ไม่มีเราจะไปคิดดีหรือคิดร้าย


        ผู้ถาม สติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิต เจตสิก หรือรูปในขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าสติจะระลึกในลักษณะอะไรใช่ไหม แล้วแต่อะไรปรากฏ

        สุ. ถูกต้อง เพราะว่าเป็นอนัตตา

        ผู้ถาม เจตสิกที่หยาบกระด้างก็จะพอรู้ได้ รู้แบบตัวตน แต่พอกล่าวถึงจิตก็จะไม่ค่อยเข้าใจว่าปัญญาเขารู้อะไร หมายถึงสติสัมปชัญญะจะระลึกอะไร ไม่เข้าใจว่าเป็นยังไง

        สุ. เพราะไม่ปรากฏอย่างรูปใช่ไหม หรือไม่ปรากฏอย่างเจตสิกอื่นๆ เพราะว่าเป็นธาตุรู้ ไม่มีรูปใดๆ เลย แต่เมื่อธาตุนี้เกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ นั่นคือหน้าที่ และลักษณะของจิต ถ้ารู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมอย่างจิตอย่างนี้

        ผู้ถาม ตรงลักษณะที่เป็นนามรูปปริเฉทญาณ จะรู้จิตก็ได้ เจตสิกก็ได้

        สุ. แน่นอน ไม่มีการเลือกเลย จะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วแต่ความพร้อมปรุงแต่งให้เกิดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

        ผู้ถาม ก็คงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจที่ปัญญาจะรู้ว่าลักษณะนี้เป็นลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

        สุ. ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เขาก็เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งเอง ไม่มีเราต่างหากที่ไปนั่งปรุงเตรียมพร้อม

        ผู้ถาม อย่างที่คุณศุภัสสรได้กล่าวถึงลักษณะของจิตที่เป็นสภาพรู้ซึ่งรู้ยาก ดิฉันก็เคยพยายามที่จะเข้าใจ ขณะที่คิด ท่านอาจารย์ก็บอกว่าต้องมีจิตแล้วที่คิด แต่เราก็ไม่เข้าใจลักษณะตรงนั้นๆ หรือเปล่าที่เป็นจิตที่คิด

        สุ. ต้องรู้ความต่างของขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิดกับขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดจึงไม่ใช่ตัวเราที่พยายามๆ จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

        ผู้ถาม ไม่ได้ ไม่มีทางเลย ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีความสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตได้เลย

        สุ. เพราะฉะนั้นการฟังที่กำลังเข้าใจเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ มีแต่ความเป็นเรา มีแต่ความต้องการ สติปัฏฐานจะเกิดไม่ได้เลย

        ผู้ถาม เพราะฉะนั้นตรงนี้เห็นความสำคัญของสติที่จะเกิดระลึกรู้ เพราะทำอะไรไม่ได้จริงๆ เลย ดิฉันมักลืมอยู่เสมอ อยากจะรู้อยู่เรื่อย พยายามที่จะหาหนทางที่จะเข้าใจ

        สุ. ความเป็นตัวตนลึกแค่ไหน เห็นไหม อาจจะค่อยๆ ละ

        ผู้ถาม ตรงนี้ก็ทราบแล้ว เดี๋ยวก็ลืมอีก อยากจะรู้อีกแล้ว ก็ไม่ได้อีก ก็อยากจะกล่าวถึงเรื่องการปรุงแต่งที่ว่าสังขารขันธ์ เท่าที่ทราบจิตเกิดก็ต้องมีเจตสิกประกอบด้วย แต่การเห็นก็ต้องมีเจตสิกประกอบด้วยแล้ว ๗ ดวง เพราะฉะนั้นเราต้องกล่าวว่าสังขารขันธ์ คือเจตสิกก็ต้องเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว

        สุ. สังขารธรรมหรือสังขารขันธ์

        ผู้ถาม สังขารขันธ์

        สุ. เจตสิก ๕๐

        ผู้ถาม ก็ต้องเกิดอยู่แล้ว ทีนี้พอเวลาที่บอกว่าฟังแล้วเดี๋ยวมีการปรุงแต่ง มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเกิดอยู่ตลอดอยู่แล้ว

        สุ. ต้องไม่ลืม “สังขารธรรม” กับ “สังขตธรรม” สังขารธรรมคือธรรมที่มีสังขารปรุงแต่ง สังขตธรรมคือปรุงแต่งแล้วเกิด เช่นขณะเห็น ปรุงแต่งแล้วเกิดคือเจตสิก ๗ ดวงเกิดพร้อมจิต ปรุงแต่งจิตในขณะที่เกิด

        ผู้ถาม ก็หมายความว่ามีการปรุงแต่งอยู่ตลอดแล้ว แม้แต่การเห็นหรือถ้าคิดนึก

        สุ. ไม่มีเราอีกต่างหากที่จะไปปรุงแต่งอะไรเลย

        ผู้ถาม อย่างนี้ยิ่งชัดเจนใหญ่เลยที่จะไม่มีเราจะไปคิดดีหรือคิดร้าย ตรงนี้ก็กล่าวได้เลยว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งเอง ไม่มีเรา

        สุ. มีใครเตรียมคิดไหมว่าจะคิดอะไร เตรียมได้ไหม ไม่มีทางเลย ขณะที่เตรียมคือคิดแล้ว ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้นแล้ว

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193


    หมายเลข 10435
    25 ม.ค. 2567