สัปปุริสสูตร (การพูด)


    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อปัณณกวรรคที่ ๓ สัปปุริสสูตร ข้อ ๗๓ แสดงถึงเรื่องของการพูดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยจิตที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ

    ที่ผ่านมาแล้วตัวท่านเป็นอย่างไร เป็นอย่างนี้หรือเปล่า แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง รีบอธิบายชัดเจนถึงความไม่ดี หรือความเสียหายของคนอื่น ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เพราะอะไร ก็เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ระลึกรู้อย่างนี้ ไม่มีทางที่บุคคลใดจะมีตัวตน มีกำลัง สามารถละอกุศลทั้งหลายได้เลย แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่เกิดพร้อมการระลึกรู้ สำเหนียก สังเกต จนประจักษ์ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้มีแล้วในโลก และมีมานานแล้วด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ

    เห็นกำลังของกิเลสไหม ความดีแท้ๆ ของคนอื่น สรรเสริญไม่ได้ กล่าวไม่ได้ กิเลสอกุศลทำให้ปกปิดความดีของคนอื่น แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของคนอื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม

    เคยเป็นอย่างนี้ไหม สังเกตจากบุคคลที่แวดล้อมท่าน มิตรสหายก็ได้ มีอัธยาศัยต่างๆ กันตามการสะสมจริงๆ จะไปเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจของใครก็ไม่ได้ ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่ชัดเจนว่า แล้วแต่การสะสม แม้ถูกถาม บางคนก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม ถูกถามแท้ๆ ยังไม่บอก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ถาม เป็นอันว่าไม่พูดแน่ และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่

    ตระหนี่จริงๆ ในการที่จะสรรเสริญความดีของคนอื่น ซึ่งขณะนั้นต้องเป็นกิเลส เป็นอกุศลแน่นอน เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่สะสมมา มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นอย่างนั้น ในขณะนั้น ขัดขวางไว้ เหมือนกับความตระหนี่ บางทีตั้งอกตั้งใจว่า จะให้ ถึงเวลาจริงๆ ไม่ให้ ความตระหนี่เกิดขึ้นแล้ว สะสมมาแล้วที่จะเกิดก็เกิด

    ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้เห็นความละเอียดของกิเลสที่สะสมมาตามความเป็นจริง จะได้รู้ว่าตนเองมีกิเลสมากน้อยเพียงไร จึงจะละกิเลสนั้นได้

    แต่ถ้าไม่รู้ ข้ามไปๆ หวังจะไปรู้นามรูปอะไรไม่ทราบ แล้วจะละการยึดถือสภาพนามธรรม และรูปธรรมโดยละเอียดในชีวิตประจำวันนี้ได้อย่างไร เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายแม้ขณะที่กำลังตระหนี่ หรือว่ากำลังกล่าวสรรเสริญคุณของคนอื่น หรือว่ากำลังกล่าวโทษของบุคคลอื่นก็ตาม ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่สติจะต้องระลึกรู้ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะรู้ตื้นลึกหนาบางของการสะสมของกิเลส และอกุศลที่จะละได้ ด้วยปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อไม่เต็มที่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ

    อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามแล้ว ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ ฯ

    ลักษณะของอสัตบุรุษ พอถึงความดีของตนเอง แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผย ขณะใดเป็นอย่างนี้ กิเลสมากหรือน้อย เป็นสัตบุรุษหรืออสัตบุรุษ และเมื่อถูกถามแล้ว ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว ทำความดีอะไรๆ ไว้บ้าง ก็บรรยายโดยละเอียดถี่ถ้วนทีเดียว กล่าวถึงความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ขณะนั้นให้ทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เพราะว่าพอถึงความดีของคนอื่นไม่พูด แต่พอเป็นความดีของตนเอง อะไรที่ทำให้วาจาอย่างนั้นเป็นไป ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ ก็ไม่รู้ถึงสภาพของจิตในขณะนั้นที่เป็นตัวตน ที่เป็นอกุศล ที่เป็นปัจจัยให้วาจาอย่างนั้นกล่าวออกไป

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่า เป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ

    ความเสียหายของคนอื่น เขาอยากจะให้คนอื่นรู้ไหม ไม่อยาก น่าเห็นใจไหม เมื่อเห็นใจในการกระทำที่พลั้งพลาด หรือในความผิดของบุคคลนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงรู้ถึงบุคคลอื่น แต่ควรที่จะช่วยให้เขาเห็นว่า ควรที่ประพฤติในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควรอย่างไร และไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความเสียหายของบุคคลนั้นให้คนอื่นรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นเป็นความเมตตา เป็นความกรุณา เป็นความเห็นใจ เป็นกุศลจิต

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ

    บางคนรู้สึกว่ายากใช่ไหม แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศล ควรอบรม ถ้านิสัยเดิมที่สะสมมาไม่ค่อยจะกล่าวถึงความดีของบุคคลอื่น ก็รู้ว่าตัวเองนี้ไม่ดีที่ไม่พูด ไม่แสดง ไม่สรรเสริญคุณความดีของคนอื่น และถ้ารู้ว่าขณะนั้นตัวเองเป็นอกุศล เป็นกิเลสที่ ปิดกั้นขัดขวาง ทำให้ไม่กล่าววาจาที่ควรจะกล่าว ก็ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ กล่าว ค่อยๆ อบรมนิสัยใหม่ ที่จะเป็นผู้ที่มีกุศลจิตในการที่จะเปิดเผยความดีของผู้อื่น หรือว่ากล่าวความดีของผู้อื่นอย่างเต็มที่กว้างขวาง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ

    ข้อนี้ยากกว่าข้ออื่นหรือเปล่า ลองคิดดู แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของตน ดูจะยากกว่าข้ออื่นหรือเปล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง

    ถ้าเคยเข้าใจอะไรผิด เป็นโทษ ก็แสดงโทษว่า เคยเข้าใจผิดอย่างนั้น หรือว่าเคยพูดผิดอย่างนั้น กล้าที่จะทำอย่างนี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ก็เป็นอสัตบุรุษ ถ้าได้ แม้ยากก็เป็นสัตบุรุษ

    เพราะฉะนั้น แต่ละข้อๆ ท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ว่า สำหรับตัวท่านเองประการใดยากกว่าประการใด หรือว่าง่ายกว่าประการใด

    ถ. อาจารย์พูดถึงคำว่า สัตบุรุษ หรือ สัปบุรุษ ตามศัพท์ ตามไวยากรณ์ ตามบาลีที่เรียนมา สัตบุรุษ ส แปลงมาจาก สันตะ ตะ แปลว่า ผู้ที่ถึง

    ผู้ที่ถึงความสงบด้วยกาย วาจา ใจ จึงเรียกว่า สัตบุรุษ หรือสัปบุรุษ

    ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้กรุณาให้ความละเอียดในเรื่องของพยัญชนะ คำว่า สัตบุรุษ หรือ สัปบุรุษ มาจากคำว่า สันต + บุรุษ = สัตบุรุษ ซึ่งในพระสูตรบางแห่งท่านแสดงไว้ถึงขั้นอุกฤษฏ์ คือ การเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสัตบุรุษ แต่แม้ผู้ที่สงบ ขณะที่สติเกิด ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นครั้งคราวก็เป็นสัตบุรุษได้ คือ ผู้ที่เว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตในขณะนั้น

    ข้อความต่อไป

    อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อไม่เต็มที่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ฯ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่งเท่านั้น นางตั้งหิริ และโอตตัปปะได้อย่างแรงกล้าในแม่ผัว พ่อผัว และผัว โดยที่สุดในคนรับใช้ และคนทำงาน สมัยต่อมา นางอาศัยอยู่คุ้นเคย จึงกล่าวกะแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง และผัวบ้างอย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพียงออกบวชได้วันหนึ่งหรือคืนหนึ่งเท่านั้น เธอตั้งหิริ และโอตตัปปะไว้อย่างแรงกล้าในพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย โดยที่สุดในคนวัด และสามเณร สมัยต่อมา เธออาศัยความอยู่ร่วม จึงกล่าวกะอาจารย์บ้าง กะอุปัชฌาย์บ้างอย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้

    เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีใจเสมือนหญิงสะใภ้ซึ่งมาใหม่อยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    จบสูตรที่ ๓

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุที่จะให้กล่าววาจาโดยอาศัยความคุ้นเคย ทีแรกก็มีหิริ มีโอตตัปปะดี วาจาก็ไพเราะน่าฟัง แต่พอคุ้นเคยกันมากเข้าๆ ก็มีผรุสวาจาบ้าง หรือว่ามีวจีทุจริตต่างๆ บ้าง เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน ด้วยเหตุนี้ ในเรื่องของวาจาที่จะขัดเกลา พระผู้มีพระภาคจึงทรงอุปมาให้เหมือนหญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งเท่านั้น วันแรกที่ไปสู่บ้านของสามีก็สงบเสงี่ยมเจียมตัว วาจาก็ดี แต่ว่าพอคุ้นเคยกันขึ้น วาจาก็เป็นวจีทุจริต เป็นคำพูดที่ไม่น่าฟังต่างๆ เพราะฉะนั้น เรื่องวาจาจึงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังให้เกิดหิริโอตตัปปะ

    การที่จะละเว้นวจีทุจริตได้ ก็ตามกำลังของสติปัญญาที่สามารถระลึกรู้ได้ว่า ในขณะนั้น คำพูดเช่นนั้น เกิดขึ้นเพราะกุศลจิตหรือเพราะอกุศลจิต และคำพูดใดควรจะเว้นก่อน เช่น มุสาวาท ควรเหลือเกินที่จะไม่กล่าวเลย เพราะว่าทำให้บุคคลอื่นเสียประโยชน์ เป็นเรื่องที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น

    และถ้าได้ระลึกรู้ถึงวจีทุจริตประการอื่น เช่น ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปวาจา ก็จะทำให้สามารถอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในสภาพธรรมที่ทำให้กล่าววาจาอย่างนั้น จนถึงการที่จะดับวจีทุจริตประการนั้นๆ ได้เป็นสมุจเฉท


    หมายเลข 3348
    31 ธ.ค. 2566