เศษของกรรมต้องคิดนึกก่อนทำหรือไม่


    สมนึก  ผมเคยได้ยินว่า เศษของกรรม หมายความว่า การที่เราจะทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ดี ต้องรำพึงก่อน หรือคิดนึกก่อน หรือใคร่ครวญก่อน นั่นเป็นเศษของกรรมหรือเปล่าครับที่ทำให้ครบองค์

    ส.   นั่นเป็นบุพพเจตนา

    สมนึก  ไม่ใช่เศษของกรรม

    ส.   ไม่ใช่ จะเป็นตัวกรรมที่จะครบองค์ต่อเมื่อการกระทำนั้นสำเร็จลง ถ้าท่านผู้ฟังคิดจะถวายทาน หรือจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น กุศลจิตเกิด การให้นั้นสำเร็จแล้วหรือยัง เพียงคิดว่าจะให้ ยังไม่สำเร็จ แต่กุศลจิตเกิดแล้ว แต่กรรมยังไม่สำเร็จ และกว่ากรรมจะสำเร็จ กุศลจิตที่เป็นชวนะจะเกิดอีก ๗ ขณะ ๗ ขณะ อีกกี่ครั้ง ก็นับไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่กรรมใดจะให้ผลหมด หรือยังให้ผลไม่หมดก็เป็นเศษของกรรม ซึ่งสามารถให้ผลได้

    ถ้าอ่านในอรรถกถาก็จะมีเรื่องเศษของกรรมอยู่เสมอ กรรมนั้นให้ผลแล้วยังให้ไม่หมด ต่อมาภายหลังก็เกิดเป็นอะไร ๆ หรือกรรมนั้นให้ผลแล้ว ยังให้ไม่หมด ในชาตินั้นจึงได้รับผลของกรรมนั้นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างไรๆ เคยปวดหัวตัวร้อนนิดๆหน่อยๆ ไหมคะ ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นเศษของกรรมได้ไหมคะ เพียงนิดหน่อย หกล้มนิดหน่อย มีบาดแผลเล็กน้อย แต่กรรมที่ทำจริงๆ สำเร็จครบองค์ไปแล้วสามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เกิดในนรกก็ได้ เกิดเป้นเปรตก็ได้ เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ นั่นคืออกุศลกรรมที่สำเร็จเป็นกรรมบถครบองค์ให้ผล แต่เจ็บปวดนิดหน่อย ปวดหัวตัวร้อนเล็กๆน้อยๆ เจ็บไข้ได้ป่วยเล็กน้อย ก็ต้องเป็นผลของอกุศลเหมือนกัน จะเป็นเศษของกรรมได้ไหม

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก แล้วถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะไม่มีใครพยากรณ์ว่า ในขณะที่วิบากจิตเกิดในขณะนี้เป็นผลของกรรมใด

    เจ็บปวดนิดหน่อย หกล้มมีแผลเล็กน้อย เป็นผลของอกุศลกรรม ใช่ไหมคะ แต่อกุศลกรรมจริงๆที่ทำครบองค์แล้วสามารถทำให้ปฏิสนธิเกิดในอบายภูมิได้ คือเกิดในนรกได้ ฆ่าสัตว์ ครบองค์ มีเจตนาก่อนฆ่า รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีความเพียรในการฆ่า และสัตว์นั้นตายจากการฆ่านั้น ครบองค์ ทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่ยังไม่หมดของกรรม เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังเป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียนบ่อยๆ

    สมนึก  เป็นลักษณะของเศษของกรรมใช่ไหมครับ

    ส.   ถ้าเป็นผลของกรรมจริงๆ ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่เศษของกรรมก็ติดตามมาทำให้เป็นผู้สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง


    หมายเลข 2637
    1 ก.ย. 2558