ลักษณะของสติปัฏฐาน-บัญญัติ


        ผู้ถาม ในขณะที่สติเกิด บางครั้งไม่ใช่เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน อย่างเช่นลักษณะของขั้นทาน แต่ว่าในสภาพของจิต เราไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันเป็นกุศล

        สุ. เรายังไม่ได้รู้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นนามธรรม ความรู้ต้องตามลำดับ

        ผู้ถาม แต่ว่าลักษณะของสติ เวลาเกิดขึ้นจะต้องเกิดร่วมกับจิต

        สุ. จิตที่หลากหลายเป็นประเภทต่างๆ เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่หมายความว่าให้เราไปรู้ลักษณะของเจตสิกทั้งหมด หรือแม้แต่บางประเภทที่เกิดกับจิต เพราะเหตุว่าแม้จะกล่าวคำว่าจิตต่างกับเจตสิก แต่ขณะนี้กำลังรู้ลักษณะของธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าเป็นการรู้ลักษณะอื่นซึ่งไม่ใช่จิตแต่เป็นนามธรรม นี่ก็เป็นสิ่งที่เวลาที่มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

        ขั้นต้นคือรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด นี่ต่างกันแน่นอน แล้วขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่รู้ด้วยว่าสติเกิดที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่จิตก่อนนั้นก็รู้ เช่น แข็ง จิตที่รู้แข็งเป็นปกติเลยใช่ไหม กายวิญญาณมีกายปสาทกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ก็ทำให้จิตที่รู้สิ่งที่กระทบนั้นว่าลักษณะนั้นแข็งหรือว่าอ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่ปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่รู้ตรงลักษณะหนึ่งซึ่งต่างกับลักษณะอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะใช้คำว่าอ่อนหรือแข็ง เราใช้คำพูดของสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏได้ทางกาย แต่ลักษณะที่อ่อนจริงๆ แค่ไหน เมื่อไหร่เราไม่สามารถที่จะบอกได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยว่าขณะนั้นมีลักษณะนั้นเกิดแล้วก็จิตกำลังรู้ลักษณะที่อ่อนระดับไหน หรือว่าแข็งระดับไหนซึ่งก็เป็นลักษณะที่ต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งไม่ว่าจะเป็นระดับไหนทั้งสิ้น หยาบหรือละเอียด ก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏได้ทางกายเป็นธรรมดา หลงลืมสติเพราะไม่รู้ในลักษณะซึ่งเป็นธรรมอย่างนั้น แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนลักษณะนั้นเลย แต่ขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่ได้รู้ด้วยความเข้าใจในลักษณะที่เป็นธรรม

        เพราะฉะนั้นจึงเริ่มที่จะรู้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ และขณะไหนสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิด หรือแม้แต่บัญญัติกับปรมัตถ์ เราก็รู้ว่าต่างกันใช่ไหม ปรมัตถ์หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้เลย จะเรียกชื่ออะไรก็ตามแต่ ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะนั้นนี่คือปรมัตถ์ ส่วนบัญญัติก็คือเป็นการรู้เรื่องจำรูปร่างสัณฐาน และก็เป็นคำ เป็นเรื่องราวต่างๆ แม้ขณะนี้ที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ ขณะไหนเป็นบัญญัติ ก็เพราะสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221


    หมายเลข 11040
    25 ม.ค. 2567