ธรรมของสัตบุรุษ และ ธรรมของอสัตบุรุษ


        แม้แต่พระธรรมที่กล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ ไกลกันยิ่งกว่าฟ้า และดิน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ว่าไกลกันแสนไกล เช่น ฟ้ากับดิน หรือว่าฝั่งข้างนี้ของมหาสมุทรกับฝั่งข้างนั้นของมหาสมุทร แต่คนที่ระลึกได้ถึง อกุศลของตนเองกับผู้ที่ได้ดับอกุศลเป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น จะเห็นความต่างกันมากของผู้ที่อกุศลเกิดอยู่ตลอด และหิริโอตตัปปะก็ยังไม่เกิด อกุศลก็มากมาย นานๆ ครั้งหนึ่งจะมีสติระลึกได้ และหิริโอตตัปปะก็เกิดบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ต้องต่างกันกับท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้เป็นสัตบุรุษ

        เพราะแม้แต่ความเห็น ยังไม่ต้องถึงการดับมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคลดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล มีความยึดมั่นในความเห็นของตนเองว่าถูกต้อง และไม่ยอมที่จะทิ้งความเห็น ความยึดมั่นในความเห็นของตนซึ่งไม่ถูกต้อง ยังไม่ต้องเป็นเรื่องของการละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ถูก ก็ยังไม่สามารถเกิดหิริโอตตัปปะที่จะละทิ้งไป และจะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้อย่างไร

        นี่เป็นความละเอียดของการที่จะต้องพิจารณาตนเอง เพื่อให้เห็นความต่างกันของธรรมของสัตบุรุษ และอสัตบุรุษ

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582


    หมายเลข 12918
    11 ม.ค. 2567