ธาตุมนสิการบรรพ


    บรรพต่อไป

    ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรค ได้กล่าวถึงอุเทศวารกถา อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ต่อไปก็เป็น ธาตุมนสิการบรรพ

    ธาตุมนสิการบรรพ ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบธาตุมนสิการบรรพ

    ข้อความในธาตุมนสิการบรรพนี้สั้น ไม่เหมือนกับในปฏิกูลมนสิการบรรพ เพราะเหตุว่าในปฏิกูลมนสิการบรรพนั้น ให้พิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลตั้งแต่ปลายผมลงมา และก็พื้นเท้าขึ้นไป ซึ่งมีหนังเป็นที่สุดรอบ ห่อหุ้มปกปิดความเป็นปฏิกูลไว้ แต่ว่าผู้ที่พิจารณาโดยความเป็นธาตุ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปกติ ถ้าเป็นปกติทุกอย่าง ถ้าตรวจสอบเทียบเคียงในพระไตรปิฎกโดยตรง จะเป็นการที่สติระลึกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ไม่ใช่ให้ทำขึ้นมารู้ ไม่ต้องทำอะไรช้าๆ เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ในขณะที่กำลังเป็นปกติ


    หมายเลข 4797
    24 ก.ย. 2566