ธรรมกับธรรมชาติต่างกันอย่างไร


    ส.   ปรมัตถธรรมมาจากคำว่า ปรม + อัตถ + ธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนจริงๆ ซึ่งใครจะเรียกอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้ชื่อเรียกเลยก็ได้ เฃ่น ลักษณะที่แข็ง จะใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือว่าไม่เรียกอะไรเลย แต่เวลาที่กระทบสัมผัส ลักษณะแข็งนั้นปรากฏ หมายความถึงสภาพที่มีจริงๆ เช่น รสเปรี้ยว มีจริง แต่ต้องอาศัยลิ้มรส ซึ่งทุกคนบริโภคอาหาร แต่ขณะที่กำลังบริโภคนั้นก็ไม่ได้สนใจที่จะรู้ว่า แม้แต่รสที่ปรากฏนั้นก็เป็นของจริง เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำภาษาไทยง่ายๆ ว่า ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างที่มีจริง เสียงมีจริง เสียงเป็นปรมัตถธรรม โลภะ ความโลภ ความติดข้อง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ก็หมายความว่า เป็นธรรม ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร เพราะเหตุว่าโลภะก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป โทสะก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ขณะเห็นในขณะนี้ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ถ้าเกิดกรรมทำให้จักขุปสาทซึ่งดับแล้วไม่เกิดอีก ขณะนี้จะตาบอดทันที ไม่เห็นอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีรูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมีจิต คือสภาพรู้ ธาตุรู้ แล้วมีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมนั้นมี ๔ คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ถ้าไม่เรียกชื่อ เอาชื่อของทุกท่านให้ที่นี้ออก แต่ก็ยังมีรูป และยังมีจิตเจตสิก เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    นี่เป็นปรมัตถธรรมอย่างย่อ แต่อย่างละเอียดก็จะต้องศึกษาโดยละเอียด แต่ให้ทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีสภาพลักษณะปรากฏให้รู้ได้ และไม่จำเป็นต้องเรียกชื่ออะไรเลยก็ได้ เพราะเหตุว่าแข็ง ภาษาไทยเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นก็เรียกต่างกันไป แต่ลักษณะที่แข็งไม่เปลี่ยน

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมที่มีอยู่ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ๓  ปรมัตถ์ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานนั้นตรงกันข้าม คือ เป็นสภาพที่มีจริง แต่ไม่เกิด ถ้าพระคุณเจ้าจะแสวงปรมัตถธรรมด้วยตัวเองในวันหนึ่งๆ จะพบตลอดเวลา ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส แข็งมีจริง เป็นปรมัตถธรรม ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เสียงในขณะที่กำลังได้ยิน มีจริง เป็นปรมัตถธรรม คิดนึกเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรมที่เกิดดับแล้วมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ นามธรรมประเภท ๑ และเป็นรูปธรรม ประเภทหนึ่ง สำหรับรูปก็ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งกระทบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กระทบส่วนใดของกายก็แข็ง กระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็แข็ง นั่นเป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้

    สำหรับจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่น เห็น แต่สำหรับเจตสิกนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เช่น ขณะที่เห็นแล้วมีความพอใจ ไม่พอใจ ความพอใจ ไม่พอใจนั้นเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต


    หมายเลข 4430
    30 ส.ค. 2558