จิต เจตสิก รูป


        อ.อรรณพ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร จากการสนทนาธรรม ที่ห้องสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๓ มกราคม ๒๕๖๒

        ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เห็นไหม ถ้าได้ยินคำว่าจิต เพราะว่า ถ้าถามคนไทย คนไทยทุกคนไม่สงสัยเรื่องจิต มีจิตกันทุกคน และยังบอกด้วยว่า คนนั้นจิตใจไม่ดี คนนี้จิตใจดี ใจบุญบ้าง ใจบาป ใจร้ายบ้าง ใจดีบ้างสารพัด เราก็พูดถึงเรื่องจิตและใจ แต่ไม่รู้จักจิตใจตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา แต่ก็เป็นธรรม

        เพราะฉะนั้น รูปธรรมไม่ดีไม่ชั่ว แต่นามธรรมเท่านั้นที่เป็นสภาพที่รู้ เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งดีและชั่ว มีทั้งกุศลและอกุศล ก็ไม่ใช่เรา ต้องไม่ลืมว่า เราฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพื่อรู้ว่าธรรมไม่ใช่เรา และหลงเข้าใจธรรม ยึดถือธรรมว่าเป็นเราในสังสารวัฎมานานมาก จนกว่าจะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นได้เลย แต่ก็เกิดแล้ว ถ้าไม่มีการยึดถือเท่านั้น

        ก็จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเกิดตามเหตุตามปัจจัยยับยั้งไม่ได้เลย เป็นไปตามที่จะต้องมีปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น สุขมากก็มี เท่าที่ปัจจัยจะทำให้สุขเกิดขึ้นระดับนั้น ทุกข์มากก็มี ตามปัจจัยที่จะทำให้ทุกข์ระดับนั้นเกิดขึ้น

        เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทั้งหมด ถูกปกปิดด้วยความไม่รู้ เหมือนอยู่ในความมืดสนิท จากวันเดือนปีแล้วก็จากโลกนี้ไป แล้วก็ลืมหมดเลย เพราะฉะนั้น เราลืมชาติก่อน พอถึงชาติหน้าเราก็ลืมชาตินี้ และก็ไม่รู้ด้วยว่าเคยทำอะไรมาแล้วบ้าง แต่ว่า ถ้ามีความเข้าใจธรรมก็จะต้องมีว่า เคยได้ฟังธรรม ใช่ไหม ที่นี่บ้าง ที่โน่นบ้าง ที่นั่นบ้าง พออีกชาตินึงได้ยินคำที่กล่าวถึงธรรม ก็สามารถที่จะเข้าใจได้

        เหมือนขณะนี้ ถ้าเราไม่เคยเห็นประโยชน์ ไม่เคยรู้มาสักนิดเดียว ก็จะไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินได้ฟัง บางคนอาจจะคิดว่าบังเอิญ หรือวันนี้อยากมาฟังดู แต่ความจริงก็ต้องมีปัจจัยทั้งนั้นที่จะทำให้มีโอกาสได้ฟัง ฟังแล้วจะมีความเข้าใจมากน้อยเท่าไหร่ตามปัจจัยที่ได้สะสมมา มีความสนใจ มีการเห็นประโยชน์ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้ทรงตรัสรู้ความจริง

        เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูป เป็นธรรม เห็นหรือไม่ ไม่ใช่เรา พอกล่าวว่ามีจิต ก็ต้องจิต ตรงไหม จิตไม่ใช่เรา ต้องเป็นจิต มีเจตสิก ตรงไหม ต้องเป็นเจตสิกไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น จิตเป็นใหญ่ แค่นี้ ได้ยินแค่นี้สงสัยไหม ใหญ่ยังไง เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ มีสองอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวว่าจิตเป็นใหญ่ หมายความว่า เจตสิกไม่ใหญ่ ใช่ไหม แต่ว่าถ้าฟังพระธรรมต่อไป ใหญ่ตามหน้าที่การงาน เช่นจิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง รู้ชัดเจนในสิ่งที่ปรากฎ เท่านั้น เป็นหน้าที่ของจิต

        เพราะฉะนั้น ขณะนี้เห็น ทำไมมีสีหลากหลาย เขียวอ่อน เขียวแก่ สีม่วง สีแดง สีขาว จิตรู้แจ้งในสิ่งนั้น มิฉะนั้นจะไม่มีการเห็นว่าต่างกันเลย เพราะฉะนั้น สภาพของจิต มหาสมุทร กับท้องฟ้า จรดกัน จิตรู้แจ้งว่านี่เป็นฟ้า นั่นเป็นน้ำ เพราะการรู้แจ้ง เพราะฉะนั้น จิตเกิดพร้อมเจตสิก จิตจะเกิดเองโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ เจตสิกปรุงแต่งให้จิตแต่ละหนึ่งขณะเห็น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่กล่าวถึงจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในเจตสิกที่เกิดร่วมกัน โดยฐานะที่เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฎ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ถูกรู้ต้องมี ภาษาบาลีใช้คำว่า อารมฺมณ คนไทยออกเสียงสั้นๆ ว่า อารมณ์ แต่เข้าใจผิด ใช่ไหม เพราะว่าไม่ได้ศึกษาในความละเอียด วันนี้อารมณ์ดี คนไทยไม่สงสัยเลย ใครพูด เข้าใจได้เลย แต่รู้ไหม ว่าทำไมวันนี้อารมณ์ดี

        ถ้าตื่นมาเห็นแต่สิ่งที่ดี ได้ยินเสียงดี ได้กลิ่นดี ได้รสดี ได้การกระทบสัมผัส เย็นร้อนอ่อนแข็ง วันนี้อากาศกำลังดี ใช่ไหม สบายดี อารมณ์ดี เพราะมีอารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ ดี แต่ถ้าเกิดร้อนขึ้นมา ไม่ชอบแล้ว วันนี้อารมณ์ไม่ดีแล้ว คนนั้นว่าอย่างนี้ เสียงนั้นก็ไม่เพราะ เรื่องนั้นก็ไม่น่าฟัง ทั้งหมดก็เพราะจิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ไม่รู้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ถูกรู้ มีสองอย่าง คือสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ก็ปรุงแต่ง ซึ่งไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท แต่เกิดไม่พร้อมกัน เจตสิกที่ดี จะเกิดพร้อมกับเจตสิกที่ไม่ดี ไม่ได้

        เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราไม่รู้เรื่องจิตที่เราบอกว่าจิตของเรา แต่ความจริง จิตเป็นจิตไม่ใช่ของใคร แต่จิตต้องเป็นไปตามการสะสม เป็นไปตามการปรุงแต่งของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ไม่มีใครจะไปปรุงแต่งจิตได้เลย นอกจากเจตสิก ๕๒ ประเภท ที่ปรุงแต่ง เช่น ผัสสเจตสิก ผัสสะ แปลว่ากระทบ

        เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ถ้าไม่มีอะไรกระทบตา กระทบหู จิตเห็นเกิดไม่ได้ จิตได้ยินเกิดไม่ได้ จิตที่จะคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นบ้าง สิ่งที่ได้ยินบ้าง ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกหนึ่ง ซึ่งในพระอภิธรรมจะกล่าวถึงเป็นเจตสิกแรกคือ ผัสสเจตสิก สภาพรู้ทำหน้าที่กระทบอารมณ์ เพราะรู้ ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่ถูกรู้ก็คืออารมณ์

        เพราะฉะนั้น ผัสสะที่เกิดพร้อมจิต กระทบอารมณ์ ขณะที่เสียงปรากฎเพราะผัสสเจตสิกกระทบเสียง จิตเห็นเกิดไม่ได้ ต้องเป็นจิตได้ยินที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตาทั้งหมด เดี๋ยวนี้มีการได้ยิน ก็ไม่เคยรู้ว่า ทำไมได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีใครไปทำให้ได้ยินเกิด แต่ปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินเกิด เป็นธรรมทั้งหมดเลย โสตปสาทรูป เป็นรูปที่ต่างกับรูปอื่น รูปอื่นก็แข็งบ้างร้อนบ้าง หวานบ้าง เค็มบ้าง แต่รูปนี้เป็นรูปที่กระทบกับหู กระทบแข็งไม่เกิดอะไรขึ้นเลย แต่ว่าพอกระทบหู เป็นปัจจัยให้ได้ยินเกิดขึ้น ได้ยินเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นจิตในการรู้แจ้งเสียง

        เพราะฉะนั้น เสียงสามารถจะบอกได้ว่า ดนตรี เสียงต่างๆ ใช่ไหม ไม่ว่าจะดนตรีไทย หรือดนตรีอะไร แม้คนพูดแต่ละคน เพียงแค่ได้ยินโทรศัพท์ รู้เลยว่าใครพูด เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียง โดยมีเจตสิกซึ่งจำ สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันทั้งหมดก็คือ จิต เจตสิก รูป


    หมายเลข 11880
    11 ธ.ค. 2566