ต่อเมื่อใดที่สติเกิด


    ถ้าสติไม่เกิดเลย จะไม่มีทางรู้ลักษณะของสติ ก็ได้ยินแต่ว่าสติปัฏฐาน สติระลึกลักษณะสภาพธรรม ต่อเมื่อใดสติเกิด เมื่อนั้นจึงจะเป็นเครื่องที่ทำให้เรารู้ว่า  ขณะนี้ลักษณะของสติกำลังระลึกที่สภาพธรรม นี่เป็นขั้นต้นของการเจริญสติ เพราะฉะนั้นต้องรู้ลักษณะของสติ เพราะว่าแข็งใครๆ ก็ตอบได้ หวานใครๆ ก็ตอบได้ โกรธใครๆ ก็บอกได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าสติปัฏฐานเกิด

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะต้องมีการฟังให้เข้าใจ จนกระทั่งรู้แน่ว่าขณะใดสติปัฏฐานเกิด หรือว่าขณะใดไม่ใช่สติปัฏฐาน เพียงแต่การที่เราสามารถจะบอกได้ว่า โลภะ หรือ โทสะ โดยชื่อ

    สติระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม คือ แข็ง เราบอกโดยชื่อว่าเป็นปรมัตถธรรม แต่เวลาที่กำลังกระทบแข็ง ก็มีแข็ง แล้วปกติธรรมดาก็เป็นการกล่าวถึงลักษณะแข็งโดยรู้ว่า แข็งธรรมดาๆ ถามเด็กๆ ก็บอกว่าแข็ง ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นมีสติ  เดี๋ยวนี้ถามดู กำลังนี้ถามไหม ถามเขา  เขาก็ตอบได้ แต่ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานจากการฟังแล้ว ผู้นั้นจะรู้ว่าลักษณะของสติที่เกิด คือ ขณะที่กำลังระลึกตรงลักษณะนั้น ต้องมีลักษณะปรมัตถธรรม แล้วเริ่มเข้าใจ หรือรู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นมีธรรม ๒ อย่าง คือนามธรรมอย่างหนึ่งกับรูปธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุดเลย แต่ว่าการที่จะรู้ในขณะที่สติกำลังระลึก ค่อยๆเป็นไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานไม่ได้แยกจากชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม แต่ปกติไม่รู้ แล้วก็สติไม่ระลึก


    หมายเลข 4112
    26 ส.ค. 2558