พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา บรรลุพระอรหัต


    ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งพุทธกาล ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้นจะต้องหลีกเร้น เรื่องของการหลีกเร้นนั้น เป็นเรื่องของการอบรมสมถภาวนา ซึ่งเป็นกุศลประการหนึ่ง แต่ไม่ใช่การที่จะทำให้เป็นพระอริยเจ้า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเพื่อแสดงธรรมโปรดพระญาติ ถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้วนั้น ในวันรุ่งขึ้น พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางยโสธราพิมพาทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ก็ไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาให้ทรงทราบ พระเจ้าสุทโธทนะทรงสลดพระราชหฤทัย เสด็จไปประทับเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคทูลว่า

    พระเจ้าข้า ทำไมจึงทรงยังหม่อมฉันให้ได้อายเล่า พระองค์เสด็จเที่ยวบิณฑบาตเพื่อประโยชน์อะไร พระองค์ได้เป็นผู้มีความสำคัญอย่างนี้ว่า ภิกษุมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตหรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    มหาบพิตร การเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตสำหรับวงศ์ของอาตมาภาพ

    พระราชาทูลถามว่า

    พระเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่ามหาสมมติขัตติยวงศ์ เป็นวงศ์ของพวกเรามิใช่หรือ ก็แลในขัตติยวงศ์นั้น แม้กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อว่าผู้เที่ยวภิกษา ย่อมไม่มี

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    มหาบพิตร ชื่อว่าราชวงศ์ เป็นวงศ์ของมหาบพิตร แต่ขึ้นชื่อว่าพุทธวงศ์ เป็นวงศ์ของอาตมาภาพ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์เทียว ได้เป็นผู้เสด็จเที่ยวบิณฑบาตดังนี้ คงประทับยืนในท้องถนนเทียว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

    บุคคลไม่พึงประมาทในบิณฑบาต อันคนพึงลุกยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ด้วยว่าผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น

    พระราชาได้ทรงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ในกาลที่จบแห่งพระคาถา

    แล้วได้ทรงสดับพระคาถานี้ว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้เป็นทุจริต ด้วยว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น ดังนี้แล้ว ทรงประดิษฐานในสกทาคามิผล

    ได้ทรงสดับธรรมปาลชาดกแล้ว ทรงประดิษฐานในอนาคามิผล ซึ่งการทรงสดับธรรมปาลชาดกนี้ ภายหลังที่ท่านพระราหุลได้บวชเป็นสามเณรแล้ว

    ในมรณสมัย เสด็จบรรทมบนพระที่อันมีสิริ ภายใต้แห่งเศวตฉัตรนั้นแล จึงทรงบรรลุพระอรหัต กิจที่จะต้องหมั่นประกอบความเพียรในอรัญวาส มิได้มีแก่พระราชา

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 316


    หมายเลข 13016
    9 ส.ค. 2567