ไม่ต้องคิดถึงนิมิตเพราะขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้ว


        ผู้ฟัง รู้สึกว่านามธรรม และรู้ยากกว่ารูปธรรมครับ

        สุ. ก็คิดไปเรื่อยๆ ค่ะ ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คิดเรื่องอื่นไป

        ผู้ฟัง ครับ แม้ว่าตลอดเวลา ตลอดทั้งวันจะอยู่กับนามธรรมมากกว่า รูปธรรมก็ตาม

        สุ. ไม่มีใครยับยั้งความคิดได้ แต่คิดก็คือคิด จะคิดอย่างไรก็ได้ รู้ยากกว่าเพราะละเอียด เพราะเป็นธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างปรากฏเลย แต่แม้รูปอื่นก็ไม่มีรูปร่างปรากฏด้วย แต่ขณะนั้นมีความต้องการ มีความอยาก อะไรหรือเปล่า สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ นามธรรมละเอียดกว่ารูปธรรม และนามธรรมแต่ละอย่างก็มีความละเอียดต่างกันไปอีก อย่างชีวิตของเรา แม้แต่เป็นไปด้วยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจิตธรรมดา ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ไม่มีความสงบอย่างมั่นคง เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สิ่งที่เราคิดว่ายั่งยืน มั่นคง จิตเกิดขึ้นรู้เพียง ๗ ขณะ ที่ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งนั้น แค่นั้นเองแล้วก็หมด แม้เป็นกุศลก็เพียงเท่านั้น แค่ ๗ ขณะที่เกิดขึ้นเป็นกุศลในสิ่งที่กำลังปรากฏ สั้นสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นความสงบ คือ กุศลน้อยมาก ถ้าจะเทียบกับระดับจิตซึ่งสูงขึ้น ซึ่งไม่มี เพราะไม่รู้ ไม่สามารถที่จะถึงได้ ก็แสดงว่า สิ่งใดก็ตามที่ยังไม่เกิด เราไม่สามารถจะรู้ความต่างของความสงบระดับขั้นของสมาธิขั้นอุปจาระ ขั้นอัปปนา ขั้นฌานจิตต่างๆ และโดยเฉพาะสภาพที่มีนิพพานเป็นอารมณ์

        เพราะฉะนั้นก็เป็นลักษณะของจิตซึ่งอยู่ในโลกของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วไม่มีปัญญาแม้เพียงจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏที่มีแล้ว แต่ถ้าไปหวัง ไปทำอย่างอื่น ก็ยิ่งหมดหนทาง เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพนั้นปรากฏให้รู้ แต่ไปทำด้วยความเป็นตัวตน

        เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งจะข้ามการไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัยไม่ได้

        เมื่อไรที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นรู้ตามความเป็นจริง หมด ทุกอย่างหมด ไม่เหลือ มีแต่เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังรู้เท่านั้นเอง

        ผู้ฟัง แต่พอมาคิดถึงคำว่า “นิมิต” ที่อาจารย์เคยกล่าว ก็คิดว่า ถ้าเกิดมีนิมิตแล้ว สติก็คงสามารถระลึกรู้ถึงนามธรรมที่เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว

        สุ. ถ้าสติไม่เกิดก็นั่งคิดไปว่า สติคงจะระลึกนั่น ระลึกนี่ ฟังจนกว่าสติจะเกิด ก็รู้เอง

        ผู้ฟัง ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องระลึกถึงนิมิตไปก่อน เนื่องจากเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก

        สุ. มิได้ค่ะ ไม่จำเป็นเลยค่ะ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้ว ยังไม่มีคำว่านิมิต

        ผู้ฟัง ที่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เพราะว่ามีนิมิตอยู่ใช่ไหมครับ

        สุ. ก็ไปคิดต่างหาก คิดเรื่องอื่น แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนี้แหละมีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ เป็นคนก็ไม่ได้ เป็นอะไรก็ไม่ได้ เป็นธรรมที่สามารถกระทบจักขุปสาท โต๊ะสามารถกระทบจักขุปสาทได้ไหม

        ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

        สุ. อะไรกระทบได้

        ผู้ฟัง รูปครับ

        สุ. สิ่งที่สามารถกระทบ คือ วัณณรูป กระทบจักขุปสาท มีอายุสั้นมาก ดับแล้ว แต่สืบต่อ เพราะความไม่รู้ เมื่อไรรู้ ก็สามารถรู้ว่า อะไรจริง คิดนึกจริง เห็นจริง ได้ยินจริง แต่เรื่องราวต่างๆ ไม่มีจริงๆ เลย เพราะว่าคิดดับ เรื่องราวต่างๆ อยู่ที่ไหน

        ผู้ฟัง รู้สึกว่ามันจะรวดเร็วมาก ถ้าเกิดว่าระลึกตัวสภาพธรรมจริงๆ เลย แทนที่จะเป็นนิมิต

        สุ. เดี๋ยวก่อนค่ะ รู้สึกว่า รวดเร็วมาก หมายความว่าอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง เนื่องจากสภาพธรรมที่เกิดดับ อย่างรูปเกิดดับช้ากว่าจิตตั้ง ๑๗ ขณะ

        สุ. เพราะฉะนั้นเวลานี้ เห็น รวดเร็วมากไหม

        ผู้ฟัง รวดเร็วครับ

        สุ. ได้ยิน รวดเร็วไหม

        ผู้ฟัง รวดเร็วครับ

        สุ. แล้วทำไมจะพูดถึงแต่เฉพาะสติรวดเร็ว

        ผู้ฟัง เขาเกิดดับช้ากว่ารูป ๑๗ ขณะ

        สุ. รูปเกิดดับช้ากว่าจิต เพราะว่าเกิดดับเท่ากับอายุของจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

        ผู้ฟัง จึงคิดว่า รู้ลักษณะของจิตจะยากมากกว่ารูปมาก

        สุ. ก็ไม่ต้องไปคิดซิคะ ถ้านั่งคิด ก็แสดงว่าไม่รู้ลักษณะของจิต เพราะกำลังคิดเรื่องจิต แต่ขณะนี้กำลังเห็น ไม่มีเรื่องของจิต แต่จิตเห็น เกิดแล้วกำลังเห็น กำลังทำหน้าที่เห็น จะต้องไปคิดเรื่องไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ต้องครับ

        สุ. ถ้าคิดเรื่อง ก็แสดงว่าจิตก็เกิดดับไปตลอดแสนโกฏิกัปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นแต่เรื่องราวของจิตที่จำ และก็ไม่รู้ว่า จะจำไปได้นานเท่าไร เพราะว่าแต่ละภพแต่ละชาติ ก็ไม่รู้ว่า ชาติต่อไปจะได้ยินซ้ำอีกหรือเปล่า

        ผู้ฟัง จึงสงสัยว่า จะระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมได้จริงหรือเปล่า

        สุ. สงสัยในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญาเท่าคุณวรศักดิ์

        ผู้ฟัง ไม่ใช่ครับ เป็นไปไม่ได้ครับ

        สุ. และจะสงสัยทำไมละคะ ต่างกันออกลิบลับอย่างนั้น

        ผู้ฟัง เพราะว่าไม่เคยเป็นอารมณ์ของอะไรเลย ไม่เคยเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานที่จะระลึกรู้ได้

        สุ. เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสจากการตรัสรู้นั้น ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงตรัสรุ้ หรือว่าไม่ได้ตรัสรู้ก็แสดง

        ผู้ฟัง ทรงแสดงตามที่ตรัสรู้ครับ

        สุ. ถ้าคนอื่นจะรู้ตามอย่างนั้น เป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า

        ผู้ฟัง อาจจะได้ถ้าคนอื่น

        สุ. อริยสัจ ๔ นี่ใครรู้

        ผู้ฟัง ก็คือผู้ตรัสรู้

        สุ. ค่ะ พระพุทธเจ้า พระสาวก เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้สามารถจะประจักษ์ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือเปล่า

        ผู้ฟัง เชื่อครับ แต่ก็ไม่เต็ม ๑๐๐

        สุ. ถ้าไม่เต็ม ๑๐๐ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า

        ผู้ฟัง เป็นครับ

        สุ. ทำไมเป็น เฉพาะพระพุทธเจ้าหรือคะ

        ผู้ฟัง เพราะพระองค์สามารถตรัสรู้ธรรมได้ละเอียด

        สุ. แล้วทรงแสดงธรรมหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ทรงแสดงครับ

        สุ. ถ้าไม่มีผู้ใดสามารถรู้ตาม ไม่ทรงแสดงแน่นอนค่ะ เสียเวลา เสียประโยชน์

        ผู้ฟัง จะกล่าวว่าทั้งๆ ที่เราไม่รู้ แต่ก็เชื่อไว้ก่อน เพราะว่าหนทางมี

        สุ. ไม่ใช่เชื่อไว้ก่อนค่ะ ขณะนี้มีอะไรคะ

        ผู้ฟัง มีธรรม มีคำสอน

        สุ. อะไรเป็นธรรมขณะนี้

        ผู้ฟัง ก็มีเห็น มีได้ยิน

        สุ. เห็นเกิดหรือเปล่า

        ผู้ฟัง เกิดครับ

        สุ. ดับหรือเปล่า

        ผู้ฟัง ดับครับ เพราะมีได้ยินต่อใช่ไหมครับ ถ้าไม่ดับ ก็คงไม่ได้ยิน

        สุ. ค่ะ การฟังธรรม ไม่ใช่เอาความคิดของเรามาเทียบ มาประมาณ มาเป็นเครื่องวัดว่า เมื่อเราคิดอย่างนี้ ความจริงก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ มีผู้ที่รู้จริงๆ ทรงแสดงความจริงให้พิจารณา ไม่ใช่ให้เราต้องเชื่อ

        ขณะนี้เห็น เป็นอย่างหนึ่ง คิดนึกเป็นอีกอย่างหนึ่ง ได้ยินเป็นอีกอย่างหนึ่ง

        ผู้ฟัง อันนี้เชื่อครับ

        สุ. แล้วเกิดพร้อมกันทั้งหมดหรืออย่างไร

        ผู้ฟัง ไม่ครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นสภาพธรรมหนึ่งเกิด แล้วมีสภาพธรรมอื่นมาร่วมเกิดซ้อนๆ กัน ตั้งแต่เกิดจนตายในขณะนี้หรือเปล่า

        ผู้ฟัง ไม่ใช่ครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นความจริง คือ

        ผู้ฟัง คือธรรมแต่ละอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ ครับ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 333


    หมายเลข 12405
    23 ม.ค. 2567