วัตถุที่เป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕


    ประการที่ ๑   คือจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    ประการที่ ๒  คือมหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    ประการที่ ๓ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕  เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ

    ถ้าได้ยินคำว่า “วัตถุ”  หมายความว่า รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  รูปจะเกิดโดยที่ไม่มีจิตเป็นที่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะใดที่จิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องทราบว่า จิตประเภทนั้นเกิดที่รูปอะไร เพราะเหตุว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ  เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ จิตเห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดที่จักขุปสาท  จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุของจักขุวิญญาณ

    ขณะที่ได้ยิน โสตปสาทเป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ จิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้เกิดที่โสตปสาท และดับที่โสตปสาท เพราะฉะนั้นโสตปสาทเป็นโสตวัตถุของโสตวิญญาณ ๒ ดวง

    ขณะที่ได้กลิ่น  ฆานวิญญาณจิตเกิดที่ฆานปสาท  เพราะฉะนั้นฆานปสาทใดซึ่งเป็นที่เกิดของฆานวิญญานในขณะนั้น ฆานปสาทรูปนั้นเป็นฆานวัตถุของฆานวิญญาณในขณะที่ได้กลิ่น   แล้วก็ดับ  ไม่เที่ยงเลย  ชั่วขณะเล็กน้อยนิดเดียว  ซึ่งจิตเกิดขึ้นกระทำกิจต่าง ๆ  และเกิดที่ต่าง ๆ

    ในขณะที่ลิ้มรส  ที่รสปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นลิ้มรสที่ชิวหาปสาท ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น   ลิ้มรสที่ชิวหาปสาทรูป ซึ่งเป็นชิวหาวัตถุ เพราะเหตุว่าเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ แล้วก็ดับ

    ขณะใดที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ตึง ไหว ขณะนั้นกายวิญญาณเกิดที่กายปสาทรูป เพราะฉะนั้นกายปสาทรูปเป็นกายวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณในขณะนั้น แล้วก็ดับ

    แต่ในวันหนึ่ง ๆ  ไม่ได้มีแต่จิตเห็น  จิตได้ยิน  จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส  จิตอื่นทั้งหมดนอกจากนั้นเกิดที่หทยรูป  ซึ่งเป็นหทยวัตถุ  คือ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นอกจากจิต ๑๐ ดวง

    เพราะฉะนั้นในปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่เกิด  จิตจะเกิดโดยที่ไม่มีรูปเป็นที่เกิดไม่ได้   เพราะฉะนั้นในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต คือ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กรรมเป็นปัจจัยทำให้หทยวัตถุเกิด เป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิตในขณะนั้น

    การเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ซึ่งปฏิสนธิจิตก็ได้ดับไปนานแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นจิตดวงแรก  ขณะแรกซึ่งเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง ถ้าเกิดในสุคติภูมิก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดในทุคตภูมิก็เป็นผลของอกุศลกรรม   

    และในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตและเจตสิกเกิดเท่านั้น ยังมีกัมมชรูป  ซึ่งถ้าเป็นในภูมิของมนุษย์ซึ่งเกิดในครรภ์ ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นจะมีกัมมชกลาปรวม ๓ กลาป 

    “กลาป” หรือ “กลาปะ” ในภาษาบาลี หมายความถึงกลุ่มของรูป เพราะเหตุว่าที่รูปจะเกิดขึ้นเพียงลำพังรูปเดียวไม่มี อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูปรวมกันเกิดพร้อมกัน ๘ รูป คือ ธาตุดิน   ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ และรูปซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔  คือ สี กลิ่น   รส  โอชะ อีก ๔ รูป  เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นมหาภูตรูป แต่เป็นรูปซึ่งเกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป   

    รูปซึ่งเกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป  ชื่อว่า “อุปาทายรูป”

    เพราะฉะนั้นรูป ๘ รูป ไม่แยกจากกันเลย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม  ๔ และสี   กลิ่น  รส  โอชะ อีก ๔ เป็น ๘ รูป

    และสำหรับรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็จะต้องมี “ชีวิตรูป” รวมอยู่ด้วย ซึ่งทำให้รูปนั้น   มีลักษณะเป็นรูปที่ทรงชีวิต เป็นลักษณะของรูปที่มีชีวิต ต่างกับรูปอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมอีก ๑ รูป  เป็น ๙ รูป

    และสำหรับ ๓ กลาป จะประกอบด้วยรูปกลุ่มละ ๑๐ กลุ่มละ ๑๐  คือ นอกจากจะมีธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป  มีสี  กลิ่น รส โอชะ เป็นอุปาทยรูป  มีชีวิตรูปอีก ๑ รูป เป็น ๙ รูป และมีกาย คือ รูปซึ่งทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น ที่ปรากฏเมื่อเจริญเติบโตแล้ว แต่ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น รูปนั้นเล็กที่สุดทั้ง ๓ กลาป หรือทั้ง ๓ กลุ่มของรูป เป็นรูปที่เล็กมาก แต่ให้ทราบว่า  แม้จะเล็กเพียงไรก็ตาม ในกลุ่มหนึ่ง ๆ หรือกลาปหนึ่ง ๆ จะมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป   

    ส่วนกลุ่มหนึ่งเป็นกายทสกะ คือได้แก่ กลุ่มของกายกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่ง  คือ ภาวทสกะ ได้แก่  มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔  ชีวิตรูป ๑  และอิตถีภาวะรูป ๑ (ถ้าเป็นเพศหญิง) หรือปุริสภาวะอีก ๑ (ถ้าเป็นเพศชาย) ในกลุ่มนั้น   ก็เป็น ๑๐ รูป เรียกว่า “ภาวทสกะ”

    และอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ชื่อ “หทยทสกะ”  ก็ต้องประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป   คือ มหาภูตรูป ๔  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม   อุปาทายรูป ๔ คือ สี  กลิ่น  รส  โอชะ   ชีวิตรูป ๑ เป็น ๙   และหทยวัตถุ ๑  คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอีก ๑ รูป  ในกลุ่มนั้นเป็นหทยทสกะ   คือ กลุ่มของหทัย ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    เพราะฉะนั้นกรรมทำให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ แต่ว่าถ้าจิต   คือ ปฏิสนธิจิตไม่เกิด กัมมชรูป ๓ กลุ่มนี้เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นสำหรับปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดขึ้น ซึ่งก็ได้เป็นไปแล้วพร้อมกันทันทีในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    โดยนัยเดียวกัน หทยวัตถุในขณะปฏิสนธิซึ่งเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต จึงเป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิต แต่กัมมชกลาปอีก ๒ กลาปไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะเหตุว่า   จิตไม่ได้เกิดที่กายทสกะ  หรือภาวทสกะ  แต่เกิดที่กลุ่มของรูปที่เป็นหทยทสกะ

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องของสหชาตปัจจัยหมวดนี้ ? 

    คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิหทยวัตถุในอุปาทขณะ   และปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ

    ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตก็จะเห็นได้ว่า กล่าวถึงเฉพาะหทยวัตถุปฏิสนธิขณะ หมายความถึง   ปฏิสนธิหทยวัตถุรูป รูปเดียวที่เป็นสหชาตปัจจัยของจิต  คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕  เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ารูปอื่น ขณะอื่น นอกจากปฏิสนธิขณะ ที่รูปจะเป็นปัจจัยให้เกิดจิตก็ดี   หรือจะเป็นทวารให้จิตรู้อารมณ์ก็ดี หรือว่าจะเป็นอารมณ์ให้จิตรู้ก็ดี รูปทั้งหมดที่จะเป็นปัจจัยได้ในขณะอื่น นอกจากปฏิสนธิกาลแล้วต้องเป็นรูปในขณะฐีติขณะของรูป   

    รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ  เพราะฉะนั้นในอุปาทขณะของจิต  ถ้ารูปนั้นเกิดในขณะนั้น รูปนั้นไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้แก่จิตได้เลย เป็นทวารไม่ได้ เป็นวัตถุไม่ได้ เป็นอารมณ์ไม่ได้ นอกจากเฉพาะในปฏิสนธิกาล คือ ในขณะเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น ซึ่งปฏิสนธิหทยวัตถุ   เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตได้ในอุปาทขณะของรูป

    นอกจากนั้นแล้วรูปจะไม่มีโอกาสเป็นปัจจัยในอุปาทขณะของรูปได้เลย  รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยโดยเป็นทวารก็ดี โดยเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดก็ดี หรือโดยเป็นอารมณ์ก็ดี จะต้องเป็นปัจจัยในฐีติขณะเท่านั้น

    ซึ่งจะเห็นได้ในวีถีจิตว่า ขณะที่รูปเกิดกระทบภวังค์ ขณะนั้นจิตไม่สามารถที่จะรู้หรือมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ได้ทันที ต้องเป็นฐีติขณะของรูปเสมอ เว้นขณะเดียว คือ ในปฏิสนธิขณะเท่านั้น   ซึ่งรูปสามารถจะเป็นปัจจัยได้ในอุปาทขณะ


    หมายเลข 3921
    28 ส.ค. 2558