แต่ท่านที่ไม่ได้เคยไปวัดเลย ก็อาจจะได้ยินน้อยหน่อย แต่อย่างน้อยก็คงเคยได้ยินคำว่า “ขันธ์” จะมี๕ คำว่าขันธ์ ๕ ที่ทรงแสดงจำนวนไว้ ไม่ใช่เรากล่าวเอง เราไม่สามารถที่จะนำพระธรรมที่ละเอียดหลากหลายโดยประการทั้งปวง มาแสดงได้เป็นหมวดหมู่ตามใจชอบ แต่เหตุผล และพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ถ้าโดยนัยของขันธ์ ๕ จะไม่มีขันธ์ ๖ แต่โดยนัยของขันธ์ ๓ ก็มี นี่คือความละเอียดขึ้น ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ นี่คือความหลากหลายของคำที่ใช้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12


    หมายเลข 5212
    16 ม.ค. 2567