บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต


    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต กถาวัตถุสูตร มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่าควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคล ผู้นี้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ไม่ควรพูดสำหรับบุคคลที่ควรพูดนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้าม พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า จะพึงทราบบุคคลว่าควรพูด หรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ควรพูด

    สำหรับบุคคลที่ควรพูดนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้าม การพูดเป็นชีวิตประจำวัน บางท่านพิจารณาคำพูดของผู้อื่นแต่ไม่ได้พิจารณาคำพูดของตนเอง แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น มีประโยชน์สำหรับผู้ที่พิจารณาแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม ขัดเกลาตัวเองยิ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    พึงทราบว่าบุคคลมีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ผู้ที่ไม่ได้เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือจิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น

    ชนเหล่าใดเป็นคนเจ้าโทสะ ฟุ้งซ่าน โอ้อวด เจรจา ชนเหล่านั้นมาถึงคุณที่มิใช่ของพระอริยเจ้า ต่างหาโทษของกันและกัน ชื่นชมคำทุพภาษิต ความพลาดพลั้ง ความหลงลืมและความปราชัยของกันและกัน ก็ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้วพึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่ควรเป็นคนเจ้าโทสะ ไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น ไม่เพ่งโทษ กล่าวถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน

    บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ เพื่อรู้ เพื่อเลื่อมใส สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการปรึกษาหารือกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปรึกษาหารือกัน เช่นนั้นแลนี้การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมธาวีบุคคลรู้เช่นนี้แล้ว ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษาหารือกัน


    หมายเลข 2157
    18 ต.ค. 2566