ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ชัดทันทีได้
ถ. เมื่อเช้าเดินผ่านท่าน้ำได้กลิ่นเหม็นตลอดเวลา ก็ทำความรู้สึกว่า นี่เป็นกลิ่น แต่สติตามไม่ค่อยทัน
สุ. อย่างหนึ่งที่ไม่อยากจะให้คิดเลย คือ ไม่ทัน ไม่จำเป็นต้องทันอะไรเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏ เมื่อยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ ไม่ต้องใช้คำว่า ทันอะไรทั้งนั้น แต่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ระลึกแล้ว ทนไม่ไหวเลย
สุ. ไม่ใช่ระลึกให้ทน ระลึกให้รู้ จุดประสงค์เคลื่อนไปอีกแล้ว
ถ. ถ้ารู้แล้วเกิดอาการออกมาอีก
สุ. ทุกอย่างที่เกิด มีเหตุปัจจัยจึงเกิด เพราะฉะนั้น สติให้รู้ ไม่ใช่ว่าสติ ทำให้หมดเหตุปัจจัยนั้น เมื่อเหตุปัจจัยที่จะให้กลิ่นนั้นมี ไม่ใช่ให้สติระลึกเพื่อดับ เหตุปัจจัยไม่ให้มีกลิ่น นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ แต่จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม การ ฟังธรรม หรือแม้ในขณะที่สติเกิด ก็เพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ถ. อย่างนั้นต้องรู้เฉยๆ ...
สุ. เวลาที่สติเกิด ปัญญายังไม่ชัด อย่าลืมคำนี้ ขณะที่กำลังเจริญอบรมด้วยการฟังแล้วฟังอีก กี่ชาติกี่ครั้งก็ตามแต่ แต่เวลาที่สติระลึกจริงๆ ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ชัดทันทีได้ เพราะฉะนั้น อีกกี่กัปจะทันทีได้
ปัญญาจะเจริญเมื่อไร
ปัญญาต้องเจริญในขณะที่สติระลึก เหมือนในขณะนี้ อย่าลืม สติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนในขณะนี้ และปัญญาจะค่อยๆ เกิดพร้อมกับสติที่กำลังระลึกจนกว่าจะเป็นความรู้ชัด สามารถที่จะแทรกคั่น อย่างระลึกที่แข็ง ยังไม่ถึงเสียงปรากฏ ขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะที่แข็ง ปัญญาที่เคยไม่รู้จะค่อยๆ เจริญจนเป็นความรู้ชัดก่อนที่จะรู้เสียง จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ. เมื่อวานที่ไปเวียนเทียนรอบกุสินารา ผมก็พยายามระลึก เวลาที่เท้าย่างไปๆ แต่แทนที่จะเป็นแข็งหรืออ่อน กลับกลายเป็นเจ็บปวดๆ
สุ. ก็ไม่เป็นไร อะไรที่กำลังปรากฏ กำลังเป็นของจริง เราจะไปเปลี่ยนเจ็บปวดให้เป็นแข็งก็ไม่ได้ นี่คือสภาพที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญารู้ลักษณะที่เป็นอนัตตาจะไม่เดือดร้อน จะหมดความสงสัย เพราะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมว่า แล้วแต่สิ่งใดจะปรากฏ
ถ. กายเรากระทบ ควรจะเป็นแข็งหรืออ่อน แต่กลายเป็นเจ็บปวด
สุ. ก็ไม่เป็นไร แล้วแต่อะไรปรากฏ เพราะถ้าไม่มีกายที่กระทบแข็ง จะมีเหตุให้เจ็บหรือปวดได้ไหม
ถ. อาจจะเป็นเพราะเราระลึกไม่ทัน
สุ. ขอให้คิดดู เจ็บปวดจะอยู่ลอยๆ โดยไม่อาศัยกายนี้ได้ไหม ไม่มีกายนี้จะมีเจ็บปวดลอยๆ ขึ้นได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะระลึกที่กาย จะแข็ง จะอ่อน จะร้อน จะเย็น จะเจ็บ จะปวด จะเมื่อย หรืออะไร ก็แล้วแต่สภาพธรรมใดจะปรากฏที่กาย
ถ. สภาพธรรมที่แท้จริง หมายความว่า ผมเหยียบลงไปแข็ง แต่ผมคงระลึกไม่ทัน
สุ. อย่าใช้คำว่า ไม่ทัน จะให้ทันอะไร ต้องการจะระลึกอะไร ลักษณะสภาพธรรมอะไรปรากฏ ก็
ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เลิกใช้คำว่า ไม่ทัน
ถ. ธรรมบางอย่างจะเป็นโสภณธรรมหรืออโสภณธรรมก็ตาม โดยเฉพาะเจตสิก ทำให้รู้จักสภาพตัวเราเองดีขึ้น รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ที่ทำให้รู้จักจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ว่าธรรมบางอย่าง ที่จะรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง รู้สึกว่าห่างไกลจากการละกิเลส
สุ. คุณธงชัยยึดถืออะไรว่าเป็นตัวคุณธงชัย
ถ. ก็คงจะยึดเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
สุ. เมื่อยึดเย็น ร้อน อ่อน แข็ง จึงต้องรู้ความจริงของเย็น ร้อน อ่อน แข็งด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่ละการยึดถือเย็น ร้อน อ่อน แข็งว่าเป็นตัวคุณธงชัย
ถ. รู้สึกว่ายังไกลกว่าที่เราจะระลึกถึงสภาพจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. ทำไมมีการเปรียบเทียบ ไกล ใกล้ เมื่อยังไม่รู้ก็ยังไม่ละ
ถ. เพราะเห็นประโยชน์ชัดเจนกว่า
สุ. เมื่อไรรู้ ก็ละทุกอย่าง คุณธงชัยเลือกไม่ได้ ติดอะไรก็ต้องละทั้งนั้น ติดแข็งก็ต้องละแข็ง เลือกไปเลือกมา สติก็ไม่ระลึก
ถ. ก็ระลึกอยู่สภาพเย็นร้อนอ่อนแข็ง ขณะที่มีสติระลึกนั้น เมื่อดูว่าจิตเป็นกุศลหรืออกุศล รู้สึกว่าดูไม่ค่อยออก
สุ. จะไม่ออกทั้งนั้น จนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แยกออกจากกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ. ตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเรามีเมตตาก็ดี หรือว่าละเว้นทุจริตต่างๆ ก็ดี รู้สึกว่าขณะนั้นจิตเป็นกุศล
สุ. ก็ขณะที่ระลึก เราชินกับลักษณะไหนเราก็รู้ลักษณะนั้น แต่เราไม่ชินกับลักษณะไหนเราก็ไม่รู้ในลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกจนกว่าจะชิน จนกว่าจะทั่วทั้งหมด
ใครระลึกทางไหนจนชินทางนั้นก็รู้ทางนั้น แต่ถ้าไม่ได้ระลึก ก็ไม่ชิน ก็ไม่รู้ และถ้าเป็นอย่างที่คุณธงชัยว่า บางคนอาจจะไม่รู้ความต่างกันของโลภะกับเมตตาเลย เขาอาจจะคิดว่าเขาเมตตามาก แต่ความจริงเป็นโลภะ ซึ่งเขาเองอาจจะบอกว่าเขาเมตตา ตราบใดที่เขายังไม่ศึกษา และสติไม่ระลึกตรงลักษณะของเมตตาที่ต่างกับโลภะ
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1241