จิตแตกต่างจากความคิดอย่างไร


    ถาม   ดิฉันขอร้องให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า จิตแตกต่างจากความคิด และขอสมมติว่า ผู้ฟังเป็นเด็กประถมด้วย เพราะดิฉันมีปัญหาในเรื่องนี้มาก

    ส.   แยกง่ายๆ คือ ธรรม คือสิ่งที่มีจริงในโลกหรือทั่วโลก ในจักรวาลทุกแห่ง จะมีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะ คือ สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้อย่างหนึ่ง ใช้ภาษาบาลีว่า นามะ หรือนามธรรมก็ได้ และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง เราจะใช้คำว่า รูป หรือรูปธรรมก็ได้ ก่อนจะถึงจิตหรือความคิด ให้ทราบว่า แยกสิ่งที่มีจริงๆออกเป็น ๒ อย่าง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็มีการบ้าน ถ้าใครอยากจะคิดว่า อันนี้เป็นรูป หรืออันนี้เป็นนาม อย่างง่วง เป็นรูปหรือเป็นนาม รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่เจ็บ รูปไม่หิว รูปกินไม่ได้ เห็นไม่ได้ สุขไม่ได้ ทุกข์ไม่ได้ โกรธไม่ได้ อิจฉาไม่ได้ ริษยาไม่ได้ ลักษณะอื่นทั้งหมดเป็นนามธรรม ง่วงก็เป็นนามธรรม หิวก็เป็นนามธรรม อิ่มก็เป็นนามธรรม ชอบก็เป็นนามธรรม ดีใจก็เป็นนามธรรม จำได้ก็เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น คิดก็เป็นนามธรรม โต๊ะคิดไม่ได้ เก้าอี้คิดไม่ได้ รูปคิดไม่ได้ และนามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก เจตสิกเป็นคำใหม่ สำหรับคำใหม่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย หมายถึงสภาพที่เกิดกับจิต คำว่า “เจตสิก” เกิดกับจิต อยู่กับจิต ไม่แยกออกจากจิตเลย

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่มีหลายประเภท ทำไมจึงมีจิตหลายประเภท เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิตมีหลายอย่าง จึงทำให้จิตต่างกันไปเป็นชนิดต่างๆ อย่างโกรธเป็นเจตสิก โลภเป็นเจตสิก เมตตาเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเขาจะไม่จำอะไร จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตเป็นลักษณะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สามารถจำความละเอียดของทุกอย่างที่ปรากฏได้ รู้ด้วยว่า คนนี้ไม่ใช่คนนั้น หรือแม้แต่เพชรเทียมกับเพชรแท้ สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้สามารถรู้ได้ เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็นแจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของจิต แต่ขณะที่กำลังจำ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เจตสิกมี ๕๒ ชนิด ทำให้จิตต่างกันไปเป็น ๘๙ ประเภท เพราะฉะนั้น จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยินไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่คิดแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยินก็ยังคิดได้ คืนนี้จะรู้เลย ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินอะไร ก็ยังคิด จะรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน จะไม่มีจิตเกิดโดยไม่มีเจตสิก เพราะเหตุว่าความหมายของสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น  จะเกิดตามลำพังไม่ได้ แม้แต่รูป จะไม่มีสักรูปเดียวซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดจะต้องมีสภาพธรรมอื่นร่วมกันเกิดปรุงแต่งเกิดขึ้น ไม่แยกกัน ทั้งนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ความคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับจิตเห็น จิตได้ยิน เรื่องของตัวเราทั้งหมด แต่เราไม่เคยรู้เลย จนกว่าจะศึกษาธรรมโดยละเอียด แล้วเราจะเห็นความเป็นอนัตตาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ อยากจะเห็น แต่ถ้าตาบอดก็เห็นไม่ได้ อยากจะได้ยิน แต่ไม่มีโสตปสาท ก็ได้ยินไม่ได้ อยากจะคิดดีๆ คิดเรื่องที่ไม่ดีอีกแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ ตามการสะสม แต่ถ้าสะสมบ่อยๆในทางกุศล และมีปัญญา ความคิดก็จะคิดในทางที่ดี ในทางที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น


    หมายเลข 3951
    1 ก.ย. 2558