เจริญปัญญาจนรู้ชัด รู้ทั่ว ไม่ปนกัน


    ทำไมขออนุญาต ปัญญาต้องรู้ทั่ว ปัญญาต้องรู้ชัด ปัญญาของใคร ใครจะบรรลุมรรคผล จะรู้แจ้งอริยสัจ ผู้นั้นก็ต้องเจริญปัญญาให้ทั่วให้ชัด ไม่ใช่ไปขออนุญาตใครว่าตอนนี้ไม่รู้ ตอนนั้นไม่รู้จะได้ไหม ไม่รู้ๆ อย่างนี้จะบรรลุมรรคผลได้ไหม ไม่ใช่

    เรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นเรื่องของปัญญาที่เจริญ แล้วก็รู้ชัด รู้ทั่ว คำว่ารู้ทั่ว ดูไม่ค่อยจะยินยอม ชอบที่จะรู้เพียงบางนามบางรูปเท่านั้น อวิชชาก็มีล้นเหลือในทางอื่น ไม่ได้ขัดลอกออกไปเลย เข้าใจผิดๆ อย่างทางตา บางท่านคิดว่าจะต้องรู้เฉพาะนาม ก็ผิดแล้ว ตรวจสอบได้ในพระไตรปิฏก การเห็นไม่เที่ยง สีไม่เที่ยง มีไหมในพระไตรปิฏก ลองดู ไม่ใช่มีแต่เห็นไม่เที่ยง สีก็ไม่เที่ยงด้วย ได้ยินไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยงด้วย ไม่ใช่เฉพาะได้ยินไม่เที่ยง ถ้าไม่รู้ชัดในเห็นกับไม่รู้ชัดในสี จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ปนกัน อาจจะเอาสีมาเป็นเห็นก็ได้ อาจจะเอาเสียงมาเป็นได้ยินก็ได้ แต่ที่ต้องรู้ชัดก็เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ชัดแล้วจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและความดับไปของนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใดไม่ได้ ถ้ายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามได้ยิน ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของเสียง จะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ เพราะเหตุว่าการเกิดดับ ต้องเป็นนามที่ได้ยินดับ หรือเสียงดับ หรือนามที่รู้เรื่องดับ ต้องมีลักษณะธรรมแต่ละประเภทแต่ละชนิดที่ปรากฏความเกิดขึ้นและดับไป แต่ว่าปัญญาจะต้องรู้ชัดเสียก่อน ว่าเป็นลักษณะของนามใดของรูปใด แล้วถึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปที่แท้จริงได้ เพราฉะนั้น จะไม่รู้ทั่วไม่ได้ โดยมากไม่ค่อยอยากจะรู้ทั่ว ทำไมถึงจะเก็บอวิชชาเอาไว้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องเป็นอวิชชาแน่ๆ ความไม่รู้นั้นเป็นอวิชชาไม่ใช่วิชชา ต้องหัดนิสัยใหม่คือเจริญสติเป็นปกติ

    อย่าไปจงใจที่จะรู้ไหว กำลังเดินทางตามีไหม หูมีไหม คิดนึกมีไหม ชอบไม่ชอบมีไหม มีทุกอย่าง แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดก็ได้ รูปใดก็ได้ ในปฏิกูลมนสิการบรรพมีอะไรสงสัยไหม ถ้าแสดงให้เห็นความเป็นปฏิกูลของอาการทั้ง ๓๒ ก็คงจะรู้สึกว่าเป็นปฏิกูล แต่เพียงชั่วขณะที่ฟังเท่านั้นเอง อาหารใหม่ อาหารเก่า เพราะฉะนั้น สติต้องเกิดระลึก แล้วก็รู้ โดยที่ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกยังไงก็ตาม สามารถเป็นสิ่งที่จะทำให้สติระลึกรู้ได้

    ขอให้สติเกิด เป็นอะไรได้ทั้งนั้น สติเกิดก็แล้วกัน จะระลึกทางตา หรือทางหู จะระลึกโดยความเป็นปฏิกูลของผม ของเล็บ ของฟัน ของหนัง อะไรได้ทั้งนั้น ขอให้สติระลึก และปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นสมถภาวนา ไม่ได้รู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นปัญญาขั้นของการทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ มีท่านผู้ใดสงสัยอะไรบ้างไหม เริ่มเจริญสติบ้างหรือยัง ทางไหน ใครรู้ ตัวเองรู้ใช่ไหม หรือว่าคนอื่นรู้ ไม่มีคนอื่นที่จะรู้ได้ นอกจากตัวเองเท่านั้น

    มีคนอื่น มีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ได้ มีเวทนาความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ได้ แต่ไม่ใช่ไปรู้ว่าคนนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติเองเป็นผู้รู้ว่า ขณะนี้มีเวทนาของคนอื่นเป็นอารมณ์ มีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ หรือว่ามีความรู้สึกของตัวเองเป็นอารมณ์ มีจิตของตนเองเป็นอารมณ์ แต่ว่าข้อสำคัญที่สุด สติปัฏฐานควรที่จะเจริญขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทุกขณะ กาย เวทนา จิต ธรรมทั้งปวงที่ปรากฏตลอดเวลา เมื่อของมีให้ระลึกได้ตลอดเวลา ขาดแต่การที่จะระลึกเท่านั้น ก็จะต้องอาศัยปัจจัยคือการฟังให้เข้าใจ ขาดการฟังไม่ได้เพราะว่าเป็นเครื่องเตือนอันนึง นี่เป็นเหตุที่สาวกของพระผู้มีพระภาคตามเสด็จไปเฝ้าเพื่อฟังธรรมให้เป็นเครื่องระลึก เพื่อสติจะได้เกิดขึ้น และก็ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นด้วย ถ้าสมมติว่าขาดการฟังหรือว่าเป็นผู้ที่ประมาท ก็ไม่มีสิ่งที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ ทั้งๆ ที่ทางตาก็มีเห็นตลอดเวลา หูก็ได้ยินตลอดเวลา จมูก ลิ้น กาย ใจ ความสุข ความทุกข์ กาย เวทนา จิต ธรรม มีตลอดเวลา ระลึกได้ทั้งนั้น อย่าลืม ถ้ากำลังมีความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ ระลึกได้ไหม ได้ คนนั้นกำลังหัวเราะนี่เวทนาเขารู้สึกอย่างไร เขากำลังร้องไห้ความรู้สึกจิตใจของเขาเป็นอย่างไร ขณะนั้นระลึกได้ว่ากำลังมีเวทนาของคนอื่นเป็นอารมณ์ ขอให้สติระลึกเถอะไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน ข้อสำคัญคือไม่ระลึกเท่านั้นเอง ในมหาสติปัฏฐานไม่เว้นอะไรเลย ขอให้สติระลึก ด้วยความเข้าใจผิดจึงทำให้หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ บางท่านมีจิตคนอื่นเป็นอารมณ์ มีเวทนาความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ คนนั้นกำลังโกรธ คนนี้ไม่พอใจ คนนั้นกำลังเป็นสุข คนนี้กำลังเป็นทุกข์ ในวันหนึ่งๆ มักจะมีจิตของคนอื่นบ้าง ความรู้สึกของคนอื่นบ้างเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นผู้ที่หลงลืมสติก็ไม่มีวันที่จะระลึกได้เลย ถ้าไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียดว่า ในขณะนั้นสามารถที่จะระลึกรู้เกิดสติ และรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ขอให้ระลึก ทุกขณะทุกโอกาสที่จะระลึกได้


    หมายเลข 4763
    24 ก.ย. 2566